วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ทำอสังหาฯให้มีความสุขและสำเร็จด้วย 5 หลัก กับ 2 วิธีดับทุกข์ สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหม่

On September 26, 2022

การได้ทำอะไรในสิ่งที่รักและชอบก็เหมือนเรามีความสุขอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าได้ทำในสิ่งที่รักและสามารถมีรายได้จากสิ่งนั้นด้วยจะเรียกว่าความสุขคูณสองก็ว่าได้ คำกล่าวนี้ฟังดูแล้วอาจนึกไม่ออกว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ ฟังดูแล้วอาจคิดว่าฝันไปหรือเปล่า แต่ในความเป็นจริงนั้นเกิดขึ้นได้ทั่วไป ดูจากรอบๆตัวเราก็ได้ อย่างเช่น นักฟุตบอลอาชีพที่รักกีฬานี้เป็นชีวิตจิตใจ ได้ทำในสิ่งที่รักคือเล่นฟุตบอล และมีรายได้จากการเล่นฟุตบอลด้วย หรือนักร้องที่ชอบการร้องเพลง มีงานมีรายได้จากการร้องเพลงด้วย ทำให้ทุกวันเหมือนได้ทำอะไรที่รักอยู่ตลอดเวลา ถ้าย้อนมาดูตัวคุณเองบ้าง ลองถามตัวเองไหมว่าชอบอะไร จดออกมาแล้วหาว่าในสิ่งนั้นสามารถทำให้เกิดรายได้ได้ไหม แต่ในโลกความเป็นจริงแล้วก็มีอีกเช่นกันคือ ไม่ได้ชอบงานนั้นๆ แต่ต้องทำเพราะเงิน จะทำให้มีบ้างช่วงอารมณ์ที่รู้สึกว่าเบื่อหน่ายกับงาน แต่ต้องทำเพราะเงิน

พอมาโยงเข้ากับงานด้านอสังหาฯบ้าง จากที่ได้คุยกับผู้ประกอบการรายเล็กหรือรายใหม่ที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้ สิ่งแรกๆที่ผมจะถามก็คือ คิดยังไงถึงอยากทำโครงการอสังหาฯนั้นๆ ซึ่งคำตอบจะมีหลากหลาย แบ่งได้เป็นกลุ่มคำตอบใหญ่ๆคือ เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูง หรืออยากลองทำดูเพราะมีเงินทุนหรือที่ดินอยู่แล้ว สิ่งที่ผมจะถามต่อคือ เป้าหมายในการทำโครงการนั้นคืออะไร คำตอบก็หลากหลายอีกเช่นกัน บ้างทำเพราะเป็นงานที่ชอบและรักในอสังหาฯ บ้างก็ทำเพราะอยากให้คนได้มีบ้านที่ดีๆอยู่ หรือเป้าหมายใหญ่จนถึงจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯก็มีเช่นกัน

จาก 2 คำถามนี้ เพื่อที่ผมจะได้วางแนวทางการจัดการองค์กรให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการนั้นๆ หากมีแผนงานที่ใหญ่ก็ต้องจัดวางองค์กรให้เหมาะสมตามเป้าหมาย หากจัดวางไม่เหมาะสม สุดท้ายงานก็อาจจะออกมาไม่ดี แต่สิ่งที่จะย้ำอยู่เสมอคือ การทำโครงการอสังหาฯคือความรับผิดชอบที่สูงมาก หากไม่มีความตั้งใจทำจริงจังก็จะแนะนำว่าไม่ควรทำ

ก่อนที่จะทำผมต้องปรับมุมมองหรืออธิบายให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจว่า การทำที่อยู่อาศัยให้ลูกค้าต้องทำให้ดีที่สุด เพราะลูกค้าที่ซื้อเขาก็คาดหวังว่าจะได้ที่อยู่อาศัยที่ดีมีคุณภาพไม่ว่าจะระดับราคาไหนก็ตาม ถ้าผู้ประกอบการคิดได้แบบนี้ ผมมั่นใจว่าจะทำโครงการนั้นๆได้อย่างมีความสุข ผมจึงสรุปหลักการทำโครงการให้มีความสุขได้ 5 ข้อ เหมือนการสร้างถนนสู่ความสุขและความสำเร็จในการทำโครงการดังนี้

