วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

สธ.-สสส. สานพลังเปิดพื้นที่ต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก

On December 18, 2022

สธ.-สสส. สานพลังเปิดพื้นที่ต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก ให้เด็กทุกคนมีโอกาสเล่นภายใต้ 4P พัฒนาทักษะ คู่ขนานการศึกษาในระบบ เดินหน้าขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น อุดช่องว่างเด็กเข้าไม่ถึงแหล่งเรียนรู้ 

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเด็ก ซึ่งเป็นอนาคตขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยที่เป็นช่วงเริ่มต้นของชีวิต สธ. ร่วมกับหลายภาคส่วนจัดงาน “มหกรรม Play Day สร้างโอกาสเล่น เพื่อเด็กทุกคน” ครั้งที่ 4 ขึ้นที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อส่งเสริมการ “เล่น” หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตพร้อมก้าวสู่โลกอนาคต สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ภายใต้วิสัยทัศน์ “เด็กปฐมวัยทุกคนมีพัฒนาการอย่างครบล้วน เต็มตามศักยภาพ คำนึงถึงคุณภาพความเท่าเทียมและความจำเป็นชั้นพื้นฐานของเด็กปฐมวัย เพื่อนำไปสู่ความเป็นพลเมืองคุณภาพ” โดย สธ. ได้ประกาศนโยบายเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก เมื่อปี 2563 และสร้างกระแส Play Day สร้างโอกาสเล่นเพื่อเด็กทุกคน พร้อมพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกนำร่องในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยให้คลอบคลุมทุกจังหวัด ภายใต้ 4P 1.Play Space : พื้นที่เล่น 2.Play Process : กระบวนการเล่น 3.Play Worker : ผู้อำนวยการเล่น และ 4.Play Management Unit : หน่วยบริหารจัดการการเล่น เพื่อสนับสนุนให้เด็กไทยได้เล่นทุกที่ ทุกเวลาอย่างเหมาะสม

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่เล่น ให้เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน คู่ขนานไปกับระบบการศึกษา หัวใจสำคัญของการเปิดพื้นที่เล่น คือ การให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระตามธรรมชาติของเด็ก โดยผู้อำนวยการเล่นเพียงจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ไว้ ต่างจากการเข้าไปจัดกิจกรรมที่ผู้ใหญ่กำหนดให้เด็กทำแบบนั้นแบบนี้ การปล่อยให้เด็กได้เล่นอิสระ จะทำให้เขามีความสุข ได้พัฒนาการตามช่วงวัย ช่วยเพิ่มความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ลดความเนือยนิ่งจากการอยู่กับหน้าจอและเพิ่มกิจกรรมทางกาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่า เด็กทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดขนาดเล็ก มีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ทำให้เด็กจำนวนมากใช้เวลาว่างนอกเวลาเรียนไปกับหน้าจอมือถือ ขาดโอกาสเรียนรู้ในเวลาว่างผ่านการเล่น หรือการลงมือทำ สสส. จึงสานพลังกับ สธ. และภาคีเครือข่าย จัดพื้นที่เล่นนำร่องหลายรูปแบบที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนแต่ละกลุ่ม ทั้งในสถานศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด


You must be logged in to post a comment Login