วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ประท้วง … ประท้วง … ประท้วง! การต่อสู้ของประชาชนบนถนน

On November 19, 2022

บทความพิเศษโดย… ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

กล่าวนำ

การลุกขึ้นสู้ของประชาชน (popular uprising) ในรูปแบบของ “การประท้วงใหญ่” มักจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองของหลายประเทศที่เป็นอำนาจนิยม และอาจถือเป็นวิกฤตทางการเมืองหนึ่งที่รัฐบาลเผด็จการต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย เพราะรัฐบาลเผด็จการมักมีปัญหาความชอบธรรมในตัวเอง ทั้งในเงื่อนไขของการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ และการดำรงอยู่ของตัวรัฐบาลเอง ซึ่งปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาลเช่นนี้คือต้นทางของการประท้วงทางการเมือง แต่ในบางกรณีการชุมนุมใหญ่บนถนนอาจเกิดขึ้นในรัฐที่ไม่ใช่อำนาจนิยม  หากการชุมนุมเช่นนี้คือ “การสื่อสารทางการเมือง” จากประชาชนผู้ร่วมชุมนุมไปถึงทั้งรัฐและสังคมถึงประเด็นและข้อเรียกร้องของพวกเขา

ถ้าการประท้วงใหญ่ในรัฐอำนาจนิยมเดินไปถึงจุดที่ไม่สามารถควบคุมได้แล้ว ภาวะที่เกิดขึ้นจะเป็นเสมือนกับ “การเติมเชื้อไฟ” อย่างดีให้แก่การกำเนิดของ “กบฏภายใน” และหากการต่อต้านรัฐบาลเช่นนี้เดินไปมากขึ้นจนสุดทางด้วยความรุนแรงแล้ว สิ่งที่จะเกิดตามมาคือสถานการณ์ “สงครามกลางเมือง” … สถานการณ์สงครามกลางเมืองซีเรียในปัจจุบันจึงเป็นคำเตือนที่ดีในเรื่องนี้

ดังนั้น หากพิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์แล้ว เราอาจสรุปได้ด้วยข้อสังเกตประการหนึ่งว่า การประท้วงขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นคือการส่งสัญญาณถึงความต้องการของภาคประชาสังคมที่ใช้วิธีการกดดันในรูปแบบของการประท้วงเพื่อให้รัฐดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง โดยเฉพาะการเปิดการเมืองให้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในภาวะเช่นนี้คือการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมและ/หรือสลายการชุมนุม ในทำนองเดียวกัน ผู้ประท้วงบนถนนเองก็พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงตอบโต้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ปฏิเสธไม่ได้ในภาวะ “การเผชิญหน้าบนถนน”

การประท้วงใหญ่ที่มักจะมีความรุนแรงเป็นองค์ประกอบจึงเป็นดังจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมือง โดยไม่มีความจำเป็นต้องคำนึงว่าการประท้วงเช่นนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ซึ่งการที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสามารถรวมคนจำนวนมากจนทำให้เกิดการประท้วงขนาดใหญ่ได้นั้น ย่อมเป็นเส้นเวลาการเมืองที่สำคัญของสังคมนั้นๆ แม้อาจจะไม่ประสบชัยชนะในการโค่นล้มระบอบเดิมที่เป็นอำนาจนิยม เช่น การลุกขึ้นสู้ของคนหนุ่มสาวที่กรุงปรากในปี 1968 หรือที่ปักกิ่งในปี 1989 หรือที่ฮ่องกงในปี 2014 และในปี 2019

แน่นอนว่าในบางกรณีอาจไม่ใช่การชุมนุมประท้วงใหญ่ต่อต้านรัฐบาลโดยตรง หากเป็นการสำแดงพลังในการชุมนุมของประชาชนเพื่อเรียกร้องหาความเป็นธรรม หรือเป็นดังการนำเสนอประเด็นให้แก่สังคมต้องพิจารณา การชุมนุมเช่นนี้ก็อาจกลายเป็น “หมุดหมาย” ทางการเมืองของสังคมนั้นไม่แตกต่างจากการประท้วงใหญ่เช่นที่กล่าวแล้ว ดังจะเห็นได้จากกรณีการชุมนุมใหญ่ที่กรุงวอชิงตันในปี 1963 เป็นต้น