1.เริ่มต้นคิดสิ่งแรกคือลูกค้า (การทำถนนขั้นที่ 1 วางเส้นทางที่จะทำ) ความคิดเช่นนี้เหมือนการเริ่มต้นเดินทางในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะหากเราคิดว่าลูกค้าต้องการอะไรแล้วสามารถตอบสนองให้ลูกค้าได้ ลูกค้าก็จะซื้อเอง วิธีการง่ายๆก็คือ หาความต้องการของลูกค้าแล้วออกแบบให้ตรงกับความต้องการให้เหมาะสม ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป มีคำถามจากผู้ประกอบการว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกค้าต้องการอะไร มีวิธีง่ายๆอยู่ 2 วิธีคือ 1.ดูที่อยู่อาศัยเดิมหรือโครงการจัดสรรบริเวณรอบๆที่ดินที่เราจะทำว่าโครงการนั้นๆมีอะไรบ้าง แล้วลูกค้าได้ใช้ประโยชน์หรือไม่ 2.สมมติตัวเองเป็นลูกค้า ถ้าเราเป็นลูกค้าเราต้องการอะไร แล้วนำผลที่ได้มาเป็นข้อมูลเพื่อทำการออกแบบโครงการ

2.วางแผนงานพัฒนาโครงการด้วยความคิดที่ว่าจะทำโครงการที่ดีมีคุณภาพได้อย่างไร (การทำถนนขั้นที่ 2 เลือกวิธีและวัตถุดิบที่จะทำถนน) ผู้ประกอบการต้องมีความคิดว่าต้องมอบสิ่งดีๆให้กับลูกค้าก่อน พอคิดได้แบบนี้ก็จะออกแบบโครงการได้อย่างมีความสุข ผมยอมรับว่าระหว่างที่พัฒนาแบบไปก็มีความสุขแล้ว คิดไปถึงว่าลูกค้าจะมีความสุขที่ได้อยู่ด้วย ต่อจากการออกแบบก็คือคัดเลือกผู้รับเหมาที่ดี ซึ่งดูได้จากผลงานที่เคยทำมาและการพูดคุยว่าแนวคิดในการทำของเขาเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญของโครงการที่จะออกมาดีก็คือ ได้ผู้รับเหมาที่ดีมาทำ

3. จัดสรรผลตอบแทนและจัดการดูแลให้เหมาะสมกับทุกส่วน (ตั้งงบประมาณในการทำถนนให้เหมาะสม) ผลตอบแทนถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการผลักดันให้งานออกมาดี เพราะหากผลตอบแทนที่ให้ไม่เหมาะสมกับงาน การที่จะให้เขาทำงานออกมาดีก็ยาก และที่สำคัญไม่น้อยกว่าผลตอบแทนคือ การดูแลกันและกัน ผู้ประกอบการดูแลผู้รับเหมา ดูแลพนักงานที่ทำงาน นอกเหนือจากผลตอบแทน สิ่งที่จะได้กลับมาคือ ใจในการทำงานที่เขาจะให้กลับมาเช่นกัน ดังคำกล่าวที่ว่า “หากจ้างด้วยเงินสิ่งที่ได้กลับมาคืองาน แต่หากมีใจให้เขาด้วย สิ่งที่ได้กลับมาจะมากกว่างาน”

4. ควบคุมดูแลและร่วมแก้ไขปัญหาระหว่างทาง (เริ่มงานทำถนน) ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับงานที่จะออกมาดีหรือไม่ดี เพราะการพัฒนาโครงการไม่เหมือนการผลิตสินค้าทั่วไปที่ใช้เครื่องจักรผลิตออกมา แต่ต้องใช้คนเข้ามามีส่วนในการทำเกือบทุกขั้นตอน ฟังดูเหมือนง่าย แต่เป็นขั้นตอนที่ยาก จากการที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบหลายราย มีอยู่สิ่งหนึ่งที่คล้ายกันคือ ไม่มีความรู้เรื่องงานก่อสร้าง หรือรู้แบบไม่ลึกบ้าง ทำให้ไม่รู้ว่าจะควบคุมยังไง ตรวจสอบแบบไหน สิ่งที่ผมให้คำแนะนำไปคือ ต้องมีคนที่มีความรู้เข้ามาควบคุม ตรวจสอบในทุกขั้นตอน สิ่งที่เราคิดไว้แต่ต้นเวลาทำจริงอาจมีปัญหาให้พบระหว่างทาง ก็ต้องแก้ไขปัญหานั้นๆ ซึ่งบางปัญหาอาจส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น ก็ให้ย้อนกลับไปที่ขั้นตอนที่ 1 กำไรลดลงได้ แต่ลูกค้าต้องมาก่อน

