- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
สถาบันโรคภูมิแพ้และหอบหืดสมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี จับมือพันธมิตร MOU รับมือความเสี่ยงโรคภูมิแพ้อาหารในโรงเรียน
สถาบันโรคภูมิแพ้และหอบหืดสมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี (SAIA) ลงนาม MOU ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส), คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ในความร่วมมือโครงการวิจัยเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้อาหารในโรงเรียนที่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้และแนวทางรับมือความเสี่ยงโรคภูมิแพ้อาหารในโรงเรียน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ปกิต วิชยานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาระหว่างสถาบันโรคภูมิแพ้และหอบหืดสมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี เปิดเผยว่า สถาบันโรคภูมิแพ้และหอบหืดสมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี (SAIA)ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ในการจัดทำโครงการวิจัยการประเมินความพร้อมของโรงเรียนในการดูแลนักเรียนที่แพ้อาหาร และ การพัฒนาสื่อดิจิทัลบนแอปพลิเคชัน เพื่อ่ให้ความรู้และเพิ่มพูนศักยภาพในการดูแลแก่บุคลากรของโรงเรียนและผู้ปกครองในการรักษาโรคแพ้อาหาร เพื่อรับมือกับอุบัติการณ์การแพ้อาหารที่เพิ่มขึ้นในโรงเรียน โดยดำเนินงานภายใต้ทุนวิจัยและพัฒนาจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สวรส) ปีพศ. 2565
“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะนำความรู้ที่ได้จากผลการวิจัยไปใช้สำหรับสร้างแนวทางให้ความรู้เกี่ยวกับโรคแพ้อาหารให้แก่บุคลากรในโรงเรียน ตลอดจนเขียนแนวทางปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยโรคแพ้อาหารในโรงเรียน ช่วยแก้ไขปัญหาของการแพ้อาหารในโรงเรียนที่เพิ่มขึ้น เนื่องด้วยปัจจุบันโรงเรียนไม่ทราบถึงประวัติการแพ้อาหารของเด็ก รวมถึงขาดระบบการจัดการเพื่อป้องกันการสัมผัสอาหารที่แพ้ และขาดระบบการดูแลช่วยเหลือเมื่อเด็กมีอาการแพ้อาหาร” ศ.เกียรติคุณ นพ.ปกิต กล่าว
โดยการดำเนินงานหลังจากนี้จะเริ่มต้นด้วยการเขียนแบบบันทึกการเก็บข้อมูลความรู้พื้นฐานโรคแพ้อาหารของบุคลากรในโรงเรียน ต่อด้วยการประสานกับทางโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการวิจัย สร้างในส่วนของแอปพลิเคชัน เพื่อลงข้อมูลการวิจัย จากนั้นจะเก็บข้อมูลจากบุคลากรในโรงเรียน นำลงในสื่อดิจิทัล ในรูปแบบของ LINE OA หรือ เว็บบล็อก
ดร.อดิภัทร ชัยชนะสกุล กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจดิจิทัล เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการวิจัยฯ เพื่อเพิ่มความตระหนักในปัญหาโรคแพ้อาหารและยกระดับการดูแลสุขภาพเด็กและผู้ป่วยในโรงเรียนที่เป็นโรคแพ้อาหารให้ได้รับการป้องกันและช่วยเหลืออย่างถูกต้องและทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอาการแพ้ที่รุนแรง โดย ทรู ดิจิทัล นำศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลและความเชี่ยวชาญ พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เชื่อมโยงระบบต่างๆ ครอบคลุม 3 ด้านหลัก ได้แก่ ระบบจัดเก็บข้อมูล การลงทะเบียน การประเมินความพร้อมของโรงเรียน เพื่อนำไปวิเคราะห์และประมวลผลในการวิจัย ระบบข้อมูลความรู้ในรูปแบบสื่อดิจิทัล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคแพ้อาหารและคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วย และ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลจากการสังเกตอาการของผู้ป่วย พร้อมแนะนำแนวทางการดูแลเบื้องต้นให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันทีที่พบอาการ ซึ่ง ทรู ดิจิทัล ได้ออกแบบแพลตฟอร์มให้ใช้งานง่าย และสามารถรองรับการใช้งานของโรงเรียนในโครงการที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปสู่บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ได้ในอนาคต สอดคล้องกับความมุ่งมั่นตั้งใจของทรู ดิจิทัล ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ศ.เกียรติคุณ นพ.ปกิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของโรคภูมิแพ้อาหารในสมัยก่อนหลักๆ จะเกิดจาก “กรรมพันธุ์” พ่อแม่สู่ลูก คือหากพ่อหรือแม่แพ้อาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง ลูกก็จะได้รับกรรมพันธุ์การแพ้อาหารชนิดนั้นมา 25% แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคแพ้อาหารทั้งคู่ ลูกก็จะได้รับกรรมพันธุ์การแพ้อาหารชนิดนั้นมา 75% ในปัจจุบันผู้ป่วยเด็กที่แพ้อาหารมีมากขึ้นหลายเท่าตัว ทั่วโลก ซึ่งอาจเกิดจาก “พฤติกรรม” ที่เปลี่ยนไปจากการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารที่สะอาด ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับเชื้อโรคน้อยลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เคยต่อสู้กับเชื้อโรคหันไปต่อสู้กับสารอาหารที่เข้าสู่ร่างกายแทนถือเป็นการทำงานอย่างผิดปกติต่อระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย อาหารส่วนใหญ่ที่คนไทยแพ้ ได้แก่ นมวัว ไข่ไก่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง และอาหารทะเล ซึ่งจะทำปฏิกิริยาต่อร่างกาย 5 ระบบ ได้แก่ ระบบผิวหนัง มีอาการเป็นลมพิษเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ผิวหนังอักเสบบวมรอบๆ ปากและตา ระบบหายใจ มีอาการจมูกอักเสบ หลอดลมอักเสบบวมบริเวณกล่องเสียงและหลอดลม เป็นหืด ระบบทางเดินอาหาร มีอาการคันปาก คันคอ คันลิ้น ปวดท้อง อาเจียน และลำไส้อักเสบเวลาถ่ายอาจมีเลือดปะปนออกมาด้วย ระบบประสาท มีอาการทำให้ผู้ป่วยมึนงง ระบบหัวใจ มีอาการความดันโลหิตต่ำ และอาจถึงขั้นเกิดอาการช็อกได้
“สำหรับโรคภูมิแพ้อาหารคนไทยบางส่วนอาจจะมองว่าไม่อันตราย ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง หากมีอาการแพ้อาจจะมีเพียงผื่นคันหรืออาการอื่นๆแค่เล็กน้อย ไม่ส่งผลต่อชีวิต แต่ความจริงแล้วหากผู้ป่วยมีการอาการแพ้มากกว่า 2 ระบบ หรือที่เรียกว่าอาการแพ้รุนแรง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยอาการหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ทางทีมวิจัยจึงหวังว่าโครงการนี้จะเป็นตัวช่วยให้บุคลากรและผู้ปกครองตระหนักและรู้เท่าทันโรคภูมิแพ้อาหารที่เกิดในโรงเรียน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจส่งผลถึงชีวิต” ศ.เกียรติคุณ นพ.ปกิต กล่าว
You must be logged in to post a comment Login