แต่ถ้าการประท้วงในรัฐอำนาจนิยมถูกยกระดับขึ้นจนนำไปสู่ “การลุกขึ้นสู้ของประชาชน” แล้ว เราอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า การลุกขึ้นสู้ของประชาชนซึ่งมีลักษณะเป็น “popular uprising” เป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองในตัวเองเสมอ และในบางกรณีก็กลายเป็นประวัติศาสตร์โลกไปด้วย หรืออาจกล่าวในอีกด้านได้ว่า การลุกขึ้นสู้ของประชาชนคือพลังที่ผลักดัน “กงล้อประวัติศาสตร์” ให้เคลื่อนตัวไปข้างหน้า แม้ว่าในบางกรณีฝ่ายประชาชนอาจจะประสบกับการถูกปราบปรามอย่างรุนแรง และก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างหนัก แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็บ่งบอกถึงการมาของ “กระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลง” ที่กำลังพัดในสังคมนั้นอย่างชัดเจน

การลุกขึ้นสู้ของประชาชนในอดีต

หากย้อนกลับไปดูในอดีต เราจะเห็นตัวอย่างสังเขปของการประท้วงใหญ่ที่ส่งผลในทางการเมืองมากมาย แต่ในบทนี้จะทดลองนำเสนอบางส่วนอย่างสังเขป เช่น

– การโค่นล้มระบอบซาร์รัสเซีย : การประท้วงใหญ่ต่อระบอบการปกครองแบบเผด็จการของพระเจ้าซาร์ในรัสเซียในต้นปี 1917 แต่ความดึงดันที่จะเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐของพระเจ้าซาร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาวะของความเป็นรัฐบาลอำนาจนิยมในระบอบการปกครองเก่าที่ไร้ประสิทธิภาพเป็น “เชื้อไฟ” อย่างดีกับการประท้วง แม้รัฐบาลจะใช้มาตรการปราบปรามด้วยกำลังตำรวจ แต่ก็เป็นเพียงชัยชนะชั่วคราว เพราะเมื่อตำรวจเปิดการยิงใส่ผู้ชุมนุมแล้ว ทหารส่วนหนึ่งได้ตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงกับประชาชน จนสุดท้ายรัฐบาลของพระเจ้าซาร์ต้องสิ้นสุดลง

การประท้วงในปี 1917 สะท้อนให้เห็นว่าคำสั่งในการปราบปรามผู้ประท้วงไม่ใช่คำตอบของชัยชนะทางการเมือง และเมื่อตำรวจลั่นกระสุนสังหารประชาชนบนถนน เมื่อนั้นความตายของประชาชนบนถนนได้เป็นปัจจัยที่ดึงให้กำลังพลในกองทัพเข้าร่วมกับประชาชนในการต่อต้านระบอบเก่า และเมื่อทหารเข้าร่วมกับประชาชนในการต่อต้านระบอบการปกครองเดิมแล้ว รัฐบาลในระบอบนั้นก็เดินทางไปสู่จุดจบ และนำไปสู่เหตุการณ์สำคัญของโลกในต้นศตวรรษที่ 20 คือ “การปฏิวัติรัสเซีย” อันเป็นหนึ่งในการปฏิวัติทางสังคม (social revolution) ชุดใหญ่ของโลกที่อาจจะเป็นรองจาก “การปฏิวัติฝรั่งเศส” เท่านั้น

– การประท้วงเพื่อเอกราชอินเดีย : การเรียกร้องเอกราชของอินเดียที่นำโดยมหาตมะ คานธี ในช่วงเวลาจากปี 1930-1947 ก็อาศัยการประท้วงใหญ่เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ การประท้วงครั้งนั้นได้กลายเป็นตัวแบบสำคัญของการประท้วงในแบบที่เป็น “อหิงสา” และกลายเป็นแรงกดดันอย่างสำคัญกับรัฐบาลลอนดอน จนต้องสละอำนาจการปกครอง และนำไปสู่การได้รับเอกราชของอินเดียในเวลาต่อมา

