วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ครอบครัวไทยในวิกฤตโควิด -19

On July 25, 2022

โครงการสุขภาพคนไทย ปี 2565 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชื่อมร้อยเครือข่ายขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้นำเสนอเรื่องพิเศษประจำฉบับ ในประเด็น “ครอบครัวไทยในวิกฤตโควิด-19”  โดยบอกเล่าสถานการณ์และผลกระทบของโควิด-19 ในเชิงสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ที่มีต่อครอบครัวไทย วิถีชีวิตของคนจำนวนมากเปลี่ยนไป และต้องปรับตัวในวิกฤตยาวนานถึง 2 ปี ได้ถึงความเลื่อมล้ำของสังคมในแง่มุมต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ดังนี้  

การเกิดในยุคโควิด-19

หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศไทย จากข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-16 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 4,778 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 95 คน และพบว่ามีทารกติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 226 คน เละเสียชีวิตในครรภ์ 46 คน กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป พบว่าติดเชื้อมากที่สุด สาเหตุอาจจะมาจากสภาพร่างกายหรือสมาชิกออกไปทำงาน นอกบ้านแล้วนำเชื้อมาจากภายนอก นอกจากนี้การไม่ได้รับวัคซีนในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อระหว่างครรภ์จำนวนมาก  แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้หญิงตั้งครรภ์ต่อปี ให้ได้ 300,000 รายก็ตาม ปัญหาสำคัญอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลในระยะแรกที่ไม่ได้มุ่งเน้นการฉีดในหญิงตั้งครรภ์ แต่จะกระจายในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า  และมีประเด็นความกังวลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เช่น วัคซีนที่ควรฉีด วัคซีน mRNA หรือวัคซีนเชื้อตาย ฉีดแล้วจะปลอดภัยหรือไม่ ผลต่อเด็กเป็นอย่างไร ควรฉีดเมื่ออายุครรภ์เท่าไหร่ เป็นต้น

เด็กกำพร้าจากโควิด-19 ผลการสำรวจข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งแต่ 27 กรกฎาคม – 4 กันยายน 2564 พบว่ามีเด็กกำพร้าจากการที่พ่อแม่เสียชีวิต เพราะโควิด-19 จำนวน 369 คน พบว่า กำพร้าพ่อมากที่สุด 180 คน กำพร้าแม่ 151 คน กำพร้าทั้งพ่อและแม่ 3 คน และกำพร้าผู้ปกครอง 35 คน โดยในภาคใต้พบเด็กกำพร้ามากที่สุด 131 คน ร้อยละ 71.54 อยู่ในช่วงอายุ 6-18 ปี และร้อยละ 33.06 เป็นเด็กที่เรียนชั้นประถมศึกษา เด็กกำพร้าที่ยากจนอาจจะต้องหลุดจากระบบการศึกษานำไปสู่ความด้อยโอกาสและเผชิญความเสี่ยงในเรื่องอื่น ๆ ต่อไปในอนาคตจึงต้องบูรณาการช่วยเหลือให้เร็วที่สุด

โควิด-19 กับการชะลอการมีบุตร ของครอบครัวคนรุ่นใหม่  การศึกษาในประเทศไทยพบว่า โดยดเฉพาะเจนวาย (2523-2540) ไม่ต้องการมีลูก  และไม่ต้องการแต่งงานและต้องการเป็นโสดตลอดไป  ดังนั้นการที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ ในปี 2564 ลดลงต่ำกว่า 6 แสนคน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี 

