วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เปิดตัวโครงการพัฒนากำลังคนสำหรับระบบการทวนสอบก๊าซเรือนกระจกในประเทศและระดับสากล

On December 28, 2022

หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านพลังงานเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Center of Excellence for Eco-Energy: CEEE) ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ดำเนินการเปิดตัว “โครงการพัฒนากำลังคนสำหรับระบบการทวนสอบก๊าซเรือนกระจกในประเทศและระดับสากลเพื่อตอบสนองเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ” เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Eternity Ballroom โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ

โดยในพิธีเปิดตัวโครงการฯ นี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) มาเป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านการประเมินการรายงานก๊าซเรือนกระจก พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านการทวนสอบก๊าซเรือนกระจกให้มีคุณสมบัติพร้อมเป็นผู้ทวนสอบได้และเพิ่มขีดความสามารถให้หน่วยงานในประเทศไทยสามารถรับรองระบบเพื่อรับรองรายงานก๊าซเรือนกระจกที่เป็นมาตรฐานสากล หรือ เทียบเท่าได้ การดำเนินการโครงการฯ ประกอบไปด้วยการอบรมหลักสูตรทั้งหมด 4 หลักสูตร ได้แก่

  1. หลักสูตร 1: อบรมหลักสูตรพื้นฐาน

เหมาะสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่มาจากภาคอุตสาหกรรม และองค์กรที่มีความประสงค์ในการอนุเคราะห์กรณีศึกษา (Case Study) เพื่อประเมินก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร (Carbon Footprint of Organization: CFO) หรือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER)

  1. หลักสูตร 1: อบรมหลักสูตรพื้นฐาน ร่วมกับ หลักสูตร 2: อบรมผู้ทวนสอบ

เหมาะสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่มาจากองค์กรที่มีความประสงค์ในการพัฒนาเป็นที่ปรึกษาและผู้ทวนสอบ เช่น บุคลากรที่มาจากหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน หน่วยงานอุดมศึกษา หน่วยงานอิสระ เป็นต้น

  1. หลักสูตร 3: พัฒนาผู้ทวนสอบให้มีองค์ความรู้พร้อมสำหรับการรับรองระบบงาน

เหมาะสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่มาจากองค์กร/หน่วยงานที่ต้องการพัฒนาเป็นหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบ (Validation and Verification Body: VVB) ที่ได้รับการรับรองระบบงาน และมีความรู้เทียบเท่าหลักสูตร 1 และหลักสูตร 2

  1. หลักสูตร 4: หลักสูตรขยายขอบเขตการตรวจรับรองมาตรฐานสากล

เหมาะสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่มาจากองค์กร/หน่วยงานที่อยู่ในหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบ (VVB) ที่ได้รับรองระบบงาน ISO 14065 แล้ว และมีความรู้เทียบเท่าหลักสูตร 1 และหลักสูตร 2

การดำเนินงานภายใต้โครงการฯ ได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาคต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่นองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน (อาร์อี 100) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการสื่อสารพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) หน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานเอกชน

ในวันงานเปิดตัวโครงการฯ มีการบรรยายจากวิทยากรหลายภาคส่วน ได้แก่ การบรรยายในหัวข้อ “ความสำคัญของการรายงานก๊าซเรือนกระจก และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง” โดย คุณธาดา วรุณโชติกุล อบกฯ การบรรยายในหัวข้อ “การรับรองระบบงานของมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจก” โดย คุณรัฏฐา ศรีเจริญ นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ สมอฯ และแนะนำรายละเอียดของโครงการฯ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช อุศุภรัตน์ รองหัวหน้าศูนย์ CEEE โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ กว่า 100 ท่าน

สำหรับบุคลากรที่ผ่านโครงการนี้ จะมีทักษะด้านการประเมินการรายงานก๊าซเรือนกระจก ทักษะด้านการทวนสอบก๊าซเรือนกระจกและมีความสามารถเป็นหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบ (Validation and Verification Body: VVB) ที่ได้รับการรับรองระบบงาน เพื่อรับรองรายงานก๊าซเรือนกระจกที่เป็นมาตรฐานสากล หรือ เทียบเท่าได้


You must be logged in to post a comment Login