วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ปลุกชีวิตให้หนังสือนิทาน ผ่านแอปพลิเคชั่น “Me Books” ตอบโจทย์พ่อแม่ยุคดิจิทัล

On August 16, 2022

หลายครั้งเราจะได้ยินว่า เด็กไม่ควรอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน ทางที่ดีเด็กควรจะได้รับการส่งเสริมจินตนนาการผ่านการเล่านิทานตั้งแต่อยู่ในท้อง แต่จะทำอย่างไรเมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จะดีหรือไม่ถ้ามีแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมหนังสือนิทานจากทั่วทุกมุมโลก และยังสามารถบันทึกเสียงของพ่อและแม่ที่เล่านิทานให้ลูกได้อีกด้วย

นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งในระดับสากลที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือ มีบุ๊คส์ มาเลเซีย พัฒนาแอปพลิเคชัน “Me Books” เปิดตัวนิทานออนไลน์  ปลุกหนังสือให้มีชีวิต พัฒนานวัตกรรมสุขภาพสู่ระดับนานาชาติ

ตั้งเป้าปี 65 เด็กไทย 100,000 คนเข้าถึงแอปฯ ME Books

“จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนาน สร้างผลกระทบโดยตรงกับเด็กไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องภาวะการเรียนรู้ของเด็กถดถอย เด็กกว่า 4 ล้านคน และในวันนี้โลกแห่งการเรียนรู้ได้เปลี่ยนไป” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าว

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า หนังสือมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเรียนรู้ ดังนั้นการอ่านหนังสือจะเกิดการเรียนรู้ของเด็ก ที่ผ่านมา สสส.อุทิศตัวเพื่อการเรียนรู้ของเยาวชนส่งเสริมให้มีสุขภาวะที่ดี โดยศูนย์กิจการสร้างสุข (SOOK Enterprise) ร่วมกับ บริษัท มีบุ๊คส์ จำกัด ประเทศมาเลเซีย พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชัน “Me Books” ภายใต้แนวคิดปลุกหนังสือให้มีชีวิต เครื่องมือเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาวะ ผ่านนิทานออนไลน์ 4 ภาษา ให้มีความน่าสนใจและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กอย่างเป็นระบบ มุ่งเป้าให้เด็กไทยเข้าร่วม 100,000 คน ภายในปี 2565

“พบว่า เด็กไทยมีหนังสือไม่เกิน 3 เล่มต่อครัวเรือน และในปัจจุบัน E book มีราคาถูก ดังนั้น สสส.ได้เปิดกว้างสร้างความร่วมกับมือกับภาครัฐ เอกชน เช่น กระทรวงศึกษา TK PARK และต่างประเทศ ขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะไปสู่วงกว้างได้อย่างยั่งยืน สนใจเข้าร่วมพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาพได้ที่เว็บไซต์ www.sooklife.com”

ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน “Me Books” มุ่งเป้าพัฒนาสติปัญญา บุคลิกภาพ และความฉลาดทางอารมณ์ ลดช่องว่างในการสื่อสารระหว่างคนในครอบครัว พร้อมเป็นช่องทางเสริมสร้างการเรียนรู้และเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนงานสุขภาวะในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในลักษณะ Startup ที่มีความคล่องตัว สร้างสรรค์ ใช้โครงสร้างทางธุรกิจแบบเต็มตัว

นิทาน 4 ภาษา มีให้เลือกมากว่า 450 เรื่อง

นายเฮา จิน ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน Me Books กล่าวว่า แอปฯ Me books ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็ก กับผู้ปกครอง ครู บรรณารักษ์ นักเล่านิทาน ด้วยระบบการสร้างพัฒนาการเด็กแบบขั้นบันได ตั้งแต่การอ่าน ฟัง พูดออกเสียง พร้อมตอบโต้โดยการสัมผัสผ่านหนังสือที่มีชื่อเสียงระดับโลกกว่า 450 เรื่อง รวมถึงหนังสือคุณภาพของ SOOK Enterprise สสส. และมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งมาในรูปแบบ 4 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน และมลายู ความพิเศษคือ เครื่องมืออัดเสียงเพื่อให้ผู้ดูแลเด็กสามารถใช้แอปฯ สร้างเรื่องราวใหม่ร่วมกับเด็กเสริมสร้างการเรียนรู้ทางภาษาได้ นอกจากนี้ แอปฯ เปิดกว้างให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมตลอดทั้งปี เช่น การประกวดแข่งขันเล่านิทาน (Voice-Over Storytelling) ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ได้ตั้งแต่วันนี้

