วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เรื่องชีวิต ต้องคิดให้หนัก

On December 30, 2022

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่   30 ธ.ค.  65)

มนุษย์มิได้เป็นผู้สร้างชีวิต  แต่มนุษย์มีชีวิตขึ้นมาได้เพราะมนุษย์มีวิญญาณที่พระเจ้าให้มา   ชีวิตมนุษย์จึงเป็นของพระเจ้า

ไม่เพียงแต่ชีวิตมนุษย์เท่านั้น  แม้แต่ชีวิตสัตว์และพืชทั้งหมดก็เป็นของพระเจ้า  พระเจ้าสร้างสัตว์ขึ้นมาก็เพื่อให้มนุษย์นำเนื้อ หนัง  กระดูกและตัวของมันไปใช้ประโยชน์

ชีวิตคนและสัตว์จึงมีค่าและความหมาย  นั่นคือเหตุผลที่คำสอนของทุกศาสนาและกฎหมายจึงห้ามการฆ่าหรือการเอาชีวิตนอกจากจะได้รับการอนุญาตจากพระเจ้าผู้เป็นเจ้าของชีวิต และการทำลายชีวิตต้องได้รับโทษด้วยชีวิตแบบตาแทนตา ฟันแทนฟันตามที่พระเจ้าผู้เป็นเจ้าของชีวิตกำหนดไว้

นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม  หากมุสลิมจะนำเนื้อสัตว์ที่พระเจ้าประทานให้มาเป็นอาหาร มุสลิมต้องขออนุญาตต่อพระเจ้าผู้เป็นเจ้าของชีวิตสัตว์ก่อนด้วยการกล่าวว่า “บิสมิลลาฮ์ อัลลอฮุอักบัรฺ” เนื้อของสัตว์นั้นจึงเป็นที่อนุญาต(ฮะลาล)ให้กิน  เนื้อของสัตว์ที่เชือดโดยไม่กล่าวนามของพระเจ้าจึงถือว่าเป็นเนื้อต้องห้าม เพราะเนื้อนั้นไม่ต่างอะไรไปจากเนื้อที่ขโมยมา แม้เนื้อนั้นจะเป็นเนื้อไก่หรือเนื้อแพะ เนื้อวัวก็ตาม

ไม่เพียงเท่านั้น  การล่าสัตว์เพื่อความสนุกสนาน  มิใช่เพื่อนำมาเป็นอาหารก็เป็นที่ต้องห้ามด้วยเช่นกัน เพราะมันเป็นการทำลายชีวิตอย่างไร้วัตถุประสงค์

กฎหมายที่มาจากพระเจ้ากำหนดให้ลงโทษฆาตกรด้วยการประหารชีวิตก็เพื่อรักษาชีวิตอื่นๆมิให้ถูกฆ่าเพราะความต้องการแก้แค้นจากทายาทของผู้ถูกฆ่า  บทบัญญัติลงโทษแบบตาแทนตา  ฟันแทนฟันนี้มีกล่าวไว้ในโตราห์ที่พระเจ้าประทานแก่โมเสสซึ่งปัจจุบันสามารถพบได้ในคัมภีร์ไบเบิล ฉบับพันธสัญญาเก่า

ด้วยบทลงโทษเช่นนี้ทำให้คนที่คิดจะฆ่าคนอื่นต้องคิดแล้วคิดอีก  สังคมจึงปลอดภัย

หลังสมัยของโมเสส  เยซัสไครสต์ถูกส่งมายืนยันธรรมบัญญัติเดิมที่พระเจ้าประทานแก่โมเสส นั่นหมายความว่าพระเจ้าผู้เป็นเจ้าของชีวิตอนุญาตให้เอาชีวิตของผู้ทำลายชีวิต

หลังสมัยเยซัสไครสต์ 570 ปี  นบีมุฮัมมัดถูกส่งมาเพื่อยืนยันธรรมบัญญัติเดิมที่พระเจ้าประทานแก่โมเสสด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ เพื่อรักษาชีวิต

ในขณะที่นบีมุฮัมมัดปกครองรัฐมะดีนะฮฺด้วยกฎหมายอิสลาม  ที่นั่น มีชุมชนชาวยิวอาศัยอยู่  ตามข้อตกลงที่ชาวยิวทำไว้กับนบีมุฮัมมัด  หากชาวยิวเกิดกรณีพิพาท ชาวยิวจะให้นบีมุฮัมมัดเป็นผู้ตัดสิน  ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีทำร้ายร่างกายในหมู่ชาวยิว  นบีมุฮัมมัดจะถามผู้รู้ชาวยิวว่ากฎหมายในคัมภีร์ของชาวยิวตัดสินอย่างไรและท่านจะตัดสินไปตามนั้น บทลงโทษในคัมภีร์ของชาวยิวจึงไม่ต่างไปจากบทลงโทษในคัมภีร์กุรอานเพราะมาจากพระเจ้าองค์เดียวกัน  บทลงโทษนี้เรียกในภาษาอาหรับว่า “กิศอศ”

อย่างไรก็ตาม  บทลงโทษประหารชีวิตฆาตกรตามกฎหมายอิสลามต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่กฎหมายอิสลามแตกต่างไปจากกฎหมายที่มนุษย์ร่างขึ้นมาก็คือ หากศาลพิสูจน์ได้แล้วว่าฆาตกรเป็นผู้ฆ่าจริง  ศาลจะให้ทายาทผู้ถูกฆ่าเลือกว่าจะให้ศาลศาลตัดสินประหารชีวิตฆาตกรตามกฎ “กิศอศ” หรือจะให้อภัยฆาตกร  ถ้าทายาทเลือกให้ศาลใช้กฎ “กิศอศ”  ศาลก็ต้องตัดสินประหารชีวิตฆาตกรสถานเดียว เพราะมันเป็นบทบัญญัติของพระเจ้า  แต่ถ้าหากทายาทให้อภัย  ศาลจะไม่ประหารชีวิตฆาตกร แต่จะใช้ดุลพินิจลงโทษฆาตกรด้วยการจำคุกหรือจ่ายค่าสินไหมแก่ทายาท หรือทั้งสองอย่าง

หลังยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ  ผู้มีแนวความคิดโลกานิยม(Secularism)ได้ร่างกฎหมายขึ้นมาใช้เองโดยปฏิเสธคำสอนของศาสนา หนึ่งในนั้นคือการยกเลิกบทลงโทษด้วยการประหารชีวิตและใช้คำพูดสวยงามอธิบายว่ากฎหมายลงโทษประหารชีวิตฆาตกรเป็นกฎหมายป่าเถื่อน  ไร้ความเมตตา โดยลืมไปว่าความเมตตาต่อฆาตกรนั้นคือทารุณกรรมต่อเหยื่อ

เมื่อมนุษย์ร่างกฎหมายขึ้นมาเองโดยไม่คำนึงถึงพระเจ้าผู้เป็นเจ้าของชีวิต  การสังหารชีวิตมนุษย์ก็เริ่มแพร่หลายและรุนแรงมากขึ้น  การสังหารหมู่และการเข่นฆ่าประชาชนจำนวนมากที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในสงครามรุกรานหลายครั้งทำให้ประเทศมุสลิมเริ่มคิดที่จะหันมาใช้กฎหมายอิสลาม (ชะรีอ๊ะฮฺ) ในขณะที่ชาติมหาอำนาจพยายามจะคัดค้านความคิดดังกล่าว  จะด้วยเหตุผลอะไร ผู้อ่านแค่มีสมองเพียงน้อยนิดก็คิดได้


You must be logged in to post a comment Login