วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย เปิดตัว 11 เครือข่ายผู้ป่วยออโธปิดิกส์

On January 25, 2023

กรุงเทพ ห้องสัมมนา 4-6 ชั้น P3 อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี วานนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์กีรติ เจริญชลวานิช นายกสมาคมออร์ปิดิกส์แห่งประเทศไทย พร้อมทีมคณะหัวหน้าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นำโดย นพ.บัญชา ชื่นชูจิตต์ หัวหน้าฝ่ายบริการวิชาการ สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ผู้จัดตั้งโครงการ “11 เครือข่ายผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์” และหัวหน้าแพทย์ผู้ดูแลแต่ละเครือข่าย ร่วมเปิดตัวการจัดตั้ง “11 เครือข่ายผู้ป่วยออโธปิดิกส์” (TOA 11 Patient Support Groups) ภายใต้การดูแล และร่วมมือของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านระดับชั้นนำจากทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนสังคมผู้ป่วยโรคเดียวกัน สร้างกลุ่มผู้ช่วยเหลือ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน รวมถึงเพื่อเรียนรู้การดูแลรักษา และป้องกันตนเองจากโรคในเบื้องต้น

ในภาคของการรักษา 11 กลุ่มโรค จะเป็นรวมตัวของกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออโธปิดิกส์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะโรค เพื่อทำให้เกิดการร่วมประชุม พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิชาการ และประสบการณ์ระหว่างกัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโรค ทำให้แพทย์สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์กีรติ เจริญชลวานิช นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวสรุปว่า “การก่อตั้งเครือข่ายครั้งนี้ ถือเป็นวาระสำคัญที่คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคออโธปิดิกส์จะได้ทำหน้าที่แทนประชาชน เป็นกระบอกเสียงภาคประชาชน ต่อภาครัฐ และเป็นอาสาสมัคร เพื่อให้ประชาชน ผู้ป่วยโรคกลุ่ม 11 โรคออร์โธปิดิกส์ ได้สามารถเข้าถึงบริการตามนโยบายสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง”

นับเป็นครั้งแรกที่ ผู้ป่วย 11 โรคออร์โธปิดิกส์ โรคเกี่ยวกับกระดูกและไขข้อ จะได้เข้าถึงและรู้จักแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่สามารถให้ความช่วยเหลือแนะนำผู้ป่วยเฉพาะโรคได้อย่างตรงจุด โดยแบ่งเป็นโรคดังต่อไปนี้

1. กลุ่มโรคข้อไหล่ในผู้สูงอายุ โดย นายแพทย์ เอกวิทย์ เกยุราพันธ์ และนายแพทย์ ประภาศิต ชนะสิทธิ์   

2. กลุ่มเส้นเอ็นขาดและหมอนรองข้อเข่าแตกจากกีฬา โดย นายแพทย์ เสริมศักดิ์ สุมานนท์ และนายแพทย์ วิรัตน์ คงเจริญสมบัติ  

3. กลุ่มโรคข้อสะโพกเสื่อม โดย นายแพทย์ ยิ่งยง สุขเสถียร และนายแพทย์ จตุรงค์ พรรัตนมณีวงศ์     

4. กลุ่มโรคข้อเข่าเสื่อม โดย นายแพทย์ ปิยะ ปิ่นศรศักดิ์ และนายแพทย์ วิบูลย์ วาณิชย์เจริญพร  

5. กลุ่มโรคกระดูกพรุน และกระดูกหักในผู้สูงอายุ โดย นายแพทย์ ธงชัย สุนทราภา และนายแพทย์  สิริพงศ์ รัตนไชย  

6. กลุ่มโรคปวดหลังขาชา โดย นายแพทย์ วีรศักดิ์ สิงหถนัดกิจ และนายแพทย์ ธำรง เลิศอุดมผลวณิช 

7. กลุ่มโรคมือขยัน โดย นายแพทย์ สุนทร วงษ์ศิริ และนายแพทย์ ต่อพงษ์ วัฒนา  

8. กลุ่มโรคปวดส้นเท้า เอ็นร้อยหวาย โดย นายแพทย์ ชำนาญนิติ์ รุ้งพราย และนายอแพทย์ ธนัตถ์ วัลลีนุกูล

9. กลุ่มโรคเนื้องอกกระดูก และกล้ามเนื้อ โดย นายแพทย์ ปิยะ เกียรติเสวี และนายแพทย์ พิชยา ธานินทร์ธราธาร   

10. กลุ่มโรคปวดคอร้าวลงแขน โดย นายแพทย์ ต่อพงษ์ บุญมาประเสริฐ และนายแพทย์ กฤษณ์ เจริญลาภ           

11. กลุ่มโรคเท้าปุก โดย อาจารย์ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ และแพทย์หญิง พิภัทรา สายโลหิต

รายละเอียดสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ช่องทางเว๊บไซด์ เฟสบุค หรือ โทร. 02-716-5436-7

#สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย #TOA11PSGS #โรคข้อกระดูกและเส้นเอ็น

11 โรคเครือข่ายผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์

1. กลุ่มโรคข้อไหล่ในผู้สูงอายุ

โรคกระดูกข้อไหล่เสื่อม เป็นโรคที่คล้ายกันกับภาวะเสื่อมของข้อชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อเข่า ข้อหลัง หรือว่าข้อสะโพกเสื่อม ฯลฯ เกิดจากการที่ผิวข้อเสื่อมจนเสียสภาพปกติไป  ทำให้ขยับเคลื่อนไหวได้แบบไม่เป็นปกติ และมีเสียงเกิดขึ้นในข้อเวลาขยับเคลื่อนไหว

ปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อกระดูกหัวไหล่เพื่อแก้ภาวะข้อไหล่เสื่อม แต่ด้วยเป็นการผ่าตัดที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง และ กระดูกของคนไทยมีขนาดเล็ก จึงมีการนำเทคโนโลยีการพิมพ์3มิติ เพื่อความแม่นยำมากขึ้น และลดโอกาสเกิดความผิดพลาด

2.กลุ่มเส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่ฉีกขาดในผู้สูงอายุ

พบอุบัติการณ์มากกว่า50% ในผู้สูงอายุ ที่จะพบภาวะเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด

ด้วยวิทยาการ และ ความก้าวหน้าในทางการแพทย์ ทำให้ปัจจุบันภาวะเส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่ สามารถตรวจพบได้ง่ายขึ้น และด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง ยังทำให้ ระยะเวลาการพักฟื้นสั้นลง  และได้ผลสัมฤทธิ์ทางการรักษาที่ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ใช้ในการรักษาภาวะเส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่ฉีกขาด ที่รุนแรง และเรื้อรัง ได้มีผลการรักษาที่ดีขึ้นอีกด้วย เช่น ผ่าตัดส่องกล้องซ่อมเอ็นแบบเจาะรู โดยไม่ใช้สมอ เทคนิคการผ่าตัดย้ายเส้นเอ็นจากส่วนอื่น มาใช้ทดแทนเอ็นหุ้มข้อไหล่ การผ่าตัดข้อไหล่เทียม แบบจำเพาะตัวบุคคล เป็นต้น

2.กลุ่มโรคบาดเจ็บทางการกีฬา

ปัจจุบันกีฬาเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ทั้งชมการแข่งขันและการเล่นด้วยตนเอง โดยเฉพาะฟุตบอลและวอลเลย์บอล การบาดเจ็บจากการกีฬาจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการบาดเจ็บร่วมกันของหมอนรองกระดูกเข่าและเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด จากสถิติพบว่า ข้อเข่าเสื่อมมักจะมีการบาดเจ็บของหมอนรองข้อเข่าร่วมด้วย

การดูแลที่ถูกต้องและการป้องกันการรักษาด้วยเทคโนโลยีทันสมัยและถูกวิธีซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบันแพทย์ออร์โธปิดิกส์ประเทศไทยผ่าตัดโดยใช้วิธีส่องกล้องซ่อมหมอนรองเข่าและสร้างเอ็นไขว้หน้าขึ้นใหม่ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ฟื้นตัวเร็วสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้รวดเร็วในระดับใกล้เคียงเดิม

3.กลุ่มโรคข้อสะโพกเสื่อม

ปัญหาข้อสะโพกเสื่อมพบได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน สามารถเกิดจากหลายสาเหตุ เช่นจากลักษณะกายวิภาคที่ผิดปกติ เกิดภายหลังจากอุบัติเหตุกระดูกหักบริเวณข้อสะโพก

จุดประสงค์ของการผ่าตัดรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวด เพิ่มพิสัยการขยับข้อได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ

ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้และมีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด

4.กลุ่มโรคข้อเข่าเสื่อม

นวัตกรรมการรักษาข้อเข่าเสื่อม

1.มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตดและดูแลผู้ป่วยให้บาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อยลง ลดอาการปวดหลังผ่าตัดและฟื้นตัวและกลับบ้านได้รวดเร็ว

2.มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด มาช่วยให้การผ่าตัดทำได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ปรับสมดุลความตึงตัวของเนื้อเยื่อรอบข้อได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มความพึงพอใจหลังผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วยและเพิ่มความคงทนและอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียม

5.กลุ่มโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนในปัจจุบันเริ่มมีภาวะคุกคามที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทยโดยเป็นโรคที่เรียกว่าภัยเงียบ เนื่องจากพักไม่มีอาการนำใดๆ มาก่อนจนกระทั่งเกิดกระดูกหักตามส่วนต่างๆของร่างกายจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงโดยพบว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า 200 ล้านรายและพบว่าการเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนมากกว่า 9 ล้านครั้งต่อปี นั่นคือทุกๆ 3 วินาทีจะเกิดกระดูกหักจากกระดูกพรุนอย่างน้อย 1 ครั้ง

