วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อย่าเข้าใจผิดว่าอำนาจเผด็จการทำให้ชาติเจริญ

On September 20, 2022

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย              

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 20 ก.ย.  65)

อย่าเข้าใจผิดว่าในยุคเผด็จการ ได้มีการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อประเทศชาติ มากอสไม่ได้สร้างนครหลวงเกซอน และย่านธุรกิจมาคาติ ทรราชซูฮาร์โตก็แค่พัฒนาตามพันธกิจเดิมที่เคยวางไว้

ผมเคยไปสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงมะนิลามา  และเคยสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงจาการ์ตา  ผมไปสำรวจที่กรุงมะนิลาและไปบรรยายที่นั่นมาหลายรอบ  รวมทั้งที่กรุงจาการ์ตาที่ผมเคยไปทำงานให้กับธนาคารโลกในโครงการสาธารณูปโภค และในโครงการที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย  จึงขออนุญาตแบ่งปันข้อเท็จจริงเชิงเปรียบเทียบกับไทยเรา

เกซอนซิตี้

ที่ฟิลิปปินส์ เขาเคยสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่แทนที่กรุงมะนิลามาแล้ว ชื่อว่า “เกซอนซิตี้” (Quezon City) โดยเป็นนครหลวงในช่วงปี 2491-2516  มีการก่อสร้างอาคารรัฐสภา  กระทรวงและสำนักงานของทางราชการส่วนกลางทั้งหลายมาตั้งอยู่รวมกันในนครหลวงแห่งใหม่นี้  ทั้งนี้สาเหตุที่ย้ายเมืองหลวงเพราะกรุงมะนิลา “เน่า” เต็มทน  ผู้บริหารจึงรู้สึกว่า “เกินเยียวยา”  สร้างใหม่ดีกว่า  ไทยเราก็ทำศูนย์ราชการ เช่นที่แจ้งวัฒนะ แต่ก็ทำได้ “โหลยโท่ย” จริง ๆ เพราะพื้นที่ก็เล็ก สร้างก็จำกัด ดูเหมือนไม่ได้มีการรวมศูนย์ราชการจริง ๆ เลย

อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ผิดพลาดเป็นอย่างมาก เพราะปรากฏว่าในภายหลังทั้งกรุงมะนิลาและกรุงเกซอนซิตี้กลับเชื่อมต่อกันเพราะห่างกันเพียง 17 กิโลเมตรเท่านั้น  ภายหลังเกซอนซิตี้จึงกลายเป็นเพียงเทศบาลหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของ Metro Manila หรือ “กรุงมะนิลาและปริมณฑล”  ข้อนี้เป็นการชี้ชัดอย่างหนึ่งว่า การย้าย/สร้างเมืองหลวงใหม่ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  เราอาจย้ายศูนย์ราชการออกไปได้  แต่ก็อยู่แบบค่อนข้างโดดเดี่ยว เช่น กรุงวอชิงตัน กรุงแคนเบอรา กรุงบราซิเลีย หรือกรุงเนปยีดอ เป็นต้น  แต่เมืองหลวงทางเศรษฐกิจยังอยู่ยั้งยืนยงอยู่ที่เดิม เช่น ย่างกุ้ง นิวยอร์ก ซิดนีย์ เซาเปาโล เป็นต้น

คือหลายคนอาจเข้าใจว่าอดีต “กรุงเกซอนซิตี้” สร้างในสมัยมาร์กอส แต่ความจริงมาร์กอสมาเป็นประธานาธิบดีในปี 2508  จึงไม่ได้มีส่วนในการสร้างเมืองนี้ขึ้นมาแต่อย่างใด  เผด็จการไม่ได้มาสร้าง แต่มา “กิน”!  แต่มาร์กอสก็เป็นผู้ที่เลิกสถานะเมืองหลวงของเกซอนซิตี้  และให้มีสถานะเป็นเพียงเทศบาลหนึ่งในนครหลวงแห่งนี้  การมีเทศบาลหลายแห่งใน “กรุงมะนิลาและปริมณฑล” นี้  ในแง่หนึ่งก็เป็นแง่ดีที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจ แต่ละเทศบาลดูแลปัญหาได้ใกล้ชิด  แต่ในด้านแง่ลบก็คือทำให้ขาดการประสานงานกัน

แต่ที่แน่ๆ สำหรับกรุงเทพมหานครก็คือ เราควรมีการเลือกตั้งผู้อำนวยการเขต หรือแม้แต่หัวหน้าฝ่ายการศึกษา ฝ่ายเทศกิจ ฯลฯ ก็ควรให้มีการเลือกตั้ง  ให้ข้าราชการเป็นแค่มือไม้หรือเครื่องมือสนองนโยบายของผู้แทนของประชาชน  และควรให้มีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ในอาเซียนมีเพียงไทย บรูไนและเมียนมาร์ที่ไม่มีภาษีนี้) มาบริหารราชการให้สนองความต้องการของประชาชนจริงๆ

