วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

นโยบาย “ลุงช่วยจ่าย 40%” ไม่สมควร

On August 23, 2022

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 23 ส.ค.  65)

รัฐบาลอ้างว่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงช่วยสนับสนุนค่าที่พัก 40% สำหรับการไปท่องเที่ยว และยังสนับสนุนค่าอาหารอีก 40% เช่นกันในยามไปเที่ยว  นโยบายเช่นนี้ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม 2565 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้ไปพักที่โฮมพุเตย โดยได้บ้านที่มีอ่างน้ำแร่ ราคา 4,000 บาท แต่ “ลุงจ่ายให้ 40%” เหลือเพียง 2,400 บาท อีก 1,600 บาท “ลุงจ่ายให้”  ดร.โสภณ จะได้นำเงินไปทำบุญร่วมกับเงินของตนเองต่อไป

การส่งเสริมให้คนมีศักยภาพอยู่แล้วไปเที่ยว เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อคนมีฐานะ มีเงินพอสมควรที่จะออกเที่ยว โดยได้ถึง 40% ทำให้ข้าราชการ พนักงานบริษัท หรือผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชนได้ประโยชน์ แต่ประชาชนคนเล็กคนน้อยที่อย่าว่าแต่เที่ยวเลย อาหารการกินยังไม่พอ ประชาชนหาเช้ากินค่ำคงไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนแต่อย่างใด  การ “กู้มาแจก” แบบนี้ น่าจะเป็นการทำลายชาติมากกว่าช่วยชาติ

บางคนอาจอ้างว่า จะได้ช่วยนายทุนเจ้าของโรงแรมบ้าง ที่สำคัญก็อ้างว่าจะได้ช่วยคนทำงานโรงแรม ซึ่งก็มีผู้มีรายได้น้อยทำงานอยู่เช่นกัน ได้ประโยชน์บ้าง แต่คิดให้ชัดๆ ได้ว่า

1. ค่าที่พักก้อนใหญ่ 40% เช่น ห้องละ 4,000 บาท เป็นเงิน 1,600 บาท คนเที่ยวได้ประโยชน์ เจ้าของโรงแรมและคนงานไม่ได้ด้วย

2. ที่เหลืออีก 60% (2,400 บาท) เจ้าของโรงแรมคงได้ประโยชน์ไปเป็นสำคัญ (เจ้าของบางรายอาจยังต้องใช้หนี้ธนาคาร ธนาคารก็ได้ประโยชน์)  ที่ตกมาเป็นค่าอาหารเช้า (บางแห่งก็ไม่มีหรือไม่รวม) ค่าพนักงาน ก็คงราว 40% ของ 60% หรือเป็นเงิน 960 บาท

3. ยิ่งถ้าเป็นพนักงานระดับล่างในโรงแรม ก็คงได้แค่ “เศษเงิน”

ดังนั้นนโยบายนี้จึงมุ่งเอื้อคนที่ได้เปรียบในสังคมอยู่แล้ว มีเวลาไปเที่ยว ได้ประโยชน์กันไป  อันที่จริงคนจะไปเที่ยว เขาก็ไปกันอยู่แล้ว ยิ่ง “อั้น” กันมานาน ช่วงหลังโควิดนี้ ก็ยิ่งออกไปเที่ยวกันใหญ่เลย ไม่จำเป็นต้องสนับสนุนด้วยซ้ำไป  การไป “กู้มาแจก” จึงถือว่าเป็นนโยบายที่ผิดมหันต์เป็นอย่างยิ่ง

ยิ่งกว่านั้นในบางโรงแรม ก็อาจ “อัพ” ราคาหรือตั้งราคาแบบ “ลิงหลอกเจ้า” ไว้ เช่น ปกติราคา 2,000 บาท ก็ตั้งเป็น 3,000 บาท เลยอาจได้ทั้งสองต่อ ต่อหนึ่งจาก “ลุงจ่ายให้” และอีกต่อหนึ่งจากการ “อัพ” ราคานั่นเอง  อย่างไรก็ตามในกรณีโฮมพุเตย ที่ ดร.โสภณ ไปพัก ไม่ได้ทำอย่างนี้

ในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เราควรมุ่งช่วยประชาชนคนเล็กคนน้อยให้สามารถอยู่ได้เป็นสำคัญ เช่น ในช่วงหนึ่งรัฐบาลมีนโยบายจำนำข้าวเพื่อช่วยชาวนาที่เป็นประชาชนในระดับฐานราก เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ แต่หลังรัฐประหาร ราคาข้าวตกต่ำเป็นอย่างมาก (แต่ปัจจุบันราคาข้าวเพิ่มขึ้นแล้วตามความต้องการของตลาดโลก ยกเว้นในช่วงล่าสุด ที่ราคาแกว่งขึ้นๆ ลงๆ ไปบ้าง)

สำหรับนโยบายอื่นๆ ที่ควรมี ก็เช่น

1. การช่วยผู้สูงวัยที่มีรายได้น้อย (ไม่ใช่แบบเหวี่ยงแห) โดยให้แบบ “พอยังชีพ” ไม่ใช่ให้น้อยมากแบบ “ให้ขอทาน”

2. รัฐบาลยังควรสนับสนุนค่าเดินทางรถประจำทาง หรือรถไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายเพื่อการเดินทางน้อยลง ทำให้มีราย “เหลือ” มากขึ้น ในปัจจุบัน ประชาชนต้องเดินทางด้วยต้นทุนที่สูงมากขึ้น

3. นอกจากนี้รัฐบาลก็ควรส่งเสริม SMEs ให้มากกว่านี้ แทนที่จะส่งเสริมกิจการขนาดใหญ่  แต่ที่ผ่านมารัฐบาลก็ช่วยเช่นกัน แต่ช่วยในจำนวนเงินที่น้อยเกินว่าที่จะ “เยียวยา” ใดๆ ได้ เป็นต้น

แก้ปัญหาผิดๆ รังแต่จะสร้างปัญหาให้มากขึ้น กลายเป็น ลิงแก้แห


You must be logged in to post a comment Login