วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

1 ปีหมอกระต่ายสูญเสียแต่ไม่สูญเปล่า…. สู่วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน

On January 22, 2023

“การเกิดอุบัติเหตุจนทำให้มีผู้เสียชีวิต เป็นเรื่องเลวร้าสำหรับครอบครัวที่สูญเสีย สำหรับพ่อเวลา 1 ปี เป็นช่วงเวลาที่สั้นครอบครัวยังโศกเศร้า อาลัย ไม่มีสิ่งใดบรรเทาได้ แต่เราจะต้องปรับตัวให้อยู่อย่างมีคุณภาพได้….ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นความเปลี่ยนแปลงในครอบครัว และพ่อหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม สิ่งที่เห็นในตอนนนี้คือการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของทางข้าม ที่ได้เห็นมีการกำหนดจุดเตือน ติดตั้งสัญญาณจราจรเพิ่มขึ้น”

สิ้นเสียงของคุณพ่อของพ่อกระต่าย หรือ นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล ที่ได้กล่าวในกิจกรรม เครือข่าย จัดกิจกรรม “21 ม.ค. รำลึก 1 ปี หมอกระต่าย สู่วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” และ“หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ครั้งที่ 12 เพื่อรำลึกถึง พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย ที่ประสบอุบัติเหตุถูกรถบิ๊กไบค์ชน ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต ที่ โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ จัดโดยคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย

“ผ่านมา 1 ปี เป็นความรู้สึกที่เร็วมาก ครอบครัวยังต้องปรับตัวกับความสูญเสีย และสู้ต่อในทุกๆ วัน พยายามใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์กับสังคมให้ได้มากที่สุด หลังสูญเสียลูกสาว ทำงานทุกวันเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและจิตใจ ให้ก้าวเดินต่อไปได้ในทุกวินาที เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปสำหรับคนเป็นพ่อแม่” นั่นคือสิ่ง นพ.อนิรุทธ์ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นว่ามีผลกระทบอย่างไรกับครอบครัวของผู้สูญเสีย

ที่ผ่านมา กทม. คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้งเสริมสุขภาพ(สสส.) มูลนิธิเมาไม่ขับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.)และภาคีเครือข่ายอีกกว่า 100 องค์กร ร่วมจัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” มาอย่างต่อเนื่องทุกเดือนตลอด 1 ปีนับตั้งแต่เกิดเหตุ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 12 เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นจริงในสังคมอย่างยั่งยืน ผ่านกลไกของวุฒิสภา โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากทุกฝ่าย

21 ม.ค. ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า การเสียชีวิตคุณหมอกระต่าย เป็นความสูญเสียที่สะเทือนใจต่อสังคม สะท้อนความเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน ที่ไม่สมควรเกิดขึ้นอีก จากข้อมูล 3 ฐานรวบรวมโดยกระทรวงสาธารณสุข 10 ปีย้อนหลัง พบการเสียชีวิตของคนเดินเท้าเฉลี่ย 1,000 ราย/ปี เกือบ 50% เกิดจากรถจักรยานยนต์ 1 ใน 3 เกิดขึ้นในเขตเมือง และในความสูญเสียครั้งนี้ได้แปรเปลี่ยนเป็นพลังที่สำคัญ และได้มีการจัดกิจกรรมร่วมกับเครือยข่าย “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” มาอย่างต่อเนื่องทุกเดือนมาเป็นเวลา 1 ปีในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566  และในวันนี้เป็นข่าวดีของชาวไทยที่รัฐบาลได้ยกระดับ ความสำคัญ ให้วันที่ 21 ม.ค. ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน จึงนับเป็นวันสำคัญของประเทศไทยอีกวันหนึ่ง

รำลึกถึงคุณหมอกระต่ายและส่องแสงไปสู่ “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน”

