วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

สสส.- มสช.-สช. สานพลังพัฒนาสุขภาพช่องปากไทย

On October 27, 2022

สสส.- มสช.-สช. สานพลังพัฒนาสุขภาพช่องปากไทย ส่งเสริมประชาชนดูแลสุขภาพช่องปากได้ด้วยตัวเอง ลดความเหลื่อมล้ำ-เข้าถึงบริการได้ง่าย-ราคาเป็นธรรม สร้างระบบสุขภาพช่องปากที่ทันสมัยเหมาะสมกับทุกช่วงวัย

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 ที่ รร.อมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีเสวนา “การพัฒนาศักยภาพการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเองของคนไทย” เพื่อพัฒนาให้เกิดระบบสุขภาพช่องปาก ที่มุ่งเน้นสุขภาพองค์รวม ของประชาชนที่เข้าถึงได้

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับสุขภาพในช่องปาก เนื่องจากปัญหาสุขภาพช่องปากส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม  นำมาสู่โรคติดต่อไม่เรื้อรัง หรือ NCDs หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ส่งผลถึงสุขภาพส่วนอื่น ๆ  ปัญหาสุขภาพช่องปากสามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติพฤติกรรมที่เหมาะสม ซึ่งเรียกรวม ๆ กันว่าพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก ประกอบด้วยพฤติกรรมที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1. พฤติกรรมการบริโภคอาหารตาม หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่เป็นโทษต่อสุขภาพ  2. พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก 3. พฤติกรรมการตรวจและเฝ้าระวังสุขภาพช่องปากของตนเอง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องของการปฏิบัติในกิจวัตรประจำวัน ต้องปฏิบัติจนเกิดเป็นความเคยชิน และพัฒนาเป็นนิสัยถาวร จึงต้องพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ สามารถดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของตนเอง และให้คำแนะนำกับประชาชนได้อย่างถูกต้อง

“ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางยังเข้าไม่ถึงการรักษาช่องปาก เนื่องจากการรักษามีที่ราคาสูง เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของ สสส. มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุขในประเด็น สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพ ทำงานเชิงรุก เร่งพัฒนาให้ประชาชนเข้าถึงระบบการรักษา และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกกลุ่มวัย สสส. ให้ความสำคัญต่อปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อสุขภาพ ควบคู่กับการพัฒนาระบบสุขภาพช่องปากไปพร้อมกับการพัฒนาระบบสุขภาพโดยรวม  โดยมีรูปแบบหรือชุดกิจกรรมบริการเชิงคุณภาพครอบคลุมการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ สนับสนุนการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนสุขภาพช่องปากของประเทศไทย ขับเคลื่อนเชิงวิชาการร่วมกับภาคีเครือข่าย (Oral health intelligence unit) ทั้งในระดับนโยบาย ระดับพื้นที่ และกลุ่มประชากร เพื่อพัฒนาให้เกิดระบบสุขภาพช่องปาก ที่มุ่งเน้นสุขภาพองค์รวมของประชาชน และประชาชนสามารถดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองได้อย่างถูกต้อง” ดร.สุปรีดา กล่าว

ทพญ.สุณี วงศ์คงคาเทพ ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการสนับสนุนการประสานและพัฒนาระบบสุขภาพช่องปากสำหรับประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นการสานพลัง ภาคีระดับชาติ ระดับวิชาการ ระดับพื้นที่ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวง กรมอนามัย กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทันตแพทยสภา และเครือข่ายเพื่อเชื่อมประสานภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดกลไกและวางระบบการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในอนาคต  ได้แก่ 1.วางระบบที่ทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของสุขภาพช่องปาก สามารถดูแลสุขภาพช่องปากได้เอง 2. สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ประชาชนมีสุขภาพช่องปากที่ดี สนับสนุนให้มีผลิตภัณฑ์ และราคาเป็นธรรม 3. ระบบทันตกรรม ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ที่เป็นธรรม และเป็นสิทธิพื้นฐาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่สามารถจ่ายได้ บริการเข้าถึงได้ง่าย 4. มีระบบข้อมูลข่าวสารทั้งจากภาครัฐและเอกชน สามารถใช้ข้อมูลจากระบบข้อมูล (data-driven) เพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพรายบุคคลแบบองค์รวม 


You must be logged in to post a comment Login