วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

สสส. จับมือ 101 เปิดตัวศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว

On August 23, 2022

สสส. จับมือ 101 เปิดตัวศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) เผย สถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2565 ชวนร่วมคิดตั้งหลักใหม่ ดัน นโยบายเด็กและครอบครัวไทย รับมือความท้าทาย 3 วิกฤต โควิด-19 – ความเหลื่อมล้ำ – สังคมการเมือง เพื่อสุขภาวะที่ดี  

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2565 ที่ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ร่วมกับศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank หรือ 101 PUB) จัดเสวนาสาธารณะ “เด็กและครอบครัวไทยใน 3 วิกฤต : รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2565” เปิดตัว ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว หรือ “คิด for คิดส์”

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า วัยเด็กเป็นต้นทางชีวิตแห่งการสร้างฐานทุนสุขภาพ จึงเป็นภารกิจของ สสส. ที่จะร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการสร้างสังคมที่เด็กรุ่นใหม่ให้มีโอกาสเติบโตอย่างมีคุณภาพ สุขภาวะ และใช้ศักยภาพในการขับเคลื่อนสังคมได้อย่างเต็มที่ การจัดตั้ง ‘คิด for คิดส์’ เป็นหมุดหมายสำคัญที่ สสส. ต้องการขับเคลื่อนงานเด็ก เยาวชน และครอบครัวสู่อนาคต บนฐานของความรู้ที่มีคุณภาพ ไม่แปลกแยกจากโลกใหม่ เน้นการทำงานความรู้และสื่อสารกับสังคม โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ทุกกลุ่ม และภาคีเครือข่ายของ สสส. ให้เข้ามาช่วยกันส่งเสียง ตั้งโจทย์ และทำงานร่วมกัน เพื่อจุดประกายและสร้างสังคมที่มีประโยชน์กับเด็กและเยาวชน

ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด ในฐานะหัวหน้าโครงการ “คิด for คิดส์” กล่าวว่า หน้าที่หลักของศูนย์แห่งนี้ คือการทำงานวิชาการเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้เกิดการเรียนรู้ ตั้งแต่การคิด – วิเคราะห์ – ติดตาม – วิจัย – ออกแบบนโยบายสาธารณะ รวมถึงการรวบรวมและจัดทำข้อมูลที่จำเป็น เช่น การสำรวจเยาวชนไทย (Youth Survey) ที่ ‘คิด for คิดส์’ ได้สำรวจเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ การเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ตลอดจนคุณค่าและทัศนคติทางสังคมของเยาวชนอายุ 15-25 ปี ประมาณ 20,000 คนทั่วประเทศ และเปิดฐานข้อมูลให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ต่อได้ทางเว็บไซต์ https://www.kidforkids.org/

“นโยบายเด็กและครอบครัว คืออนาคตของเด็กทั้งชีวิต คืออนาคตของสังคม จุดหมายปลายทางคือ การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพสูงสุด ตามเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือกเอง เราจะบรรลุจุดหมายนี้ได้ การเมืองต้องดี เป็นประชาธิปไตย เคารพสิทธิเสรีภาพและความหลากหลาย เศรษฐกิจต้องดี ไม่เหลื่อมล้ำ ระบบการศึกษาต้องดี กระบวนการนโยบายต้องดี เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมตลอดทาง ใช้ความรู้เป็นฐานสร้างการเปลี่ยนแปลง” ผศ.ปกป้อง กล่าว

นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB กล่าวว่า เดิมทีการพัฒนาเด็กไทยท่ามกลางโลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงเร็วเป็นงานที่ท้าทาย แต่เมื่อเด็กและครอบครัวไทยเผชิญกับ 3 วิกฤต 1.วิกฤตโควิด-19 2.วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา 3.วิกฤตสังคมการเมืองซ้ำเข้าไป ปัญหาก็ยิ่งหนักหน่วงและซับซ้อนขึ้นอีก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เปราะบางเป็นทุนเดิม วิกฤตเหล่านี้สร้างทั้ง ‘แผลสด’ ที่ส่งผลกระทบเฉพาะหน้า และรุนแรงมากจนกลายเป็น ‘แผลเป็น’ ที่ส่งผลกระทบระยะยาวไปตลอดชีวิตได้ หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง

นายวรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยและบริหารงานวิจัย 101 PUB กล่าวเพิ่มเติมว่า การปิดโรงเรียนผลักให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่โลกออนไลน์ โดยขาดฐานและทักษะที่จำเป็น ซึ่งผู้ปกครองและครูช่วยเหลือได้จำกัดเพราะผลสำรวจชี้ว่ามีทักษะดิจิทัลต่ำกว่าเด็ก นอกจากนั้น กว่า 70% ของครัวเรือนที่มีเยาวชน ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ หลายบ้านต้องเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว ส่วนด้านการมีส่วนร่วมทางการเมือง ผลสำรวจชี้ว่า เยาวชน 70% สนใจติดตามการเมืองค่อนข้างมากถึงมากที่สุด เกือบทั้งหมดยังเห็นว่าสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ทั้งการแสดงออกทางความคิดและการชุมนุมเป็นเรื่องสำคัญ

นางสาวเจณิตตา จันทวงษา นักวิจัยและบริหารงานวิจัย 101 PUB กล่าวถึงการนำเสนอ 7 แนวโน้มสำคัญสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวปี 2565 ประกอบด้วย 1.เด็กและเยาวชนเผชิญภาวะการเรียนรู้ถดถอย พัฒนาการหยุดชะงัก 2.เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 3.เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็น 4.เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้น 5.เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองแต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น 6.โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น 7.ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นรุนแรงขึ้น บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว โดยมีเป้าหมายสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งรับและทำนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“แม้เด็กจะไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่สุดจากการติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการรับมือโรคระบาดหลายด้าน เช่น ภาวะการเรียนรู้ถดถอย โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยจากการปิดสถานศึกษาที่กินเวลา 69 สัปดาห์ การหลุดออกจากระบบการศึกษา การสูญเสียบุคคลในครอบครัวจนกลายเป็นเด็กกำพร้า ขณะที่การทุ่มเททรัพยากรไปจัดการโควิด-19 ก็ทำให้แม่และเด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ซึ่งสะท้อนผ่านอัตราการฝากครรภ์และอัตราได้รับการดูแลสุขภาพก่อนคลอดที่ลดลงอย่างชัดเจนในช่วงโควิด” นางสาวเจณิตตา กล่าว


You must be logged in to post a comment Login