วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ม.มหิดล ส่งต่อแนวคิด “ปรีชาญาณนคร” เพื่อสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์อย่างยั่งยืน

On August 3, 2022

ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีหลักฐานปรากฏชัดในหลักศิลาจารึกว่า บ้านเมืองมีความสุข ผู้คนมีอิสระเสรี เมื่อราษฎรเกิดความทุกข์ หรือขุ่นข้องหมองใจอะไร ก็จะหอบลูกจูงหลานมา “ลั่นกระดิ่ง” ที่พระองค์ทรงโปรดให้แขวนไว้หน้าวังได้ กระทั่งต่อมาได้เปลี่ยนจากการ “ลั่นกระดิ่ง” มาเป็นการ “ตีกลองร้องทุกข์” ซึ่งกลายเป็นสำนวนที่ใช้สำหรับการยื่นเรื่องถวายฎีกาจวบจนสมัยนี้

จากพื้นฐานการพัฒนาชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงตามพระราโชบายของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนบนที่สูง ให้ใกล้เคียงกับคนส่วนใหญ่ในประเทศ จนถึงปัจจุบันโลกหมุนไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและแข่งขัน “ไพร่ฟ้าหน้าใส” เปลี่ยนเป็นพลเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีสิทธิเสรีด้านการพัฒนาตนเองอย่างเท่าเทียม

ปัจจุบัน การดำเนินชีวิตต้องอาศัยความฉลาดและคุณธรรมในการอยู่รอด ปรับตัว พึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ หมดสมัยแล้วที่จะต้องคอยรอรับแต่การช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการพิสูจน์ตนเองว่ามีศักดิ์และสิทธิเช่นเดียวกับประชาชนชาวไทย

จึงเป็นที่มาของโครงการ “อีโคมิวเซียมดอยสี่ธาร” ที่ริเริ่มขึ้นโดย มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ปณิธาน “Wisdom of the land” ที่มีความหมายว่า “ปัญญาของแผ่นดิน” ด้วยการร่วมพัฒนาชุมชนบนที่สูงให้เกิดเป็น “แผ่นดินอุดมปัญญา” (Land of Wisdom)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษาผู้สอนหลักกลุ่มวิชาพิพิธภัณฑ์ศึกษา ซึ่งกำลังพัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตรใหม่ในระดับปริญญาโทของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่งได้รับการประกาศให้ได้รับทุนอุดหนุนโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคมจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2565 ในฐานะหัวหน้าโครงการ “นโยบายการพัฒนาปรีชาญาณนคร” ไปได้อย่างภาคภูมิเมื่อเร็วๆ นี้

ก่อนจะพัฒนามาเป็นโครงการ “ปรีชาญาณนคร” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ ได้ใช้เวลาและสั่งสมประสบการณ์นับทศวรรษ เพียรพยายามสร้าง “อีโคมิวเซียม” (Eco Museum) ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา และหัวหน้าโครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol Social Engagement) ให้เกิดขึ้นจนเป็นรูปเป็นร่าง

จากการนำนักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษาของสถาบัน RILCA มหาวิทยาลัยมหิดล ไปเรียนรู้วิถีชีวิต กินอยู่กับชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านแห่งนี้ ในรายวิชา “การฝึกปฏิบัติระเบียบวิธีวิจัยทางวัฒนธรรมศึกษา” เป็นเวลา 10 ปีจนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันกับชุมชนอย่างแน่นแฟ้นโครงการจึงได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการพัฒนาชุมชนชาติพันธุ์ ตามแนวทางอีโคมิวเซียม “พิพิธภัณฑนิเวศสถานดอยสี่ธาร”

 อีโคมิวเซียม หรือ “พิพิธภัณฑนิเวศสถานดอยสี่ธาร” มีวิสัยทัศน์เพื่อเป็น “ชานชาลาของการปริวรรตและสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของวัฒนธรรมปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง)” เพื่อให้ชาวไทยภูเขาปกาเกอะญอ ณ หมู่บ้านดอยสี่ธารตำบลสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้เชิงบูรณาการศาสตร์สากลกับภูมิปัญญาของตนเอง ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

“อีโคมิวเซียม” ได้รับการออกแบบขึ้นตามโจทย์ของพื้นที่ ซึ่งสามารถผันความงดงามของวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ สู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน และความภาคภูมิใจในพื้นถิ่น

ความงดงามที่คอยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะเวียนมาเยี่ยมเยือน ณ หมู่บ้านชาวไทยภูเขาปกาเกอะญอ “ดอยสี่ธาร” ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ไม่ขาด คือเสน่ห์ของโลกวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาปกาเก อะญอ ที่ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสอย่างครบรส ไม่ว่าจะเป็นการกิน การอยู่หรือการใช้ชีวิตในแบบชาวไทยภูเขาปกาเกอะญออย่างเข้าถึง

