วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

NIA ผนึกอาเซียนและพันธมิตร จัดประชุม SEASA 2022 เปิดเมืองเชื่อมโลก สร้างเครือข่ายให้สตาร์ทอัพ

On August 28, 2022

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุม Southeast Asia Startup Assembly 2022 หรือ SEASA 2022 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งระหว่างสตาร์ทอัพ หน่วยงานภาครัฐ และนักลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) และประเทศพันธมิตร ภายใต้ธีม “บทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมสตาร์ทอัพยุคหลังโควิด-19”

โดยปีนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐด้านการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพจากประเทศสมาชิกอาเซียนและพันธมิตรเข้าร่วมการประชุมทั้งหมด 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม จีน อินเดีย และไทย ซึ่งได้นำเสนอบทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมสตาร์ทอัพยุคหลังวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ด้านนโยบาย การส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศ และสถานการณ์ของสตาร์ทอัพในปัจจุบัน

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต การทำงาน และการดำเนินธุรกิจไป ทั่วโลก แต่ในวิกฤตนั้นทำให้มองเห็นความท้าทายที่จะสร้างให้เกิดโอกาสใหม่ให้กับประเทศไทย ซึ่งนวัตกรรมการคาดการณ์อนาคต และการปรับตัว เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บริษัทต่างๆ ก้าวข้ามความท้าทายและเติบโตต่อไปได้ในยุคหลังโควิด-19 รวมถึงการรับมือกับการปฏิรูปอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ที่ระบบเศรษฐกิจของโลกกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล รัฐบาลจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนส่งเสริมเทคโนโลยีเชิงลึก และสินทรัพย์ที่มีคุณค่าอย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เทคโนโลยี วัตถุดิบขั้นสูง และการผลิต”

“เราควรใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแต่ละประเทศเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งโดยรวมของระบบนิเวศ ดังนั้น งาน SEASA จึงเป็นการเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับนโยบาย สถานการณ์ปัจจุบัน และความท้าทายที่ทุกคนกำลังเผชิญ โดยความร่วมมือระดับนานาชาตินี้จะช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพให้สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาเลวร้ายไปสู่อนาคตที่สดใสร่วมกัน”

ภายในงานผู้แทนของแต่ละประเทศได้นำเสนอ “บทบาทของรัฐบาลในการส่งเสริมสตาร์ทอัพในยุคหลังโควิด-19” โดยเน้นประเด็นด้านนโยบาย การส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศ และสถานการณ์ของสตาร์ทอัพในปัจจุบัน เพื่อรักษาความร่วมมือที่แข็งแกร่งของระบบนิเวศสตาร์ทอัพอาเซียน และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและนวัตกรรมระหว่างประเทศในอาเซียนและประเทศพันธมิตร ซึ่งเห็นได้ว่าแต่ละประเทศมีนโยบายที่คล้ายคลึงกันเพื่อรองรับการสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

  • การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เร่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเร่งให้ผู้คนปรับพฤติกรรมและยอมรับสังคมไร้เงินสด โดยตอนนี้ 90% ของประชากรในบรูไนมีความคุ้นชินและเปิดรับกับรหัส QR อย่างสมบูรณ์ เช่น e-wallets และการทำธุรกรรมเงินสด อีกทั้งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาบรูไนมีการเปิดแผนงานนวัตกรรมบรูไน เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการสร้างขีดความสามารถให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ส่วนประเทศอินเดียมีโมเดล India Stack เพื่อรองรับการขยายตลาดผ่าน eKYC และการเตรียมความพร้อมของลูกค้า ทำให้ประชากรสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังได้พัฒนาและเปิดตัว UPI เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการชำระเงินดิจิทัล ในขณะที่ประเทศไทยพยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการเข้าถึง เพื่อสร้างโอกาสสำหรับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีทั้งของไทยและต่างประเทศ ภายใต้โครงการ Thailand 4.0 และรัฐบาลมาเลเซียกำลังทำงานบน 3 เสาหลักเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ ความสามารถด้านดิจิทัล ธุรกิจดิจิทัล และการลงทุนดิจิทัล
  • ระบบนิเวศนวัตกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น NIA จึงได้สร้าง Global Startup Hub ขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีสำนักงานในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับสตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่มาเลเซียได้สร้างคอมมูนิตี้สตาร์ทอัพและสนับสนุนด้านช่องทางการตลาด โดยรัฐบาลได้เปิดตัว Malaysia Digital Hub Initiatives ที่มีสตาร์ทอัพกว่า 400 รายมาเข้าร่วม เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ ส่วนรัฐบาลเวียดนามกำลังพัฒนานโยบายแซนด์บอกซ์ เพื่อให้ทุนแก่สตาร์ทอัพโดยตรง มีการเร่งสร้างสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ จัดตั้งระเบียงนวัตกรรม และเสริมความแข็งแกร่งของเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (IP) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยและสตาร์ทอัพนำเทคโนโลยีและการวิจัยมาสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น
  • ในแง่ของการลงทุนจากต่างประเทศ การระบาดใหญ่ทำให้สายการบินส่วนใหญ่ต้องหยุดดำเนินการ ยากแก่การดึงดูดสตาร์ทอัพจากต่างประเทศให้ขยายหรือจัดตั้งในต่างประเทศ ดังนั้น จีนจึงได้จัดตั้งศูนย์ Chinese Academy of Sciences (CAS) ขึ้นในต่างประเทศ รวมทั้งในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและนักลงทุนในท้องถิ่นเพื่อดึงดูดสตาร์ทอัพชาวจีนเข้ามาในประเทศไทยโดยเน้นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียได้ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติด้วยวีซ่า 1-5 ปีสำหรับสตาร์ทอัพต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในมาเลเซีย”

นอกจากการแลกเปลี่ยนของผู้แทนแต่ละประเทศแล้ว ในงานก็ยังได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์จากสตาร์ทอัพที่ช่วยเปลี่ยนการใช้ชีวิตของคนไทยให้สมาร์ทขึ้น ได้แก่ “Seekster” แพลตฟอร์มรวมแม่บ้าน-สารพัดช่าง “Nasket” แพลตฟอร์มสินค้าและบริการสำหรับคนเมือง “NoBitter” แพลตฟอร์มสั่งผักสลัดคุณภาพจากฟาร์มถึงหน้าบ้าน และ “Happy Grocers” แพลตฟอร์มขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ส่งตรงจากเกษตรกร” ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างดี


You must be logged in to post a comment Login