มาคาติ

ฟิลิปปินส์มีหลายสิ่งที่เจริญกว่าไทย เช่น เขาเคยจัดแข่งชกมวยชิงแชมป์โลกระหว่างโจ ฟราเซียกับโมฮัมหมัด อาลี ที่เกซอนซิตี้เมื่อปี 2518 มาแล้ว  นอกจากนี้ฟิลิปปินส์ยังมีย่านธุรกิจชั้นนำใจกลางเมืองชื่อว่าเมืองมาคาติ (Makati)  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรุงมะนิลา ถือเป็นศูนย์รวมสถาบันการเงิน ธุรกิจชั้นนำ อาคารสวยและสูงใหญ่มากมายที่สร้างและเจริญมาก่อนกรุงเทพมหานครเสียอีก  ในกรุงเทพมหานครของเราก็คงมีแต่ย่านสีลม สุรวงศ์ สาทร เป็นต้น  แต่ย่านสีลม หรือแม้แต่ย่านค้าปลีกเช่น สยาม-ชิดลม-เพลินจิต ก็เป็นย่านที่เกิดขึ้นเองตามยถากรรม ไม่ได้ผ่านการวางแผนอย่างเป็นกระบวนการเช่นในกรณีของมะนิลา

ย่านอะยาลา (Ayala) ในใจกลางเมืองมากาตีซึ่งเป็นเสมือนย่านวอลสตรีทหรือศูนย์กลางการเงินของนิวยอร์กนั้น แต่เดิมเป็นสนามบินเก่า  เขาไม่เอาไปทำสวนสาธารณะแบบที่เรากำลังรณรงค์ให้เอาที่รถไฟมักกะสันไปทำสวน (ทำไมไม่รณรงค์เอาที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารหรือที่ดินบรรทัดทองจุฬาฯ ไปทำสวนบ้างก็ไม่รู้)  มากาติจึงเป็นศูนย์รวมความเจริญ  อาคารขนาดใหญ่เช่นธนาคารกรุงเทพย่านสีลมที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2525 นั้น ในย่านมากาติ เขามีมาก่อนนับสิบปีแล้ว

            ย่านมากาติ มีการตัดถนนหนทาง วางผังเมืองอย่างสวยงาม  บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยจัดได้ว่าการวางผังเมืองที่นี่ได้ผลเป็นอย่างดี  ถ้าจะเดินเล่นในมะนิลาในยามวิกาล  มากาติถือเป็นย่านที่เดินได้  แต่ถ้าไปในเขตเทศบาลมะนิลาที่เป็นเมืองหลวงเก่า ก็ไม่สามารถเดินได้  พูดมาถึงตรงนี้หลายท่านอาจเข้าใจผิดว่ามาร์กอสเป็นผู้สร้างเมืองมากาติ แต่แท้จริงเขาพัฒนามาก่อนสมัยมาร์กอสแล้ว  แต่มากาติก็เป็นศูนย์รวมสำคัญของการเดินขบวนขับไล่มาร์กอส

จาการ์ตาหลังซูฮาร์โต

            จาการ์ตาเป็นอีกนครหลวงหนึ่งที่เคยเจริญยิ่งใหญ่กว่าเรามาก  แต่มาชะลอไปในช่วงประธานาธิบดีซูฮาร์โต  แต่อันที่จริงในยุคต้นของซูฮาร์โตก็มีการพัฒนาทางหลวงพิเศษขึ้นมากมายเช่นกัน แต่เป็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องมาจากยุคของซูการ์โนที่เป็นประธานาธิบดีคนแรก และเป็นคนที่ถูกซูฮาร์โตจับไปขังในเมืองโบโกร์ ซึ่งเป็นเมืองบริวารหนึ่งของกรุงจาการ์ตา และเสียชีวิตเนื่องจากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีเพียงพอ

ศูนย์ธุรกิจใหม่ของกรุงจาการ์ตา ณ ถนนนายพลสุเดอแมน (Jend. Sudirman) และ ถนนราซูนาซาอิด (H.R. Rasuna Said) ก็เติบโตขึ้นมาอย่างจริงจังหลังจากการโค่นอำนาจของจอมเผด็จการซูฮาร์โตหลังปี 2541 แล้ว  โดยเฉพาะในช่วง 7-8 ปีหลังมานี้ ราคาสำนักงานพุ่งสูงขึ้นสูงนับเท่าตัว  อันเป็นผลพวงจากการตื่นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ  อินโดนีเซียกลายเป็น “ยักษ์ที่เพิ่งตื่นจากหลับ” หลังจากสลบไสลไปหลายสิบปีภายใต้อำนาจเผด็จการซูฮาร์โตนั่นเอง

รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจโก วีโดโด (Joko Widodo) ซึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อ 9 กรกฎาคม ปีที่แล้ว กำลังคึกคักอย่างยิ่ง  การลงทุนไหลบ่าเข้าประเทศเป็นอย่างมาก  ส่วนในฟากประเทศฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3 ที่ครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2553 จากการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากเช่นกัน ก็ยังเป็นที่นิยมของประชาชน  แต่ขณะนี้มีข่าวว่าคนรอบข้างของท่านประธานาธิบดีอาจมีกลิ่นโกงโชยมาแล้ว  ซึ่งก็คงต้องดูกันต่อไป  แต่ที่แน่ๆ ก็คือประเทศมักจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน  ส่วนในยุคเผด็จการ ประเทศมักถดถอยเพราะการโกงโดยไร้การตรวจสอบนั่นเอง

ยุคเผด็จการคือยุคมืดที่ไม่มีการตรวจสอบและจบลงด้วยการโกงมหาศาล ทำร้ายชาติต่างหาก ในประวัติศาสตร์ไม่มีอัศวินม้าขาวไหนที่เหาะมาโดยไม่ได้รับฉันทามติของประชาชน  อย่าลืมประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าเรา ยังจัดเลือกตั้งได้โดยไม่หาว่าคนเขาถูกซื้อเสียง และไม่มีใครกล้าขัดขวาง


You must be logged in to post a comment Login