การประท้วงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชเสมอ และแน่นอนว่าในบางประเทศ การประท้วงที่ไม่ประสบความสําเร็จจะยกระดับขึ้นไปสู่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ดังเช่นสงครามเรียกร้องเอกราชในเวียดนาม หรือในแอลจีเรีย เป็นต้น แต่สิ่งที่โลกปฏิเสธไม่ได้คือ บทบาทในการนำของประชาชนชาวอินเดีย

– การเดินสู่วอชิงตัน : การเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำในสังคมอเมริกันภาคใต้ที่นำโดย ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ในช่วงทศวรรษที่ 6 เปิดการเคลื่อนไหวด้วยการใช้การประท้วงใหญ่เป็นเครื่องมือของการเรียกร้อง ดังจะเห็นได้ว่าในที่สุดแล้วการชุมนุมประท้วงใหญ่ที่เรียกว่า “การเดินสู่วอชิงตัน” (March on Washington) ในปี 1963 เป็นหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญของสังคมอเมริกันในการต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมของสีผิว และรวมทั้งการต่อสู้ในเรื่องของสิทธิในการทำงาน การชุมนุมใหญ่ที่วอชิงตันดึงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากมุมต่างๆของสังคมอเมริกันเข้าร่วมการต่อสู้ อันถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของการเรียกร้องสิทธิทางการเมือง โดยมีวลีทองจากคำกล่าวของ ดร.คิง ว่า “I have a dream” (ฉันมีความฝัน) เป็นมรดกของการต่อสู้

การประท้วงครั้งนี้มีคนเข้าร่วมมากกว่า 2,600,000 คน และเป็นแรงกดดันสำคัญให้รัฐบาลอเมริกันออกกฎหมายสิทธิพลเมืองในปี 1964 และกฎหมายสิทธิการเลือกตั้งในปี 1965 กฎหมายนี้คุ้มครองสิทธิของคนผิวสี และเป็นหลักประกันว่าคนผิวดำมีสิทธิทางการเมืองที่จะมีตัวแทนของพวกเขาในรัฐบาล

– ฤดูใบไม้ผลิที่ปราก : การต่อสู้เพื่อให้เกิดความเป็นเสรีนิยมได้พามวลชนเป็นจำนวนมากลงบนถนนในกรุงปราก ในปี 1968 โดยผู้นำเชโกสโลวาเกียพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพและสิทธิทางการเมือง แต่การปฏิรูปเช่นนี้ถูกผู้นำสหภาพโซเวียตมองว่าเป็น “การต่อต้านการปฏิวัติ” (counterrevolution) และเป็นภัยคุกคาม และนำไปสู่การส่งกำลังทหารพร้อมรถถังเข้าสลายการชุมนุมที่ปราก

การส่งกำลังทหารโซเวียตเพื่อยุติกระบวนการสร้างประชาธิปไตยครั้งนี้ เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าการเรียกร้องเสรีภาพและสิทธิทางการเมืองในค่ายสังคมนิยมเป็นสิ่งที่จะไม่ได้รับอนุญาตจากโซเวียตเป็นอันขาด แม้การชุมนุมของประชาชนไม่มีทางรับมือกับอำนาจของรถถังโซเวียตได้เลย แต่ความพ่ายแพ้ของผู้ชุมนุมไม่ได้ทำให้เครดิตทางการเมืองของการต่อสู้ลดลง และได้รับการยกย่องให้เป็น “ฤดูใบไม้ผลิที่ปราก” (The Prague Spring) หรือถือเป็น “ฤดูใบไม้ผลิทางการเมือง” ของโลกสมัยใหม่

– การต่อต้านระบอบชาห์อิหร่าน : ระบอบอำนาจนิยมของอิหร่านเผชิญกับวิกฤตการเมืองครั้งสำคัญในปี 1978-1979 เมื่อประชาชนเป็นจำนวนมากตัดสินใจออกมาบนถนนอย่างไม่เกรงกลัวกับการปราบปราม จนระบอบเก่าที่เข้มแข็งต้องล้มลง และนำไปสู่การจัดตั้งสาธารณรัฐอิสลามในต้นปี 1979 การประท้วงที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งนี้เกิดผลอย่างมีนัยสำคัญจนถูกเรียกว่า “การปฏิวัติอิหร่าน” และเป็นมากกว่าฤดูใบไม้ผลิ

