วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

2 ทศวรรษกับทิศทางลด ละ เลิก “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์”ในสังคมไทย

On October 19, 2022

20 ปีมาแล้วที่ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนรณรงค์ลด ละ เลิก “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์”ในสังคมไทย เป็นที่ทราบกันดีว่า แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุอันดับต้นๆของการเกิดอุบัติเหตุ และได้สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจมากกว่า 86,000 ล้านบาท และในปี 2565 นี้ประเทศไทยจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมเผื่อให้สอดคล้องแผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่สอง พ.ศ. 2564 – 2570

ในการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 12 ภัยแอลกอฮอล์:ความเสมอภาค และการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน หัวข้อ“พัฒนาการสำคัญของการขับเคลื่อนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ปลอดภัย” กับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และภาคีเครือข่าย ที่ ศูนย์จัดประชุมคณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ จ.สงขลา

วัยรุ่น-คนทำงานกว่า 15 ล้านคน ดื่มแอลกอฮอล์

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบนักดื่มปัจจุบัน จำนวน 15.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ28 ของประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ส่วนนักดื่มหน้าใหม่หรือประชากรที่เพิ่งเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งแรกในชีวิต ภายใน 3 ปีก่อนการสำรวจ มีจำนวน 1.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.93 โดยนักดื่มหน้าใหม่เพศหญิง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่านักดื่มเพศชายอย่างเด่นชัด

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการแผนงานศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า ขณะที่สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโครงสร้างของประชากร รวมถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อสังคมออนไลน์ , กิจกรรมการตลาดที่เพิ่มขึ้น, การใช้ตราเสมือน และการให้ทุนอุปถัมภ์จากอุตสาหกรรมสุรา ส่งผลให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ และผู้ดื่มมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ แม้จะเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย แต่ยังจะต้องใช้แผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 ปี 2564 – 2570 เข้มข้นต่อไป และยอมรับว่า ยังพบปัญหาและอุปสรรค ในการแก้ไขปัญหา ศวส. จึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ และตระหนักถึงการดูแลตนเอง เพื่อป้องกันปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มากขึ้นต่อไป

ระบบเศรษฐกิจเสียหายกว่า 86,000 ล้านบาท เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  กล่าวว่า เข้าสู่ปีที่ 21 ที่ สสส. ยึดมั่นเจตนารมณ์หนักแน่น สร้างสังคมสุขภาวะ ให้ปลอดภัยจากอบายมุขทุกชนิด ผ่านการส่งเสริมข้อมูลทางวิชาการ และรณรงค์ให้เกิดการลด ละ เลิก “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักและปัจจัยเสี่ยงร่วม ก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้ดื่มและคนรอบข้าง ทั้งสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเป็นต้นตอสำคัญ 1 ใน 5 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง Non-communicable diseases: NCDs (NCDs) ซึ่งคนไทยเสียชีวิตมากที่สุดทุกปี

จากงานวิจัยการศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย พ.ศ.2560 ได้ประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 86,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. ค่ารักษาพยาบาล 2,508  ล้านบาท 2. ค่าดำเนินคดีความ 1,407 ล้านบาท 3.ค่าความเสียหายต่อทรัพย์สินจากอุบัติเหตุจราจรทางบก 31 ล้านบาท 4.ค่าการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและสูญเสียบุคลากรด้านการงานที่ดี 82,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ส่งผลเสียต่อสังคมวงกว้าง

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยมีแนวโน้มลดลง ร้อยละ 28 จาก ร้อยละ 28.40 เมื่อปี 2560 ขณะที่ข้อมูลภาวะสังคมไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบค่าใช้จ่ายบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2564 ลดลงเช่นกัน เหลือเพียง167,775 ล้านบาท จาก 169,946 ล้านบาท เมื่อปี 2563 จึงเป็นกำลังใจที่ดีในการสานพลังกับภาคีเครือข่าย ผ่านการดำเนินงาน 4 ข้อ 1.พัฒนาฐานข้อมูลเชิงวิชาการและนักวิชาการให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบาย 2.ผลักดันกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มข้น 3.พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็ก-เยาวชน-คนทุกกลุ่ม 4.พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเพื่อรณรงค์สื่อสาร สร้างความตระหนักรู้ให้สังคมปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง

ทั้งนี้ ดร.นพ.ไพโรจน์  กล่าวโดยสรุปว่า การขับเคลื่อนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับภาคีต่างๆ เห็นการร่วมมือกันทำงานของหลายๆ ภาคส่วนนั้นในต้นทางจะต้องมีความเข้มแข็ง มีการจัดการอย่างมีระบบและมีงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ และที่สำคัญคือ จะต้องสร้างค่านิยมการไม่ดื่มให้กับประชาชน ดังนั้นการการทำงานด้านวิชาการอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ จะต้องมีการผลักดันด้านนโยบายโดยยึดหลักกติกาสังคม  คำนึงถึงสุขภาพ

“เรายังต้องทำสงครามกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกยาวไกล แต่เราอย่ายอมแพ้….เราต้องวิ่งตามกระแสที่เปลี่ยนไปให้ทัน” ดร.นพ.กล่าว

ความซับซ้อนของโครงสร้างสังคมไทยจะใช้การเก็บภาษีเข้ามาช่วยได้หรือไม่??

ด้าน Prof.Jurgen Rehm ,Executive Director of the Institute for Mental Health Policy Research at the Centre for Addiction and Mental Health,Toronto,Canada   กล่าวโดยสรุปว่า จากการทำวิจัยพบว่านโยบายการเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นนโยบายที่สำคัญในการลดจำนวนผู้ดื่ม ทั้งนี้การทำงานของกฎหมายจะต้องมีการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ ต้องจำกัดการนำเสนอทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ สำหรับประเทศไทยที่มีโครงการที่ซับซ้อน เช่นการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เราจะเห็นโฆษณาน้ำดื่ม น้ำแร่ ที่มียี่ห้อเดียวกันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นการจำกัดทางการตลาดจะต้องทำด้วยความรอบคอบ ต้องมีการห้ามทำการตลาดในไทยแบบสมบูรณ์ และจะต้องมีการแก้ไขปัญหาต่างๆตั้งแต่เนิ่นๆ และอีกปัญหาหนึ่งที่จะทำให้มีผู้ดื่มมากขึ้น คือการต้มสุราในบ้าน

แม้จะเข้าสู่ทศวรรษที่สองของนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย ที่มีการใช้แผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่สอง พ.ศ. 2564 – 2570 แต่ยังพบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหา จึงควรส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และตระหนักถึงการดูแลตนเองเพื่อป้องกันปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น หรือภาครัฐจะปล่อยให้การตลาดของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้ช่องว่างทางกฎหมายทำการตลาดรุกเข้าหากลุ่มเป้าหมายผ่านทางช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่กฎหมายยังเข้าไปควบคุมได้ไม่ทั่วถึง ภาคประชาชนและสังคมคงต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจะเอาจริงนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยหรือเอาใจนายทุน???


You must be logged in to post a comment Login