วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ผู้นำรุ่นใหม่สะท้อนมุมมองการศึกษาบนเวที FWE 2022 การประชุมระดับโลกด้านการศึกษา

On December 3, 2022

ผู้นำรุ่นใหม่สะท้อนมุมมองการศึกษาบนเวที FWE 2022 การประชุมระดับโลกด้านการศึกษาที่จัดครั้งแรกในไทย ชี้โลกเต็มไปด้วยเทคโนโลยี การศึกษาต้องก้าวทันความเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมเด็กเรียนรู้นอกตำรา

“กรวัฒน์ เจียรวนนท์” สตาร์ทอัพไทยผู้บุกเบิกธุรกิจเอมิตี้ เผยเรียนรู้เรื่องซอฟต์แวร์ด้วยตัวเองตั้งแต่ชั้นประถม ย้ำการเรียนรู้ไม่มีขีดจำกัด เสนอดึงผู้นำด้านเทคโนโลยีเชื่อมต่อระบบการศึกษา ขณะที่แอมะซอนมองว่าการศึกษาต้องปลูกฝังส่งเสริมเรื่องเทคโนโลยีให้เด็ก ด้าน โทนี่ เกา สตาร์ทอัพชื่อดังจากจีน สนับสนุนให้ทัศนคติในการเรียนรู้แก่เด็ก ๆ ให้มากที่สุด ส่วน ดร.ธาริต จากทรู ดิจิทัล พาร์ค เสนอสร้างความเท่าเทียม พร้อมเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ค้นหาความชอบ ลองผิด ลองถูก

ผู้นำรุ่นใหม่จากหลายประเทศได้ร่วมกันนำเสนอมุมมองด้านการศึกษาของตนเองซึ่งจะเป็นคนรุ่นต่อไปของสังคมโลกในอนาคต (Perspectives of the next generation) บนเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการศึกษาจากภาครัฐและเอกชนทั่วโลก “Forum for World Education 2022” ที่ สภาเพื่อการศึกษาระดับโลก(FWE) ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจเปลี่ยน การศึกษาปรับ รับแนวโน้มอนาคต” เมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดย นายกรวัฒน์ เจียรวนนท์ ซีอีโอ บริษัท เอมิตี (Amity) โซเชียล คลาวด์ คอมพานี ผู้นำรุ่นใหม่จากประเทศไทย กล่าวว่าการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไม่มีขีดจำกัด แต่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยแม้จะมีความรู้ทั้งเรื่องของวิทยาศาสตร์ การพัฒนา software หรือ hardware แต่ก็มีอยู่เพียงแค่ในตำรา ซึ่งไม่เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจอย่างรวดเร็ว สิ่งที่สำคัญที่สุดที่อยู่นอกเหนือจากตำรา อย่างเช่น นวัตกรรมต่าง ๆ เราพบว่าความรู้และทักษะจะได้มาจากการปฏิบัติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลที่มีการเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว ตรงนี้เป็นช่องว่างที่ความรู้ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีความรู้ที่ไม่ครอบคลุม ดังนั้นถ้าสถาบันการศึกษาต่าง ๆ นำบริษัทที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเชื่อม หรือนำผู้เรียนให้เข้ามามีประสบการณ์กับสิ่งเหล่านี้มากขึ้นจะมีประโยชน์มาก ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ในระบบการศึกษา

“ผมได้เรียนรู้เรื่องของ Software เขียน Code และการใช้โปรแกรมต่าง ๆ ตั้งแต่เรียนระดับชั้นประถมศึกษา พออายุ 10 ปีก็สามารถทำเว็บไซต์ได้แล้ว ซึ่งการเรียนรู้ต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในการค้นพบความถนัดของตนเอง” นายกรวัฒน์ กล่าว

ขณะที่ มร.รูเบ็น จายาซิงค์ (Mr.Reuben Jayasinghe) หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมดิจิทัล-อาเซียน แอมะซอน เว็บ เซอร์วิส (Amazon Web Services – AWS) กล่าวว่าตอนนี้โลกของเราเต็มไปด้วยเทคโนโลยี เด็ก ๆ ของเราต้องพบและใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มากมายจนข้อมูลต่าง ๆ ล้นไปหมด ดังนั้นทักษะที่สำคัญคือการคิดวิเคราะห์และประเมินว่าคำตอบไหนเป็นคำตอบที่น่าเชื่อถือและเป็นข้อเท็จจริง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ควรจะได้รับการปลูกฝังจากระบบการศึกษาในปัจจุบัน

“ต่อจากนี้จะต้องมีการออกแบบการศึกษาให้เหมาะสมกับกับเด็กแต่ละคนมากขึ้น เพื่อให้เด็กแต่ละคนได้รับการส่งเสริมสนับสนุนที่เหมาะสม การเรียนรู้จะต้องส่งเสริมให้เกิดการตั้งถามคำถามให้มากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น การเรียนรู้ต้องพร้อมที่จะให้เด็กได้ลองเสี่ยงในสิ่งใหม่ ๆ ให้เขาได้ลองผิด ลองถูก ซึ่งจะทำให้เขาค้นพบเส้นทางใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรจะส่งเสริมจะทำให้เขาเติบโตและพร้อมที่จะเป็นเถ้าแก่หรือเจ้าของธุรกิจในอนาคตได้มากขึ้น” มร.รูเบ็น จายาซิงค์ กล่าว

ด้าน มร. โทนี่ เกา (Mr.Tony Gao) ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Easy Transfer แพลตฟอร์มบริการชำระเงินค่าเล่าเรียนออนไลน์ชั้นนำสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่อายุน้อยที่สุดในโลก กล่าวว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดในการศึกษาสำหรับยุคใหม่ก็คือ ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ได้ลองเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ให้มากที่สุด เรียนรู้ด้วยตัวเองว่า สนใจอะไร ชอบอะไร ถนัดเรื่องอะไร ตามหาสิ่งที่ตัวเองรักและชอบให้เร็วมากที่สุด แล้วก็มุ่งเรียนรู้ไปตามสิ่งนั้น โดยเฉพาะทัศนคติในการเรียนรู้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะเข้ามาได้เป็นอย่างดี

ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ จาก True Digital Park มีมุมมองว่า ในสมัยเรียนทุกครั้งที่มีการออกไปทัศนศึกษานอกสถานที่ จะรู้สึกมีความสุขมากที่ได้เปิดโลกทัศน์และรับรู้เรื่องอะไรใหม่ๆ ดังนั้นจึงเห็นว่าทุกโรงเรียนควรต้องเพิ่มจัดกิจกรรมทัศนศึกษาเพื่อเพิ่มแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ

“เรื่องของระบบการศึกษา เราควรสร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางการศึกษาให้มากที่สุด โดยกระจายความเท่าเทียมออกไปให้ทั่วถึงในชนบท และสิ่งสำคัญก็คือการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ค้นหาความชอบ ลองผิดลองถูก เพื่อหาสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตนเอง”ดร.ธาริต กล่าว


You must be logged in to post a comment Login