– การประท้วงใหญ่ในฟิลิปปินส์ : การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดีมาร์กอสในฟิลิปปินส์ในปี 1986 ก็ใช้การประท้วงใหญ่เป็นเครื่องมือ และการประท้วงที่เกิดขึ้นในกรุงมะนิลากลายเป็นการรวมคนในสาขาอาชีพต่างๆที่ไม่ยอมรับรัฐบาลเผด็จการออกมาสู่เวทีการประท้วงบนถนน

– การประท้วงเผด็จการทหารในชิลี : การประท้วงเช่นนี้ยังเห็นได้จากการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารของประธานาธิบดีปิโนเชต์ในชิลีในปี 1988 แม้ระบอบการปกครองของทหารในชิลีจะมีความเข้มแข็ง แต่การประท้วงใหญ่ก็เป็นสัญญาณของความคลอนแคลนของอำนาจของทหาร หรือเป็นสัญญาณของการที่สังคมไม่กลัวกับอำนาจรัฐเผด็จการ และคนกล้าที่จะออกมาบนถนนเพื่อแสดงความเห็นต่าง

– คนงานประท้วงคอมมิวนิสต์โปแลนด์ : การก่อการประท้วงใหญ่ของคนงานท่าเรือในโปแลนด์ในปี 1980 จนถึงปี 1989 ที่ไม่เพียงทำให้รัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ต้องเผชิญปัญหาความชอบธรรมเท่านั้น หากยังส่งผลถึงอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลสหภาพโซเวียตในการควบคุมโปแลนด์อีกด้วย จนอาจต้องถือว่าการประท้วงใหญ่ที่เกิดขึ้นในโปแลนด์คือสัญญาณการเริ่มต้นของอำนาจของโซเวียตที่เริ่มถดถอยลง และเป็นดังจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสิ้นสุดของสงครามเย็นในปลายปี 1991

– การประท้วงแบ่งแยกผิว : การต่อสู้กับลัทธิแบ่งแยกผิวในแอฟริกาใต้ในช่วงทศวรรษ 1980 ได้ใช้การประท้วงใหญ่เป็นเครื่องมือของการต่อสู้เช่นกัน จนในท้ายที่สุดได้ทำให้รัฐบาลของคนผิวขาวต้องสิ้นสุดลง

– ฤดูใบไม้ผลิกลางทะเลทราย : หนึ่งในปรากฏการณ์การประท้วงครั้งสำคัญของการเมืองโลกร่วมสมัยคือ การลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับ ที่เริ่มต้นขึ้นจากการประท้วงใหญ่ในตูนิเซียในช่วงปลายปี 2010 ขยายตัวไปสู่อียิปต์ในต้นปี 2011 และขยายตัวไปในโลกตะวันออกกลาง จนต้องถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของโลกในศตวรรษที่ 21 ที่การประท้วงใหญ่ของประชาชนนำไปสู่การล้มระบอบเผด็จการในโลกอาหรับ จนถูกเรียกว่าเป็น “อาหรับสปริง” หรือเป็นดังการมาของ “ฤดูใบไม้ผลิในโลกอาหรับ” (The Arab Spring) แม้ในอีกด้านของอาหรับสปริงอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ในกรณีของลิเบีย และซีเรีย เป็นต้น

การต่อสู้ด้วยการ “ลงถนน” ของคนเป็นจำนวนมากในโลกอาหรับได้กลายเป็นแรงบันดาลใจทางการเมืองครั้งสำคัญสำหรับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเวทีโลก แม้ความสำเร็จจะไม่เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคได้จริง และในที่สุดรัฐประหารจะหวนคืนในการเมืองอียิปต์ในปี 2013 แต่ภาพการต่อสู้ของชาวอาหรับก็ยังเป็นตัวแทนของการต่อสู้กับระบอบเผด็จการเสมอ โดยเฉพาะการโค่นล้มระบอบเผด็จการในภูมิภาคตะวันออกกลางที่เดิมเคยมีความเชื่อว่าเป็นระบอบเผด็จการที่โค่นล้มไม่ได้