นอกจากจุดชมวิวที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้มาเยือนได้สูดอากาศสดชื่นเย็นสบายบนดอย พร้อมจิบกาแฟออร์แกนิคแท้ๆ ที่คั่วบด และชงเองกับมือ โดยชาวไทยภูเขาปกาเกอะญอตัวจริงแล้ว ยังจะได้สัมผัสกับกิจกรรมต่างๆ เพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวไทยภูเขาปกาเกอะญอที่หาชมและสัมผัสได้ยาก ซึ่งจัดขึ้นโดย “พิพิธภัณฑนิเวศสถานดอยสี่ธาร” อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย ได้ฝากผลงานการสร้างสรรค์และออกแบบพื้นที่ การจัดวางสิ่งจัดแสดง และกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจไว้มากมายภายในพิพิธภัณฑนิเวศสถานดอยสี่ธาร

ไม่ว่าจะเป็น “สวนเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ชาวชุมชนไทยภูเขาปกาเกอะญอ “ดอยสี่ธาร” ตำบลสันทราย อำเภอพร้าวจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมออกแบบในครอบครัว และดำเนินการจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนการฝึกให้ลูกหลานชาวไทยภูเขาปกาเกอะญอเป็น “มัคคุเทศก์รุ่นเยาว์” นำชมและทำกิจกรรมต่างๆ ที่จะสามารถตอบสนองประสาทสัมผัสทั้ง 6 ซึ่งได้แก่ ตา หู  จมูก ลิ้น กาย และ ใจ

ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกประทับใจมากที่สุด คือการได้มีประสบการณ์ร่วมลงมือทำด้วยตนเอง ได้แก่ การสาธิตให้ผู้มาเยือนได้ลองทำเครื่องดื่มทางวัฒนธรรม”spiritual drink” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของชาวไทยภูเขาปกาเกอะญอด้วยตนเองเป็นต้น

สิ่งสำคัญในงานอีโคมิวเซียมดอยสี่ธาร คือ กระบวนการพัฒนาชุมชนปกาเกอะญอ ด้วยฐานมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้กลับมามีสำนึกรักในวัฒนธรรมตนเองและสามารถหารายได้จากการสืบสานวัฒนธรรมอย่างมีพลวัต

ดังตัวอย่าง มึสะโตะพีพีพือพือ หรือ น้ำพริกสูตรคุณตาคุณยาย ข้าวดอย สร้อยปกาเกอะญอ และสิ่งหนึ่งซึ่งจะทำให้ผู้มาเยือนทุกคนกลับไปพร้อมรอยยิ้ม คือ การได้เป็นเจ้าของ”ย่ามกะวา” หรือย่ามใบใหญ่ย้อมสีธรรมชาติ จากเพื่อนชาวไทยภูเขาปกาเกอะญอ “ดอยสี่ธาร” ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีชื่อผู้ทอแปะไว้บนย่ามทุกใบทำให้ได้รู้สึกภาคภูมิใจ เหมือนได้ครอบครอง “สมบัติอันล้ำค่าที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก”

อีโคมิวเซียม “ดอยสี่ธาร” ตำบลสันทราย อำเภอพร้าวจังหวัดเชียงใหม่ ได้พิสูจน์แล้วถึงพลังของลูกหลานชาวไทยภูเขาปกาเกอะญอ ที่พร้อมสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

ทั้งนี้ ฐานคิด และกระบวนการทำงานจากโครงการอีโคมิวเซียมดอยสี่ธารนี้ เป็นแก่นสำคัญในการพัฒนาต่อยอดขับเคลื่อน โครงการนโยบายปรีชาญาณนคร ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในโรงเรียนชุมชนบางกอกน้อยกรุงเทพมหานคร ให้สามารถ เรียนเด่น เล่นดี มีรายได้พัฒนาทักษะการคิดอย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์ ที่มาจากฐานวัฒนธรรมภูมิปัญญาของชุมชนโดยรอบต่อไปได้

“ทันสมัย ใช้ประโยชน์ ตอบโจทย์ชีวิต” จึงเป็นบทสรุปสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาเพื่อการพึ่งพาอย่างยั่งยืนที่สามารถประยุกต์ใช้ในบริบทที่แตกต่างกันได้ สามารถขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคมต่อไป

มหาวิทยาลัยมหิดลโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ และคณะ จึงมุ่งมั่นสร้างให้มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ได้ร่วมสร้าง “แผ่นดินแห่งปัญญา” เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


You must be logged in to post a comment Login