วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ศจย.เผยผลวิจัยบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย

On December 22, 2022

ศจย. เผยผลวิจัย ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ “มากกว่า 7,000 ชิ้น” ยืนยันบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายต่อระบบต่างๆ ของร่างกายชัดเจน ชี้ ไอบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ “มากกว่า 100 ชนิด”

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการวามรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ตามที่มีข่าวปรากฏเกี่ยวกับรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ ของกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎรนั้น ความเห็นของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ฯ เกี่ยวกับแนวทางบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยคือ ยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนในระยะยาว ทั้งนี้จากรายงานวิจัยของ NASEM (National Academies of Science, Engineering and Medicine, USA) ตั้งแต่ปี 2018-2021 มีรายงานวิจัยใหม่ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์มากกว่า 7,000 ชิ้น พบอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าต่อระบบต่างๆ ของร่างกายชัดเจน โดยบ่งชี้ถึงผลกระทบของไอบุหรี่ไฟฟ้าต่อระบบทางเดินหายใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ซึ่งนักวิจัย นักวิชาการทั่วโลกรวมถึงไทยที่ห่วงใยถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้า ต่างเรียกร้องให้ออกมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

“สอดคล้องกับรายงานของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University – ANU) ค.ศ.2022 ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพในไอบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษมากกว่า 100 ชนิด ซึ่งอันตรายของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและการทำงานของสมองโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่แต่มาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า  และรายงานสรุปพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของ ANU ปี 2020 พบว่าอัตราการสูบบุหรี่มวนลดลงได้ด้วยมาตรการทางกฎหมายและการให้บริการช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งในกลุ่มคนที่เลิกบุหรี่ได้ส่วนใหญ่ใช้วิธีหักดิบ (cold turkey) ส่วนอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากลับค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุ 14-17 ปี ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า และพบว่าผู้ที่เคยสูบบุหรี่ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยเลิกบุหรี่มีโอกาสกลับเป็นผู้สูบบุหรี่ซ้ำสูง” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในรายงานของกรรมาธิการการพาณิชย์ฯ ฉบับนี้ ยังมีข้อเสนอแนะถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้าผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าที่ผิดกฎหมายคือ การเข้าร่วมพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย ในกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก และในรายงานฉบับนี้ ไม่มีส่วนใดเลยที่เสนอให้ยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งรัฐสภา จึงต้องสนับสนุนนโยบายนี้ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า และไม่ให้เกิดหายนะทางสาธารณสุข เช่นที่กำลังเกิดขึ้นกับอังกฤษ ที่พบเด็กอายุ 15 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 18% โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงกว่าเด็กผู้ชาย เพิ่มจาก 10% เป็น 21% ระหว่างปี 2018-2021 เด็กที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจาก 29% เป็น 61% และนิวซีแลนด์ พบเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหลังยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้าจาก 1.8% เมื่อปี 2018 เพิ่มเป็น 9.6% ในปี 2021 แม้ว่าประเทศเหล่านี้มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี


You must be logged in to post a comment Login