– ฤดูใบไม้ผลิบนเกาะเล็กๆ : การประท้วงใหญ่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014 และประท้วงใหญ่อีกครั้งในปี 2019 ต่อการขยายอิทธิพลของจีนในฮ่องกงจนทำให้รัฐบาลฮ่องกงมีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้นนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการรวมคนระหว่างนักศึกษากับประชาชนฮ่องกง ที่พวกเขาไม่ยอมรับต่อความพยายามที่จะทำให้ฮ่องกงอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองของรัฐบาลปักกิ่ง เพราะหลักการเดิมที่ถูกนำเสนอคือ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

การประท้วงใหญ่ในฮ่องกงได้รับการยกย่องว่าเป็น “ฮ่องกงสปริง” แต่ดูเหมือนทุกคนจะรู้ดีว่าการต่อสู้ของพวกเขาไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบชัยชนะ เพราะเขาต่อสู้กับรัฐบาลอำนาจนิยมที่เข้มแข็งที่สุดคือ รัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่ยอมรับการปฏิรูปทางการเมืองในฮ่องกง และขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับที่ฮ่องกงจะมีทิศทางที่เป็นเสรีนิยมมากขึ้น จีนต้องการฮ่องกงที่อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของคณะผู้บริหารที่เป็น “ปีกนิยมจีน” หรือเป็นฮ่องกงที่มีแต่ “ฤดูหนาว” เท่านั้น

– ฤดูใบไม้ผลิและความสูญเสียที่เมียนมา : การชุมนุมใหญ่หลังรัฐประหาร 2021 ในเมียนมา ของประชาชนจากสาขาอาชีพต่างๆ และจากกลุ่มการเมืองต่างๆ วันนี้คนไม่กลัวการปราบปราม แม้จะมีการเสียชีวิตและการถูกจับกุมเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่คนก็ยังลงถนนไม่หยุด จนเป็นเสมือน “ฤดูใบไม้ผลิ” กำลังเบ่งบาน และพิสูจน์ถึง “อำนาจประชาชนกับอำนาจปืน”

การต่อสู้ในอนาคต!

เหตุการณ์ที่ถูกหยิบยกมาในข้างต้นก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงบทบาทของปัจจัยการประท้วงใหญ่ในสังคมที่มีความคาดหวังว่าการประท้วงจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังได้กล่าวแล้วว่า ชัยชนะของการประท้วงใหญ่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสมอ แม้ในบางกรณีผลสืบเนื่องอาจจะไม่ได้เป็นไปตามความหวัง และประสบความพ่ายแพ้ ดังตัวอย่างเช่นกรณี “ฤดูใบไม้ผลิที่ปราก” ที่นำไปสู่การใช้กำลังของกองทัพโซเวียตเข้าปราบปรามผู้เรียกร้องเสรีภาพชาวเช็กอย่างรุนแรง ซึ่งวันนี้อาจจะไม่ต่างกับการต่อสู้อย่างเข้มแข็งของคนหนุ่มสาวต่อรัฐบาลทหารเมียนมาที่ประสบความสูญเสียอย่างมาก แต่พวกเขาก็ไม่ย่อท้อ สงครามการเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมายังดำเนินไปอย่างเข้มข้น

นอกจากนี้เราอาจจะต้องยอมรับว่า สงครามยูเครนในปัจจุบันเป็นผลผลิตที่ตามมาจาก “การปฏิวัติยูโรไมดาน” (The EuroMaidan Revolution) ที่เกิดจากการเรียกร้องของคนหนุ่มสาวในการสร้างประชาธิปไตยในยูเครนในปี 2014 เพราะชัยชนะของกระแสประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal Democracy) ที่ยูเครนนั้น คือความพ่ายแพ้ของระบอบอำนาจนิยมรัสเซีย จนสุดท้ายรัสเซียต้องใช้สงครามเป็นเครื่องมือจัดการกับการเติบโตของกระแสประชาธิปไตยในยูเครน ซึ่งหากปล่อยไว้อาจจะกลายเป็น “เชื้อไฟ” ที่ช่วยจุดกระแสประชาธิปไตยในสังคมรัสเซียเองด้วย