ลูกและการเลี้ยงดู

การเรียนออนไลน์ จากการศึกษา พบว่านักเรียนจากครัวเรือนที่ยากจนในเขตเมือง ทั้งกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคใต้ มีแนวโน้มที่จะออกจากโรงเรียนกลางคันเพิ่มขึ้นมากที่สุด อันเนื่องมาจากผลรวมของต้นทุนค่าเสียโอกาสางการศึกษาที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ การสูญเสียการเรียนรู้จากการปิดโรงเรียน และการลดการเรียนในในแต่ละวิชาโดยปรับไปเรียนแบบผสมผสาน การเรียนออนไลน์มีผลกระทบหลักๆ คือ ความเครียด ไม่มีสมาธิในการเรียน  เรียนไม่รู้เรื่อง การบ้านเยอะ ฯลฯ นอกจากเด็กแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวไปพร้อมกับเด็กด้วย และต้องมีวิธีการสื่อสารเชิงบวก เพื่อมาให้บั่นทอนกำลังใจ และสร้างความกดดันหรือเพิ่มความเครียดให้เด็ก หากผู้ปกครองไม่เข้าใจสถานการณ์ มีความคาดหวังสูง จะทำให้เด็กต่อต้านและไม่อยากเรียน หรือกลายเป็นเด็กก้าวร้าว และมีปัญหาสุขภาพจิต

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) นำเสนอการสอนทักษะการเรียนรู้แบบออนไลน์ด้วยวิธีการเรียนรู้แบบ online support group ในระยะ 7 วัน เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพและลดความรุนแรงในครอบครัว พบว่าเด็กส่วนใหญ่มีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นถึงร้อยละ 73 การสื่อสารและรับฟังเด็กเชิงบวกและการให้คำชม จะทำให้เด็กรู้สึกยินดีการใช้องค์ความรู้ดังกล่าว ทำให้เด็กมีสมาธิในการเรียนออนไลน์มากขึ้นโดยไม่รู้สึกกดดันหรือถูกบังคับจากผู้ปกครอง เพราะมีตารางที่ชัดเจน

ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของเด็ก  เมื่อเด็กรู้สึกไม่มีความสุขหรือสนุกกับการเรียน จะส่งผลต่อวิธีคิด (mindset) หรือทัศนคติ มุมมองที่เด็กมีต่อการเรียนที่ต้องอยู่หน้าจอตลอดเวลา น่าเบื่อ โดนครูบ่น โดนแม่ตำหนิ  เหตุการณ์เหล่านี้จะค่อยๆ ทำลายวิธีคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้นี้เติบโต  กระทั่งอาจกลายเป็นปัญหาต่อการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต

องค์กรอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าควรขยับร่างกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 60 นาที ในขณะที่เด็กไทยทำได้เพียงร้อยละ 26 ในช่วงปกติ ส่วนช่วงที่มีการล็อกดาวน์เพราะโควิด-19 การเคลื่อนไหวร่างกายลดลงเหลือประมาณร้อยละ 17 ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการและสุขภาพของเด็ก อย่างไรก็ตามผู้ปกครองสามารถส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมทางกายที่บ้านได้โดยไม่ต้องออกไปข้างนอก

สภาพทางเศรษฐกิจและการทำมาหากินของครอบครัวยุคโควิด-19

รายได้ครัวเรือนที่ลดลงช่วงโควิด-19  จากรายงาน Social Impact Assessment of COVID-19 in Thailand –19 in Thailand ของสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย โดย Oxford Policy Management (OPM) เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ยังได้รายงานว่ารายได้ครัวเรือนไทยลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 11 และปรากฏว่าความยากจนในพื้นที่เขตเมืองสูงขึ้นร้อยละ 18 โดยที่กรุงเทพฯ ได้รับผลรุนแรงที่สุด และแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือแรงงานภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้ประจำหรือพนักงานประจำซึ่งมีความยากจนสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดประมาณร้อยละ 20

ครอบครัวเงินน้อย ออมน้อย หนี้ท่วม เงินออมซึ่งเป็นเสมือนลมหายใจสำรองของครอบครัว เมื่อรายได้ลดลงหรือหายไปอย่างฉับพลันและเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญประการหนึ่งของครอบครัวก็มีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง จากข้อมูลการสำรวจรายได้และการออมของครัวเรือนไทยปี 2562 จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า คนยิ่งจน ยิ่งมีความสามารถในการออมน้อย ในขณะเดียวกันยังมีขนาดครัวเรือน (จำนวนสมาชิกในครัวเรือน) ใหญ่กว่าคนรวย นอกจากนี้ ภาพรวมการออมของไทยในปี 2564 ก็มีแนวโน้มที่ลดลง โดยผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินออมของครัวเรือนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะสามารถดำรงชีวิตได้โดยไม่เดือดร้อนมากเป็นระยะเวลา 3 เดือน ขณะที่ต่างจังหวัดได้อีก 1 เดือน

