วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“สิทธิ-งานต้องมี สวัสดิการต้องพร้อม” ทางออกของคนไร้บ้าน

On October 13, 2022

อดุลย์ อดีตคือคนไร้บ้านคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ ชีวิตมีรายได้จากคนแถวนั้นจ้าง มีบ้างไม่มีบ้าง ณ ตอนนั้นเรียกได้ว่าชีวิตติดลบ แต่พอวันหนึ่งอดุลย์ได้มีโอกาสเข้ามาในโครงการจ้างวานข้า ทำให้อดุลย์มีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีห้องเช่าคนละครึ่ง ทำให้เขามีเงินเก็บถึงเดือนละ 1,000 บาท ชีวิตของอดุลย์ในวันนี้มีเงินกิน มีเงินใช้ และยังมีเหลือเก็บ อีกทั้งยังมีที่อยู่อาศัย เช้าไปทำงาน เย็นกลับบ้าน อาบน้ำ นอนหลับ เขาบอกว่าชีวิตเขาวันนี้ดีขึ้นจากเดิมมาก นี่คืออีกตัวอย่างหนึ่งของคนไร้บ้านที่ก้าวออกจากสถานะของคนไร้บ้าน มาเป็นคนทั่วไปที่มีงาน มีเงิน มีสิทธิ สวัสดิการที่ทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น

“คนไร้บ้าน จะต้องไม่ไร้สิทธิ์ และไม่ไร้งาน รวมถึงสวัสดิการต้องพร้อม ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหานี้ร่วมกัน”  สิ้นเสียงของนายศานนท์  หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กล่าวถึงทางออกของการแก้ไขปัญหาของไร้บ้าน ในงานเสวนา “Homeless ไม่ Hopeless: เสียงสะท้อน ความหวัง อนาคต และชีวิตในภาวะไร้บ้าน” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมพัฒนาสังคมสวัสดิการ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

นายศานนท์ กล่าว่า หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คนไร้บ้านกับคนจนเมืองเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ การบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกันจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาแค่เรื่องบ้านพักที่เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่อาจรวมถึงเรื่องสวัสดิการต่างๆ ด้วย ซึ่งในมิติของคนไร้บ้าน คนจนเมือง คนเร่ร่อนต่างๆ อาจจะเป็นเรื่องของสภาวะบางอย่างหรือสวัสดิการต่างๆ ที่ยังไม่พร้อม โดยในส่วนของ กทม. จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเรื่องสวัสดิการ ทั้งเรื่องของการหางาน สาธารณสุข และเรื่องของที่อยู่อาศัย โดยในส่วนของ กทม. จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเรื่องสวัสดิการ ทั้งเรื่องของการหางาน สาธารณสุข และเรื่องของที่อยู่อาศัย

“คนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหาแต่ปัญหาเกิดจาก สังคมหรือเมืองที่ทำให้คนอยู่ไม่ได้เพราะไร้สวัสดิการหรือสิทธิเพียงพอ  เราอยู่ในสถานการณ์ที่มีตึกร้างมากมายแต่คนก็ยังไร้บ้าน เรามี Food waste(ขยะอาหาร) มากมายแต่บางคนก็ยังไม่มีอาหารกิน ผู้ประกอบการหลายคนขาดแรงงาน แต่เราก็ยังมีคนว่างงานและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งงานได้ นั่นคือข้อบ่งชี้ว่าการบริหารจัดการยังไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นหน้าที่ของกทม.ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบูรณาการร่วมกับภาครัฐและภาคีเครือข่ายต่างๆ อาทิ การปลดล็อคกฎหมายบางอย่าง รวมถึงการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆในการสร้างความเข้าใจกับสังคมว่า คนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหา แต่สังคมต่างหากที่สร้างปัญหาบางอย่างทำให้เกิดคนไร้บ้าน ซึ่งเราต้องร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาให้มากกว่านี้” นายศานนท์ กล่าว

ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า “คนไร้บ้าน” คือ ประชากรกลุ่มเฉพาะที่ต้องให้ความสำคัญ สสส. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่คอยเชื่อมประสาน โดยสานพลังกับภาคีเครือข่าย หนุนเสริม พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สิ่งสำคัญคือการทำให้คนไร้บ้านมี “ที่อยู่อาศัย” และ “อาชีพ” เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะได้ เนื่องจากการมีรายได้ จะช่วยให้คนกลุ่มนี้มีที่พักเป็นหลักแหล่ง สู่การมีสุขภาวะที่ดีได้ โดยภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิอิสรชน, มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย, มูลนิธิกระจกเงา, เครือข่ายคนไร้บ้าน หัวลำโพง มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้การแก้ปัญหาคนไร้บ้านดีขึ้นถึงจุดนี้

นางภรณี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สสส. ได้พัฒนา “นวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉิน บนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน” หรือโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” ในรูปแบบ “แชร์” ค่าเช่าขึ้นมา ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อหนุนเสริมคนที่ยากลำบาก แก้ปัญหาจำนวนคนไร้บ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบข้อมูลว่า โควิด-19 ช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา พบคนไร้บ้านใน กทม. สูงขึ้นกว่า 30% จาก 1,307 คน เพิ่มเป็น 1,700 – 1,800 คน ขณะที่คนไร้บ้านทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 4,000 คน ทำให้ สสส. พยายามทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาการเข้าถึงสวัสดิการ เพราะสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมทางสังคมเศรษฐกิจ

นายแพทย์จักกาย เกษมนานา กลุ่มหมอกระเป๋า เล่าว่า ก่อนที่จะมาทำงานกับกลุ่มคนไร้บ้าน คนรอบข้างต่างไม่เห็นด้วย แต่ในวันหนึ่งได้มาออกตรวจในฐานะหมอ ตนรู้สึกสะเทือนใจมากที่เห็นคนมาอยู่ในสภาพแบบนี้ ทำให้ตนตัดสินใจว่าเอายาใส่กระเป๋าเข้ามารักษาพวกเขาถึงพื้นที่ดีกว่า หลังจากวันนั้นทุกครั้งที่เราออกตรวจเราเริ่มเห็นคนไร้บ้านเข้ามาหาหมอมากขึ้น

“เคสจิตเวชเป็นปัญหาที่สำคัญ โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวชระยะเริ่มต้น จนถึงระดับกลาง ที่คนทั่วไปจะไม่รู้ว่าเขาป่วยทางจิตเวช เป็นสิ่งที่เราอยากจะทำ” นายแพทย์จักกาย กล่าว

นายอุเทน ชนะกุล ผอ.สำนักพัฒนาและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต พม. กล่าวว่า ในช่วงโควิด -19 เป็นตัวช่วยให้ พม.ได้ทำงานใกล้ชิดกับภาคประชาสังคมมากขึ้น มีโอกาสพูดคุยกับคนไร้บ้าน เพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการของคนกลุ่มนี้ จากเดิมที่คนไร้บ้านจะเดินหนีพม.เพราะคิดว่าพม.จะเข้ามาจับ มาจัดระเบียบ ซึ่งคนไร้บ้านจะกลัว เมื่อเราทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมมากขึ้นทำให้เราต้องปรับบทบาทการทำงาน ซึ่งทำงานประสานกับ กทม.นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของต้นแบบการทำงานกับคนไร้บ้าน

จากเวทีเสวนาในครั้งนี้อาจสรุปได้ว่า การแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนได้ผลนั้น จะต้องทำให้คนกลุ่มนี้มีงานทำ มีรายได้ และมีที่อยู่อาศัย รวมทั้งจัดสรรสวัสดิการที่รัฐจัดให้ โดยมีภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคประชาสังคมคอยเป็นพี่เลี้ยงและให้กำลังใจเพื่อให้คนไร้บ้านได้ก้าวเดินอย่างมั่นคงและถาวร


You must be logged in to post a comment Login