วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

มส.ผส.- วช. เปิดผลวิจัยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทย

On August 30, 2022

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานเปิดคลังความรู้ มส.ผส. 2565 “การเตรียมความพร้อมรอบด้านในสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์สู่สังคมไทยที่มีสุขอย่างยั่งยืน” โดยมีการนำเสนอผลงานวิจัยและเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ เพื่อเตรียมรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทย เรื่อง “สังคมสูงวัยที่ยั่งยืนภายใต้วิถีชีวิตใหม่” เกิดเป็นชุดงานวิจัยและกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมเชิงนโยบายผ่านกระบวนการ Policy Dialogue Process จำนวนทั้งหมด 18 เรื่อง

ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) กล่าวว่า มส.ผส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ดำเนินการศึกษาและวิจัยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย ทั้งเชิงสถานการณ์และหาช่องว่างทางความรู้ในการพัฒนานโยบายของประเทศให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 มุ่งสู่ Active & Productive Ageing ตลอดจนนำองค์ความรู้ปรับใช้ และผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายสู่องค์กรหลักที่เกี่ยวข้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เพื่อให้ผู้สูงอายุไทยสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างเต็มศักยภาพ โดยมีเป้าหมาย 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การมีที่อยู่อาศัยและการได้รับบริการที่เหมาะสมโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีเศรษฐานะยากจนและเป็นกลุ่มเปราะบาง 2. ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและการมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดํารงชีพอย่างมีคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ 3. การพัฒนาโครงสร้างและนโยบายของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในชุมชน และ 4. พัฒนาระบบข้อมูลและตัวชี้วัดสําหรับประเมินศักยภาพ ภาวะพฤฒิพลัง และความต้องการด้านบริการสุขภาพ และบริการทางสังคมสําหรับผู้สูงอายุ

ดร.นพ.ภูษิต กล่าวต่อว่า ข้อค้นพบที่สำคัญในการศึกษาวิจัย อาทิ ประเด็นที่อยู่อาศัยและการได้รับบริการที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงอายุที่มีเศรษฐานะยากจนและเป็นกลุ่มเปราะบาง ควรมีการจัดบริการทางสังคม (social service) ที่เหมาะสมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสังคม โดยเป็นภารกิจหลักของหน่วยงานในระดับพื้นที่ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในแต่ละพื้นที่ ร่วมกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม NGOs วัด โรงเรียน โรงพยาบาล นอกจากนี้ควรจัดบริการให้ความรู้เรื่องสุขภาพ (health literacy) รวมทั้งการเตรียมพร้อมและการเข้าถึงบริการทางสังคมเพื่อการสูงวัยอย่างมีพลัง และการประเมิน/ติดตาม การใช้ประโยชน์จากเครื่องมือประเมินความมีชีวิตชีวาของผู้สูงอายุ (ดัชนีพฤฒพลัง) และขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ดร.นพ.ภูษิต กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจคือ โครงการวิจัยการวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลังแหล่งรายได้และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบํานาญแห่งชาติ โดยคํานึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ ของ ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย และ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ควรปฏิรูประบบบํานาญและการจ่ายเบี้ยยังชีพที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย เสนอให้มีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า ซึ่งมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เดือนละ 3,000 บาท และออกแบบระบบบํานาญแห่งชาติ สามารถพัฒนาไปได้ถึงระดับมัธยฐานของการครองชีพสําหรับครัวเรือนไทยที่ 6,000 บาท/เดือน


You must be logged in to post a comment Login