การเยียวยาในภาครัฐ ได้แก่ ลดหย่อยการส่งเงินประกันสังคม 3 % การจ่ายเงินโครงการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย โครงการสินเชื่อ “เสริมพลังฐานราก” และการเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการ 9 สาขากิจการ ส่วนมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ  ได้แก่ มาตรการทางด้านการเงิน โครงการเที่ยวด้วยกัน และมาตรการสินเชื่อ

 ประเพณีวัฒนธรรมและครอบครัว

งานศพและการเผาศพยุคโควิด-19  พิธีฌาปนกิจ ที่มีแต่ความเงียบเหงา ว้าเหว่ ทั้งที่ประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลหลายวันก่อนการปลงศพตามความเชื่อของแต่ละศาสนา ส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อบรรเทาความเศร้าหมองของบรรดาผู้มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับผู้ตายเท่านั้น ส่วนเทศกาลและประเพณีก็จำกัดการรวมตัวของญาติพี่น้อง มีช่องทางออนไลน์เข้ามามีบทบาทในการช่วยให้เทศกาล ประเพณี  บางอย่างพอจะดำเนินต่อไปได้ แต่ต้องยอมรับว่าการขาดการปฏิสัมพันธ์และการรวมกลุ่มแบบพบตัว และสัมผัสทางกายภาพทำให้พลังทางสังคมอ่อนแรงลงไปอย่างมาก

สังคม ชุมชน กับครอบครัว ในสถานการณ์โควิด-19

ในความวิกฤตของสถานการณ์นั้น สังคมและชุมชนได้แสดงบทบาทในการให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินชีวิตของคนในครอบครัว ได้มีกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยากต่างๆ โดยไม่เป็นทางการ อาทิ  ชื่อของกลุ่ม “เส้นด้าย” “อีจัน” “มูลนิธิกระจกเงา”   และท้ายสุดคือ 6. วิกฤตการณ์น้ำท่วม ปลายปี 2564 : การซ้ำเติมต่อครอบครัวไทย

เราจะเห็นได้ว่า การดำเนินชีวิต ตั้งแต่การเกิด การศึกษา การทำมาหากิน จนถึงการตาย วิถีชีวิตของสมาชิกในครอบครัวตลอดจนประเพณีหลายอย่างที่ดำเนินสืบเนื่องต่อกันมาเป็นเวลานานมีอันต้องเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับ “บริบทโควิด-19”จากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ เห็นได้ว่า ความร่วมแรงร่วมใจ ของสมาชิกในครอบครัว และคนในสังคม ในการโอบอุ้ม ช่วยเหลือ แบ่งเบา และบรรเทาความทุกข์ยากซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการทำงานร่วมกันของภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานต่าง ๆ ในยามที่ประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤต รวมทั้งช่องโหว่ต่าง ๆ ที่ควรได้รับการแก้ไขเพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครอง ที่ดีขึ้น รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งที่น่าจับตามอง คือ คนรากหญ้าและกลุ่มเปาะบางต่าง ๆ มักเป็นด่านแรกที่ถูกจู่โจมเสมอ   และเป็นกลุ่มที่มีทุนในการป้องกันตัวเองน้อยที่สุดในสังคม  การวางแผนเชิงรุกเพื่อการระงับปัญหาที่เกิดมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า และการป้องกันปัญหาใหม่ที่วันนี้ส่งแค่เพียงสัญญาณอ่อนๆ ต้องอาศัยการขบคิดเชิงอนาคต การจัดสรรงบประมาณ กำลังคน เทคโนโลยี และการปรับโครงสร้างที่สอดคล้องกับบริบท การเปลี่ยนของสังคมไทยและสังคมโลก มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมไทย.     


You must be logged in to post a comment Login