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากการรณรงค์ “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีนั้น ด้วยความมุ่งหมายที่อยากให้มีวัฒนธรรมของการ “หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย” และเน้นย้ำถึง “การลดความเร็วรถในพื้นที่เขตเมืองและชุมชน” และ “ขอให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง” เชื่อว่าการทำงานร่วมของทุกหน่วยงานที่ผ่านมา 1 ปี เกิดผลเป็นที่น่ายินดี เพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในพื้นที่ กทม.ค่อนข้างมาก อาทิ การปรับปรุงพื้นที่ทางข้ามทางม้าลายให้ชัดเจนขึ้นและมีการติดตั้งสัญญาณไฟสำหรับคนเดินข้ามถนนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้อมูลของ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ได้ชี้ชัดว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นคนเดินเท้า ในปี 2565 ลดลงถึง 12% จากปี 2564 โดยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ถึง 81 ชีวิต ถือว่าการทำงานร่วมของทุกภาคส่วนไม่สูญเปล่า และจะเป็นแสงสว่างให้กับประเทศไทยที่จะมีถนนที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น เหมือนเช่นในวันนี้ที่ทุกคนมาร่วมส่งแสงเพื่อรำลึกถึงคุณหมอกระต่ายและส่องแสงไปสู่ “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน”

สสส. คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ มูลนิธิเมาไม่ขับโดย นพ.แท้จริง ศิริพานิช และภาคีเครือข่าย มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันต่อเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางถนน โดยเน้นไปที่การทำให้ สังคมและประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกิดความตระหนักและมีส่วนร่วมกันทำให้พื้นที่ทางม้าลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนข้ามถนนและผู้ขับขี่ ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีวินัยจราจรเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100% ให้เกิดขึ้นจริง ตามนโยบายของ ศปถ. เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่จะช่วยดึงยอดการเสียชีวิตและความสูญเสียของกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในบ้านเราลงให้ได้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนอย่างยั่งยืนต่อไป

กทม.ร่วมสนับสนุนปรับปรุงซ่อมแซมทางม้าลาย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ต้องทำทุกอย่างขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย และรณรงค์ให้คนตระหนักรู้ ปัจจุบันนี้มีการรณรงค์ทุกเขตเรื่องการข้ามทางม้าลาย ในภาพรวมเริ่มดีขึ้น เราเริ่มเห็นรถหยุดให้คนข้ามทางม้าลายมากขึ้น ต้องช่วยกัน ทุกคนมีส่วนให้เมืองนี้ปลอดภัยขึ้นได้”

ทั้งนี้ นายชัชชาติ ระบุว่า ได้มีการรายงานถึงการปรับปรุง ซ่อมแซม และเพิ่มเติม ทางม้าลาย และสัญญาณไฟจราจร ที่ได้ทำไปแล้วในปี 2565 คือ ล้างทางม้าลายไปแล้ว 421 แห่ง ทำทางข้ามสีโคลด์พลาสติก (สีแดง) 145 แห่ง ปรับปรุงทางม้าลายสีขาวที่จางและชำรุด 1,000 แห่ง ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร 4 แห่ง สัญญาณไฟข้ามทางม้าลาย 85 แห่ง สัญญาณไฟกะพริบเตือน 50 แห่ง ในปี 2566 มีเป้าหมายดำเนินการล้างทางม้าลายอีก 500 แห่ง ทาสีโคลด์พลาสติกเพิ่ม 210 แห่ง ปรับปรุงซ่อมแซมทางม้าลายสีขาว 500 แห่ง ติดสัญญาณไฟจราจรเพิ่ม 2 แห่ง สัญญาณไฟกะพริบเตือน 50 แห่ง และยังมีอีกหลายโครงการเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนที่กำลังดำเนินการ เพราะเรื่องของหมอกระต่ายถือเป็นบทเรียนราคาแพง และกรุงเทพมหานครพร้อมปรับปรุงและดำเนินการนโยบายด้านนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงรณรงค์เรื่องการใช้กฎหมายให้เข้มข้นขึ้น

สุดท้าย นพ.อนิรุทธ์ กล่าวสรุปว่า วันที่ 21 ม.ค. คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้เป็นวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน จึงอยากให้ภาครัฐเข้มข้นกับนโยบายเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน และทุกหน่วยงานเห็นความสำคัญของเรื่องนี้อย่างแท้จริง 1 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีการปรับปรุงกายภาพถนนมากขึ้น แต่อย่าลืมว่าสังคมเมืองหลวงเป็นสังคมหนาแน่น กฎหมายจราจรต้องเดินหน้าไปพร้อมกับบริบทที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการขับขี่ที่ไม่คำนึงถึงคนเดินเท้า เพื่อให้เกิดการปรับพฤติกรรม นอกจากนี้ต้องปลูกฝังเด็ก-เยาวชน ผ่านระบบการศึกษา และผู้ปกครอง ครู ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี


You must be logged in to post a comment Login