- อย่าไปอินPosted 22 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น – กสศ. ร่วม MOU เดินหน้า ‘ระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา’
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับ กสศ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาฯ ผ่านเครือข่าย อปท. ทั่วประเทศ ‘อธิบดี สถ.’ ตั้งเป้ายกระดับทุนเสมอภาคสู่การสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาทั้งระบบ ด้าน ‘ผู้จัดการ กสศ.’ เผย 5 ผลงานปฏิรูปความเหลื่อมล้ำทางจากการให้ความสำคัญของท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ที่ห้องประชุมกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในการดำเนินการพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา สำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ ด้อยโอกาส และการพัฒนาคุณภาพครู สถานศึกษา โดยมีนายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. และนางสาวกนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. เข้าร่วม
นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่สถ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กสศ. ในการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา โดยปี 2562-2565 สถ. ได้ร่วมมือพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษตั้งแต่ระดับอนุบาล – ม.ต้น ในโรงเรียนสังกัด อปท. ทั่วประเทศ ผ่านโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข หรือ ทุนเสมอภาค เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและบรรเทาอุปสรรคการไปโรงเรียน ป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับของนักเรียนในสังกัด ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับความร่วมมือไปที่การสร้างหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาทั้งห่วงโซ่ตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษา ครอบคลุมการศึกษาทั้งในและนอกระบบ ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู รวมถึงสถานศึกษา
“วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการร่วมสร้างระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา ระหว่าง สถ. และ กสศ. สิ่งสำคัญที่ สถ. จะดำเนินการร่วมกับ กสศ. ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ คือการสนับสนุนสถานศึกษาเพื่อค้นหา คัดกรองความยากจน รับรองข้อมูล ตรวจสอบข้อมูลนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับความช่วยเหลือและเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา นอกจากนี้จะมีการสนับสนุนฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย นักเรียน ครู และสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้แก่ กสศ. เพื่อใช้สำหรับการจัดสรรเงินอุดหนุน การติดตามผลการดำเนินงาน และการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา รวมถึงสนับสนุนการติดตามผลการดำเนินงานช่วยเหลือเด็กปฐมวัย นักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และด้อยโอกาส รวมทั้งพัฒนาคุณภาพ สร้างการมีส่วนร่วมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมาย”
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวต่อไปว่า สถ. ยังจะเข้าไปสนับสนุนการจัดการเรียนรู้และช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา รวมทั้งแรงงานนอกระบบ ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกับ กสศ. เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและพึ่งพาตนเองได้ จะสนับสนุนการดำเนินงานจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างการมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และสถานศึกษา ร่วมดำเนินการในพื้นที่นำร่องเพื่อการวิจัยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และจะสนับสนุนการผลักดันผลการดำเนินงานเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย
“กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นหวังว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่ไม่ใช่แค่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกัน แต่จะเป็นการปฏิบัติและมีเป้าหมายการทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืนทุกมิติ กรมส่งเสริมการปกครองถิ่นยินดีอย่างยิ่งในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลการทำงาน การประสานงานต่าง ๆ ร่วมกันกับ กสศ. เพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในทุกด้าน ขอบคุณ กสศ. ที่พัฒนานวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาและเข้ามามีบทบาทเป็นเพื่อนในการทำงาน ช่วยสนับสนุนและเติมเต็มการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับประเทศไทย”
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ความร่วมมือในการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาระหว่าง กสศ. และ สถ. ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้ร่วมดำเนินงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงเรียนในสังกัด อปท. และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ซึ่งสามารถสรุปผลสำเร็จ 5 ด้าน ที่จะนำไปสู่การพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ ด้อยโอกาส และการพัฒนาคุณภาพครู สถานศึกษา ให้มีความต่อเนื่องดังนี้