เราอาจจะต้องยอมรับความจริงที่ขมขื่นใจประการหนึ่งว่า ภาพการลุกขึ้นสู้ของประชาชนเป็นจำนวนมากที่กล้าท้าทายต่อระบอบเผด็จการ ต้องถือว่าความอบอุ่นของฤดูใบไม้ผลิกำลังมาเยือนแล้ว จนต้องถือว่าการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเสรีภาพอย่างกล้าหาญเป็นความสำเร็จในตัวเอง แม้ในบางกรณีอาจจะไม่สามารถนำไปสู่การโค่นล้มระบอบเผด็จการได้ก็ตาม เช่น กระแสลมของฤดูใบไม้ผลิจากฮ่องกงไม่มีทางที่จะมีลมแรงพัดจนทำให้รัฐบาลปักกิ่งต้องล้มไปด้วย หรือแม้กระทั่งการต่อต้านการ “ล้อมปราบ” ของรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างหนัก ก็มิได้หมายความว่าฤดูใบไม้ผลิเมียนมาจะพัดแรงพอที่จะทำให้ไฟของสงครามกลางเมืองลดความร้อนระอุลงแต่ประการใด

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้บอกเล่าเรื่องราวแต่เพียงประการเดียวคือ การต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการยังคงดำเนินต่อไป … ไฟสงครามการเมืองไม่เคยมอดดับ และมีการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่ผนวกเข้ากับผู้รักความเป็นธรรมเข้ามาเติมช่วยเป็น “เชื้อไฟ” อย่างดีให้กับการต่อสู้ที่เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง!

การลุกขึ้นสู้ในการเมืองไทย!

สังคมการเมืองไทยเองก็เคยเห็นความสำเร็จของการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชนอย่างกล้าหาญในปี 1973 (พ.ศ. 2516) และยังประสบความสำเร็จอีกครั้งในปี 1992 (พ.ศ. 2535) แม้จะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้งในการเมืองไทย แต่เราก็สามารถล้มระบอบเผด็จการได้ถึง 2 ครั้ง … สังคมไทยได้เห็นถึงการมาเยือนของ “ฤดูใบไม้ผลิ” ทางการเมืองถึง 2 ครั้ง แม้ในอีกด้านเราจะเผชิญกับการรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง จนเป็นดังการเดินใน “เขาวงกต” ของระบอบทหารที่ไม่จบสิ้น และแม้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยยังประสบการล้มลุกคลุกคลานอย่างต่อเนื่อง อันนำไปสู่การกำเนิดของ “ระบอบพันทาง” (hybrid regime) หรืออาจเรียกในทางทฤษฎีว่า “ระบอบกึ่งอำนาจนิยม” (semi-authoritarian regime) ในการเมืองไทยปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลผลิตโดยตรงของการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร 2014 เนื่องจากผู้นำรัฐประหารไทยไม่เคยคิดที่จะลงจากอำนาจอย่างแท้จริง พวกเขาจึงคิดสร้างกลไกรองรับต่อการมีอำนาจต่อเนื่อง จนอาจกล่าวได้เสมอว่า การเมืองไทยยัง “ติดกับดัก” อยู่กับวงจรอำนาจของผู้นำทหารไม่สิ้นสุด

แม้ “ฤดูใบไม้ผลิครั้งที่ 3” ในการเมืองไทยจะยังไม่มา แต่ฤดูหนาวที่บรรดาชนชั้นนำ ผู้นำทหารปีกขวา และกลุ่มพลเรือนอนุรักษ์นิยม เคย “แช่แข็ง” การเมืองไทยไว้นั้น ก็ไม่อาจดำรงภาวะ “ฤดูหนาว” ทางการเมืองไว้ได้ตลอดไป เสียงเรียกร้องทางการเมืองมีแต่ดังขึ้นไม่หยุด ภายใต้วิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายในรัฐ จนวันนี้ “ระบอบกึ่งอำนาจนิยม” หรือที่เรียกในอีกทางว่า “ระบอบสืบทอดอำนาจ” นั้น เผชิญกับความท้าทายอย่างมาก เพราะรัฐบาลพันทางของผู้นำรัฐประหารไม่เคยประสบผลสำเร็จในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคต

ดังนั้น ถ้าต้องให้ประชาชนตัดสินอนาคตของบรรดาผู้นำเหล่านี้ในอนาคต ไม่ว่าการตัดสินนี้จะเกิดจาก “บัตรเลือกตั้ง” หรือเกิดจาก “พลังบนถนน” ก็ตาม ผลของการตัดสินไม่น่าจะเป็นบวกกับพวกเขาเท่าใดนัก อันทำให้อนาคตการเมืองไทยในปี 2023 (พ.ศ. 2566) จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะท้าทายต่ออนาคตของผู้นำทหารที่อยู่ในการเมืองไทยได้ด้วยการ “สืบทอดอำนาจ” อย่างไม่เคยมีมาก่อน อนาคตและความอยู่รอดของระบอบพันทางไทยจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ท้ายบท

ในเงื่อนไขของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ขอเพียงประชาชนกล้าลุกขึ้นสู้ สุดท้ายแล้ว “ฤดูหนาว” ที่หนาวเหน็บจะถูกทำลายลงอย่างแน่นอน เช่นที่เราเห็นมาแล้วว่าระบอบอำนาจนิยมที่เข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์เคยถูกทำลายลงด้วย “อำนาจเท้าของประชาชนบนถนน” มาแล้ว และชัยชนะเช่นนี้จะพาสังคมย่างก้าวสู่ “ฤดูใบไม้ผลิ” ทางการเมืองได้อย่างแน่นอน …

บทความนี้ขอคารวะต่อการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชนทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในประเทศใดก็ตาม อีกทั้งไม่จำเป็นว่าพวกเขาจะชนะในการต่อสู้ที่เกิดขึ้นหรือไม่ ขอเพียงพวกเขาเหล่านั้นกล้าที่จะเดิน “ลงถนน” … ขอเพียงกล้าที่จะ “ประกาศเจตนารมณ์” ทางการเมือง อันจะเป็นดังการแสดงประชามติของประชาชนร่วมกันที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ใช่การต้องยอมจำนนอยู่กับ “อำนาจรัฐเผด็จการ” ที่ใช้กดหัวประชาชน

สำหรับอนาคตแล้ว ทางเลือกของประชาชนน่าจะมีอยู่ 2 เส้นทางคือ 1) “การลงถนน” ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลัน และ 2) “การลงเสียง” ด้วยการปฏิเสธบรรดาผู้สืบทอดอำนาจด้วยกระบวนการเลือกตั้งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่นกัน แต่ทางเลือกเช่นนี้ในอีกด้านก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองด้วยว่า พวกเขาจะเปิดทางเลือกเส้นไหนสำหรับประชาชน

สุดท้ายแล้วเราอาจต้องยอมรับว่าเส้นทางอนาคตการเมืองไทยในปี 2023 (พ.ศ. 2566) ดูจะเป็น “ทางแพร่ง” ที่ต้องตัดสินใจเลือกว่า เราทั้งหลายปรารถนาให้สังคมไทยเดินไปในทิศทางใด และกลุ่มผู้มีอำนาจก็ต้องเลือกด้วยว่า พวกเขาต้องการให้อนาคตการเมืองไทยจบลงด้วยการประท้วงใหญ่ หรือตัดสินด้วยการเข้าคูหาเลือกตั้ง แต่ทุกคนก็หวังว่าอนาคตจะต้องไม่จบลงด้วยการรัฐประหาร เพราะสังคมไทยเดินติดกับวนอยู่ใน “เขาวงกต” ของผู้นำการยึดอำนาจนานมากเกินไปแล้ว!

บทความนี้ขอจบด้วยคำเตือนใจของโทมัส เพน (Thomas Paine, 1737-1809) นักทฤษฎีการเมืองชาวอังกฤษ ที่กล่าวในปี 1802 ที่ว่า “การเลือกหรือการถอดถอน (ทางการเมือง) คืออภิสิทธิ์ของเสรีชน” และในทำนองเดียวกัน การประท้วงทางการเมืองก็คืออภิสิทธิ์ของเสรีชนด้วย!


You must be logged in to post a comment Login