“เด็กจะมีทักษะการอ่านที่ดี จะต้องมาจากกการเป็นผู้ฟังที่ดีมาก่อน ในแอปฯนี้หนังสือให้เลือกตามความเหมาะสมกับเด็กในแต่ละวัย และหากพ่อแม่ไม่มีเวลาสามาถบันทึกเสียงและเปิดให้ลูกฟังก่อนนอนได้”

ด้าน นางสาวภาสวรรณ สังฆสุบรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์กิจการสร้างสุข (Sook Enterprise) สสส. กล่าวว่า Sook Enterprise สสส. ดำเนินงานในบทบาทภาคธุรกิจ มุ่งขยายฐานผู้รับประโยชน์และต่อยอดองค์ความรู้สุขภาวะ พัฒนาองค์ความรู้ กระบวนการเรียนรู้ ผลิตภัณฑ์ และบริการให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในการมีสุขภาวะที่ดีและปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันของทุกคน มุ่งเป้าพัฒนากิจกรรมและโมเดลธุรกิจในรูปแบบการสร้างภาคีเครือข่ายทั่วโลก เพื่อส่งเสริมวิถีสุขภาพดี 4 มิติ กาย ใจ สังคม ปัญญา ผ่านเครื่องมือที่เข้าถึงได้โดยตรง

การอ่านนิทานมีความสำคัญช่วยส่งเสริมทักษะด้านต่างๆของเด็ก

ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ  กุมารแพทย์เฉพาะทางโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก หรือเจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ กล่าวว่า การอ่านเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง จะช่วยกระตุ้นสมองของเด็ก รวมถึงทักษะทางด้านต่างๆอีกมากมายรวมทั้งพฤติกรรม ทั้งนี้นิทานจะให้ประโยชน์ในเรื่องของภาษา การฟัง การอ่าน และภาพในหนังสือที่อยู่ในหัวเด็กคือการกระตุ้นจินตานาการและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ระบบดิจิทัลไม่มี

“การอ่านนิทานให้ลูกฟังเป็นกิจวัตรประจำวัน จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้ และเป็นช่วงเวลาที่ดีของครอบครัว ดีต่อใจ และทำให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา จึงอยากเชิญชวนให้พ่อแม่อ่านนิทานให้ลูกวันละ 10-15 นาทีก่อนนอน” ผศ.นพ.วรวุฒิ กล่าว

ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างแอปพลิเคชัน Me Books และ สสส. จึงถือเป็นการเปิดพื้นที่สื่อปลอดภัยให้พ่อ แม่ ผู้ดูแลเด็กเล็ก มีทางเลือกที่ถูกต้องในการเลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ซึ่งการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กจะเกิดขึ้นได้ดีที่สุด คือการใช้ภาษา อ่านนิทาน ถาม-ตอบกับผู้ปกครอง นอกจากจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน ยังสร้างกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่คนในครอบครัว

ด้าน นายกวี ตันจรารักษ์ ศิลปินนักร้อง คุณพ่อลูกแฝด กล่าวว่า การเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัลไม่สามารถเลี่ยงการใช้สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตในชีวิตประจำวันได้ แต่ต้องเลือกใช้วิธีการรับมือโดยผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม การเล่านิทานของ Sook Publishing สสส. ผ่านแอปพลิเคชัน Me Books ที่มีถึง 4 ภาษา ถือเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับเด็กตั้งแต่ปฐมวัย ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านความคิด การจดจำ การตอบโต้ และการเรียนรู้ที่ใช้ควบคู่กับวิถีชีวิตของครอบครัวในยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว


You must be logged in to post a comment Login