วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อิทธิพลของความเชื่อต่อวัฒนธรรม

On September 23, 2022

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่   23 ก.ย. 65)

จำได้แม่นว่าขณะเป็นนักศึกษาปีหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในเดือนเมษายน พ.ศ.2514  ระหว่างปิดภาคเรียน  ผมได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปทำงานค่ายอาสาพัฒนาของสมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิมเป็นครั้งแรกที่หมู่บ้านเจ๊ะเด็ง ต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส  ค่ายของสมาคมฯมีงานก่อสร้างถาวรวัตถุหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือการสร้างห้องส้วมสาธารณะสามห้องให้หมู่บ้าน

ปีต่อมา  เมื่อกลับไปสำรวจผลงานค่ายที่ทำไว้  เราพบว่าห้องส้วมที่สร้างไว้ยังคงใหม่เหมือนเดิม ไม่มีสิ่งบ่งบอกให้เห็นถึงการใช้งาน   ผมจึงนึกถึงคำบรรยายสรุปความเป็นอยู่ของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสซึ่งบอกว่าชาวบ้านที่นี่ไม่ใช้ส้วมเพราะถือว่าการขี้ทับกันเป็นบาป

ความเชื่อเช่นนี้เป็นความเชื่อของศาสนาฮินดูที่แผ่ขยายอิทธิพลฝังแน่นอยู่ในดินแดนอุษาคเนย์มาเป็นเวลานานหลายร้อยปีก่อนที่ศาสนาพุทธ ศาสนาคริส์และอิสลามจะมาถึง

แม้ชาวไทยเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะหันมารับนับถืออิสลามหลายร้อยปีแล้ว    แต่อิทธิพลความเชื่อของศาสนาฮินดูที่ฝังรากแน่นมานานยังคงตกค้างให้เห็นทั้งๆที่พฤติกรรมทางความเชื่อเช่นนี้ไม่มีอยู่ในคำสอนของอิสลาม หรือแม้แต่ในศาสนาพุทธและคริสต์

ในอินโดนีเซียทุกวันนี้ยังมีภาพคนนั่งถ่ายอุจจาระลงคลองให้เห็นเหมือนกับชาวอินเดียที่นั่งอุจจาระข้างถนนโดยหันหน้าเข้าหาผู้คนที่เดินผ่านไปมาอย่างไม่เคอะเขิน

ตอนไปทำงานค่ายอาสาพัฒนา  เราคิดว่าถาวรวัตถุจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนได้  แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิด  การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนต้องเปลี่ยนที่ความเชื่อซึ่งต้องใช้การศึกษาและเวลาควบคู่กัน   ตอนนี้ ผมคิดว่าสภาพดังกล่าวคงหมดไปจากท้องที่ชายแดนภาคใต้แล้ว

อย่างไรก็ตาม  ยังมีพิธีกรรมทางความเชื่ออีกหลายอย่างที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่ตกทอดมาสู่สังคมไทยทั้งชาวพุทธและมุสลิม เช่น  การทำบุญส่งวิญญาณคนตาย   การทำบุญสามวัน เจ็ดวัน สี่สิบวันเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ  พิธีกรรมเหล่านี้เป็นที่ปฏิบัติกันมาในสังคมที่ผู้คนนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

พิธีกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าคนในอดีตมีความเชื่อในเรื่องการมีอยู่ของวิญญาณ  แต่เพราะความไม่รู้และความไม่เข้าใจเรื่องวิญญาณและโลกหลังความตาย  ชาวฮินดูในอดีตจึงเชื่อว่าวิญญาณของคนตายยังคงเวียนว่ายอยู่ในโลกนี้และจะกลับมายังครอบครัวในวันนั้นวันนี้  จึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้  แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปไม่มีความรู้ แต่ยังมีความเชื่อ จึงต้องให้คนที่ได้รับการนับถือว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณมาทำให้

ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น  พุทธศาสนาและอิสลามมาหลังศาสนาฮินดู  ชาวพุทธบางคนที่ไม่มีความรู้พอจึงคล้อยตามและปฏิบัติตามความเชื่อของชาวฮินดู    แต่อิสลามมาถึงอุษาคเนย์หลังสุดและหลักคำสอนของอิสลามประกาศชัดเจนว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวที่มนุษย์ทุกคนสามารถวิงวอนต่อพระองค์ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่าน “สื่อกลาง” ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าไม่ว่าสื่อกลางนั้นจะเป็นมนุษย์ด้วยกันหรือวัตถุบูชา

แม้สภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะแก่งมากมายหลายพันเกาะทำให้การเผยแผ่คำสอนอิสลามไปไม่ทั่วถึง   แต่ถึงกระนั้น  มุสลิมในอุษาคเนย์ส่วนใหญ่ก็เลิกกราบไหว้บูชาหรือวิงวอนต่อรูปเคารพและหันมาใช้ภาษาอาหรับจากคัมภีร์กุรอานในการทำพิธีที่เรียกกันว่า “ทำบุญคนตาย” แทนภาษาสันสกฤตที่นักบวชฮินดูใช้สวดกัน

ประเพณีทำบุญคนตายสามวันเจ็ดวันแม้ไม่มีในคำสอนของอิสลาม   แต่ประเพณีนี้มีส่วนในการรวมตัวและช่วยสร้างความเหนียวแน่นให้แก่สังคมที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างกัน  แต่ที่แน่ๆก็คือ ถึงแม้การทำบุญคนตายจะไม่มีในแบบอย่างของนบีมุฮัมมัด  แต่มันก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าสังคมมุสลิมเลิกกราบไหว้รูปเคารพที่บรรพบุรุษของตัวเองเคยทำกันและหันมาวิงวอนต่ออัลลอฮฺพระเจ้าองค์เดียวซึ่งถือว่าเป็นหลักศรัทธาสำคัญของอิสลาม


You must be logged in to post a comment Login