1.การค้นหานักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพื่อรับทุนเสมอภาค พบว่า ภาคเรียนที่ 1/2565 มีนักเรียนในสังกัด อปท. ได้รับการจัดสรรทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 26,376 คน รวมงบประมาณราว 40 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีนักเรียนยากจนพิเศษได้รับจัดสรรทุนเสมอภาคเพิ่มเติมจาก กสศ. จำนวน 17,965 คน ด้วยงบประมาณจาก กสศ. ราวปีละ 28 ล้านบาท นอกจากการจัดสรรทุนสนับสนุนเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา กสศ. ยังได้ส่งต่อข้อมูลนักเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษาจากแหล่งต่าง ๆ ต่อไป
2.การทำงานกับครูและสถานศึกษาในสังกัด อปท. 35 แห่ง ใน 19 จังหวัด พัฒนามาตรการลดความเหลื่อมล้ำด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนในสถานศึกษาสังกัด อปท. ผ่านการพัฒนาเครือข่ายสถานศึกษาต้นแบบ ที่เรียกว่า โรงเรียนพัฒนาตนเอง TSQP เป็นต้นแบบด้านการกระจายอำนาจเพื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้ไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนระหว่างสถานศึกษาในพื้นที่ชนบทและสถานศึกษาในพื้นที่เมือง ซึ่งธนาคารโลกเคยประเมินว่ามีช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านประสิทธิภาพในการเรียนรู้ระหว่างสองพื้นที่ห่างกันถึง 2 ปีการศึกษา ความร่วมมือนี้มีครูโรงเรียนสังกัด อปท. ได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงระบบและรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะกับบริบทตนเองไม่น้อยกว่า 818 คน นักเรียนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 12,967 คน
3.การยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3,769 แห่ง ใน 15 จังหวัดนำร่อง โดยปี 2563-2564 มีเด็กปฐมวัยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เข้าถึงการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้จำนวน 45,028 คน ซึ่งในภาคเรียนที่ 2/2565 กสศ. และ สถ. จะร่วมกันทดลองนำการพัฒนาด้านการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยกับผู้ปกครองประมาณ 1,440 กลุ่มตัวอย่าง นำหลักสูตร Reach Up ไปประยุกต์ใช้กับการให้เงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional cash transfer หรือ CCT) ใน 6 พื้นที่ 7 จังหวัดใน 72 ตำบลนำร่องครบ 4 ภูมิภาค คือ 1) พื้นที่จังหวัดสงขลา 2) พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 3) พื้นที่จังหวัดนครนายก 4) พื้นที่จังหวัดลพบุรี 5) พื้นที่จังหวัดขอนแก่น และ 6) พื้นที่จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งในอนาคตจะทำงานร่วมกันต่อเนื่องกับอีกหลายหน่วยงาน
4.การส่งเสริมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ โดยได้ร่วมกับยูเนสโก้และกระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนเทศบาลแห่งการเรียนรู้ (Learning city) ใน 12 จังหวัดนำร่อง ทดลองลดขนาดการจัดการกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากระดับประเทศมาเป็นระดับพื้นที่ เพื่อให้มีความคล้องตัวและสร้างการมีส่วนร่วมมากขึ้น
5.การสนับสนุนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ทันต่อสถานการณ์หรือวิกฤตต่าง ๆ เช่น การปรับอัตราเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน และอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนภายใต้โครงการเรียนฟรี 15 ปีให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น หลังจากการไม่มีความเปลี่ยนแปลงในอัตราปัจจุบันมากกว่า 12 ปี การสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาจากการปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดขอบโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) กับเด็กปฐมวัย เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาทั้งในระดับชาติ และสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติ
“ในอีก 3 ปีข้างหน้าภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สถ. และ กสศ. จะต่อยอดความสำเร็จทั้ง 5 เรื่อง โดยจะเป็นการผลักดันเชิงนโยบายมากขึ้น เพื่อยกระดับทุนเสมอภาคไปสู่การเป็นหลักประกันทางการศึกษาที่คุ้มครองเด็กเป็นรายบุคคล ให้สามารถศึกษาต่อไปจนสูงสุดได้ตามความสามารถของเขา รวมถึงการทำงานกับ อปท. ในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ โดยเฉพาะการลดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้หลังโควิด-19 นอกจากนี้จะมีข้อเสนอเชิงงบประมาณและการปฏิรูปร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กสศ. เองก็จะปรับปรุงเครื่องมือให้ทันสมัยเพื่อลดภาระและคืนเวลาให้กับครูให้ทำงานได้สะดวกขึ้น รวมถึงการพัฒนาต้นแบบสำหรับการศึกษาเรียนรู้นอกระบบ”
ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้เป็นอีกก้าวสำคัญในการปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างไร้รอยต่อตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษาเป็นระยะเวลา 20 ปี ด้วยการพัฒนาระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่เชื่อมต่อฐานข้อมูลและการทำงานในการดูแลและส่งต่อความเสมอภาคให้แก่เด็กเยาวชนภายใต้การกำกับดูแลของ สถ. ให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสทางการศึกษา รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู สถานศึกษา ให้สามารถพัฒนาศักยภาพในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของผู้เรียนได้ด้วยตัวสถานศึกษาเองอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนโดยเริ่มจากความเข้มแข็งระดับพื้นที่
You must be logged in to post a comment Login