5. ภาคภูมิใจในผลงานที่ออกมา (สร้างถนนเสร็จ) การที่ผู้ประกอบการเห็นผลงานที่ออกมาแล้วยิ้มออก ภูมิใจในงานที่ออกมา ถือว่าประสบความสำเร็จไปแล้ว 80% ส่วนอีก 20% คือผู้ประกอบการกล้านำตัวเองไปพูดคุยกับลูกค้าและทีมงานที่มีส่วนร่วมพัฒนา เสียงสะท้อนของลูกค้าและทีมงานจะเป็นตอนจบของการพัฒนาโครงการคือ ลูกบ้านอยู่แล้วมีความสุข ผู้รับเหมามีความสุข ทีมงานทุกส่วนมีความสุข ผู้ประกอบการก็มีความสุขเช่นกัน

หลักการทั้ง 5 ข้อนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการทำโครงการออกมาแล้วมีความสุข แต่ใช่ว่าระหว่างทางจะราบรื่นเสมอ อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นได้ เปรียบเสมือนความทุกข์ที่อาจเกิดขึ้น ผมมีวิธีจัดการกับปัญหาเหล่านั้นเพื่อดับทุกข์เป็นแนวทาง 2 ข้อดังนี้

1. กำไรสูงสุดไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นผู้ประกอบการอสังหาฯ อยากให้มีความคิดแบบนี้ก่อนเพื่อที่จะจัดการปัญหาได้ โดยมองที่ลูกค้ามาอันดับ 1 เพราะลูกค้าต้องอยู่ในโครงการไปอีกนาน ส่วนทีมงานและผู้รับเหมามาอันดับ 2 ถ้าเขาเหล่านั้นไม่มีความสุขหรือมีปัญหาในการทำงาน เขาก็จะไม่สามารถทำงานกับคุณต่อไปได้ ซึ่งทั้ง 2 อันดับแรกจะส่งผลต่อเนื่อง หากมีการบอกต่อจะทำให้ผู้ประกอบการเสียหาย การพัฒนาโครงการต่อไปก็จะมีภาพลบตามไปด้วยเช่นกัน แต่ขอย้ำว่าต้องไม่กระทบฐานะการเงินของผู้ประกอบการ

2. ต้องกล้าตัดสินใจหากแนวทางที่ทำมาผิด การพัฒนาโครงการในแต่ละโครงการต้องใช้เวลายาวนาน ระหว่างทางอาจพบเจอสิ่งผิดพลาด ขอให้ยอมรับในความผิดพลาด ซึ่งอาจพบเจอเองหรือทีมงานบอกกล่าวมา ผู้ประกอบการถือว่าเป็นคนที่มีอำนาจการตัดสินใจ ต้องกล้าตัดสินใจแก้ไขสิ่งนั้นๆ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา หากผู้ประกอบการเลือกที่จะไม่แก้ไขปัญหาที่เกิด สุดท้ายปัญหาเหล่านั้นจะย้อนกลับมาทำให้ทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นต้องกล้าตัดสินใจจัดการเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาได้ในอนาคต

สุดท้ายนี้ผมขอฝากคนที่มีความสนใจในธุรกิจด้านอสังหาฯ อยากให้ทำและพัฒนาให้มีความสุข เพราะหากทำด้วยความสุขแล้ว สิ่งที่ออกมาก็จะดี แต่หากทำด้วยความทุกข์ สิ่งที่ออกมาก็จะไม่ดี

นายทรงพล ศรีวงศ์ทอง

ผู้เชี่ยวชาญด้านงานขายและการตลาด มีประสบการณ์ในวงการอสังหาริมทรัพย์มากว่า 20 ปี ผ่านประสบการณ์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั้งระดับเริ่มต้นจนถึงบริษัทมหาชนระดับ 10,000 ล้านบาท ผ่านการดูแลโครงการกว่า 100 โครงการ ปัจจุบันทำงานด้านการตลาดบริษัทอสังหาฯระดับมหาชน, เป็นที่ปรึกษาบริษัทอสังหาฯ และพัฒนาโครงการอสังหาฯเอง


You must be logged in to post a comment Login