วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐ-บริษัทผลิตน้ำเมาจะร่วมรับผิดชอบต่อสังคม

On October 20, 2022

ผอ. ม.วลัยลักษณ์ฟันรัฐถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐจะเข้ามาร่วมรับผิดชอบกรณีที่เกิดความเสียหายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้รัฐมีสิทธิเข้ามาแทรกแซงการตลาดได้ ย้ำวาทกรรม “ดื่มอย่างรับผิดชอบ” เป็นการโยนภาระให้ประชาชน ด้านนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แซะรัฐอย่าเห็นแก่รายได้จากภาษีบาปอย่างเดียว รัฐไม่ควบคุมแล้วสังคมจะอยู่กับแอลกอฮอล์อย่างไรให้ได้รับผลกระทบน้อยสุด

จากเวทีการเสวนา ภัยแอลกอฮอล์ : ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ดื่มและสังคม ใครควรรับผิดชอบ ในประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 12 ภัยแอลกอฮอล์: ความเสมอภาคและการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน หัวข้อ “พัฒนาการความสำคัญของการขับเคลื่อนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ปลอดภัย” ได้มีการพูดถึงภัยและผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งในทางตรงและทางอ้อม โดยมีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมการเสวนาที่ได้มีการพูดถึงว่าใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบจากภัยแอลกอฮอล์  ที่ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา

ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปี 2010  มีงานวิจัยของประเทศอังกฤษระบุว่า ภัยที่เกิดขึ้นจากแอลกอฮอล์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นเกิดขึ้นสูงสุดมากกว่าบุหรี่ ซึ่งคนส่วนมากคิดว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ ทั้งที่จริงแล้วแอลกอฮอล์เมื่อดื่มแล้วจะรับผลกระทบต่อร่างกายของตนเอง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภายนอกเช่น อุบัติเหตุ เสียงดัง สิ่งเหล่านี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้ในหลักของเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า เมื่อธุรกรรมการตลาดก่อให้เกิดผลกระทบภายนอก (externalities) หรือกระทบบุคคลที่ 3 ที่ไม่ใช่ผู้ขายและผู้บริโภค/ผู้ซื้อเป็นเหตุให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการตลาดได้

ส่วนวาทกรรม”ดื่มอย่างรับผิดชอบ” เป็นผลงาน campaign  ธุรกิจแอลกอฮอล์ข้ามชาตินำมาใช้อย่างแพร่หลาย เป็นวาทกรรมที่โยนความรับผิดชอบเกี่ยวกับผลกระทบจากการดื่มให้กับผู้บริโภค และในงานวิจัยพิสูจน์ว่า การเห็นโปสเตอร์ “ดื่มอย่างรับผิดชอบ” ทำให้มีคนดื่มมากขึ้น

“ลองสมมติว่า แอลกอฮอล์คือยาเสพติดชนิดหนึ่ง เรามาเปลี่ยนเป็นแคมเปญเป็น เสพอย่างรับผิดชอบ และรัฐบาลเปิดให้มีการขายยาบ้า เฮโรอีน หรือกัญชา ( ซึ่งมีฤทธิ์เสพติดเหมือนแอลกอฮอล์ ) ได้อย่างถูกกฎหมายแบบเดียวกับแอลกอฮอล์ และยังได้จัดให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นยังเสพติดอีกชนิดหนึ่ง แล้วผู้ขายจะต้องรับผิดชอบหรือไม่? และถ้าเปลี่ยนแอลกอฮอล์เป็นยาเสพติดใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ”ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

สุดท้าย ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ ยังอยากให้ทุกคนเห็นว่าเรื่องของแอลกอฮอล์เป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งที่เหมือนกัญชา ที่เมื่อเกิดผลกระทบกับประชาชน และประชาชนได้ขอฉันทามติให้มีกฎหมายควบคุมกัญชา

ด้าน รศ.แล  ดิลกวิทยารัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยมีรายได้จากกการเก็บอากรบ่อนเบี้ย โสเภณี สุรา และปัจจุบันภาษีจากเหล้าบุหรี่ สลากกินแบ่งรัฐบาลก็ยังคงเป็นรายได้หลักของประเทศ แต่เราไม่เคยพูดถึงต้นทุนความสูญเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ต้องเสียไปจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เมื่อเกิดคนตายที่มีสาเหตุมาจากคนดื่ม เราไม่เคยพูดถึงต้นทุนทางสังคมที่เสียไปอย่างมหาศาล เพราะเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น

เมื่อถามว่าผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ดื่มและสังคม ใครควรรับผิดชอบ แต่ไม่มีใครพูดถึงรัฐ เมื่อเรามีสังคมรัฐ โดยรัฐมีหน้าที่ใช้อำนาจไปในทิศทางเหมาะสม และมีความคาดหวังของคนในสังคมว่ารัฐจะต้องทำให้มีสังคมที่ดี มีสวัสดิภาพที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต ดังนั้นคำตอบว่าใครควรรับผิดชอบคือ รัฐบาล ที่มีหน้าที่ควบคุมและสกัดกั้น ไม่ให้ผู้ผลิตแอลกอฮอล์ที่เราถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งเสพติดมีอำนาจผูกขาด สร้างกำไรให้คนผลิตและคนขาย ส่วนคนดื่มก็ติดไป

รศ.แล กล่าวว่า ในส่วนตัวอยากให้พรรคการเมืองที่เสนอกฎหมายให้มีการผลิตสุราได้เสรี ซึ่งเราพบว่า ถ้ากฎหมายดังกล่าวผ่านประเทศไทยเราจะมีผู้ผลิตแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นอีกนับหมื่นราย เรื่องแอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่เราพูดกันมานานตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาแล้ว จนคนพูดตายไปแล้ว แต่สุราก็ยังอยู่ คำถามที่เกิดขึ้นคือ เราจะอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ หรือจะรอให้กงล้อประวัติศาสตร์มันบดขยี้ไป เราจะอยู่กับแอลกอฮอล์อย่างไรให้มันมีผลกระทบน้อยที่สุด

ปิดท้ายที่ ศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว กรรมการบริหารแผน คณะ 1 สสส. กล่าวว่า ปัญหาวันนี้คือ ไม่มีใครเอาเรื่องที่เราพูดในวันนี้ไปพูด รัฐ สังคม นักการเมือง ใครพูดแทนอนาคตประเทศไทยได้ เมื่อพูดถึงความรับผิดอบทางสังคมนั้นเหมือนเรากำลังวิ่งตามปัญหา ยิ่งหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 การเป็นสถานบันเทิงครบวงจรที่เป็นการตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น โจทย์ของความรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นการรับผิดชอบร่วมกันทุกฝ่าย และหากเรายังถกปัญหาเหล่านี้อยู่ จะทำให้เราเดินหน้าไปไม่ได้

“เรื่องนี้เราเดินมาไกล และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ลมแต่มันเป็นไต้ฝุ่นไปแล้วตนจึงอยากให้รัฐให้ธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบต่ออนาคตของประเทศเข้ามารับผิดชอบ และพัฒนาวิธีที่จะให้พวกเขาสำนึกเพื่อให้เรามีอนาคตร่วมกัน ไม่ใช่เพื่ออนาคตของใคร” ศ.ดร.สุริชัย กล่าว


You must be logged in to post a comment Login