แต่ในปัจจุบันนี้มีกระบวนการและขั้นตอนต่างๆในการสืบค้นและวินิจฉัยกระดูกพรุนได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้นรวมทั้งมียาที่ใช้ในการรักษาโรคและขั้นตอนการรักษาที่ดีมากยิ่งขึ้นอย่างไรก็ดีการป้องกันโรคย่อมได้ผลดีกว่าการรอให้เกิดโรคแล้วจึงทำการรักษาดังนั้นหากภาคประชาชนให้ความสำคัญและสามารถทำความเข้าใจหรือเข้าถึงการป้องกันโรคกระดูกพรุนด้วยตนเองและครอบครัวได้ย่อมส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยและความรุนแรงของโรคลดลง

6.กลุ่มโรคปวดหลังขาชา

โรคกระดูกสันหลังเสื่อมทับเส้นประสาทเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดทุพพลภาพแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก พบอุบัติการณ์ได้ 30 ถึง 40% โดยพบอุบัติการณ์สูงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ปัจจุบันการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็กร่วมกับการใช้อุปกรณ์นำวิถีและหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นวิวัฒนาการที่พัฒนามาเพื่อผ่าตัดผู้ป่วยให้มีความแม่นยำ ตรงจุด และปลอดภัยมากขึ้น ยังผลให้เกิดความสำเร็จของการผ่าตัดสูงสุด มีความปลอดภัย ฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็วและสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น

7.กลุ่มโรคมะเร็งกระดูก

ในอดีตการผ่าตัดรักษา​มะเร็งกระดูกแขนจาทำโดยการตัดแขนขานั้นๆ ปัจจุบัน​มีการพัฒ​นาการผ่าตัด โดยตัดเฉพาะกระดูกและข้อที่เป็นมะเร็งออก   และใส่กระดูกและข้อโลหะแทน    แต่กระดูก​และข้อโลหะมีราคาแพง  ผลิตไม่ได้ในประเทศ​ไทย  ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ขณะนี้มีการพัฒนา​และผลิตกระดูกและข้อโลหะในประเทศ​ไทย โดยเฉพาะบริเวณ​ข้อไหล่ โดยมีมาตรฐานเทียบเท่า​กับต่างประเทศ​   ใช้ในผู้ป่วยไทยไม่ต่ำกว่า25 รายแล้ว  ได้ผลดีเทียบเท่า​กับต่างประเทศ​ในราคาถูกกว่า

แม้มีราคาถูกกว่า แต่ก็ราคายังเกินการเบิกจ่ายทุกสิทธิ​ประโยชน์​  ยังคงเป็นปัญหา​ที่พวกเราต้องช่วยกันแก้ไขต่อไป

8.กลุ่มโรคมือขยัน

ผู้ป่วยที่มีอาการมือชา มีสาเหตุมาจาก อายุที่มากขึ้น วัยหมดประจำเดือน มีโรคประจำตัว เช่นเบาหวาน  ซึ่งเกิดจากพังผืดบริเวณข้อมือที่มีการกดทับ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ด้วยการทานยา หรือการผ่าตัดรักษา อาจทำให้เส้นประสาทเสียถาวร

ปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ไม่ยุ่งยากอีกต่อไป วิธีที่ง่ายรวดเร็ว และผลข้างเคียงต่ำ คือการผ่าตัดแบบแผลเล็ก

เทคนิคการผ่าตัดและนวัตกรรมที่มีความก้าวหน้า จะสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนไข้ให้มีความสุขได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาการผ่าตัดน้อย มาก ซึ่งการผ่าตัดแบบเดิมใช้เวลา 30 ถึง 60 นาที แต่ปัจจุบันการผ่าตัดโดยใช้นวัตกรรมแบบแผลเล็ก ใช้เวลาเพียงแค่ 10 นาทีเท่านั้น โดยผู้ป่วยมีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก จากเดิม 3-5 เซนติเมตร เหลือเพียง 1.5 เซนติเมตร สามารถกลับไปทำงานเร็ว คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น จากความตั้งใจของทีมแพทย์ ที่เห็นความสำคัญของสุขภาพของผู้ป่วย ความสุข ที่เห็นผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ และมีชีวิตที่ดีขึ้น

9.กลุ่มโรคเอ็นร้อยหวายและส้นเท้า

โรคเท้าแบน

โรคเท้าแบนพบได้เฉลี่ยทั่วโลกร้อยละ 26-36 เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดสามารถให้การรักษาเบื้องต้น ด้วยวิธีการกายภาพและใส่แผ่นรองรองเท้า อย่างไรก็ตามหากวิธีการรักษาเบื้องต้นไม่ได้ผล การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เพื่อแก้ไขแนวกระดูกเท้าที่ผิดรูป จะสามารถลดอาการปวดและเพิ่มประสิทธิภาพของเท้าและข้อเท้าได้


เทคนิคการผ่าตัดใหม่ คือ การผ่าตัดเพื่อนำเอ็นที่เสื่อมออกและการซ่อมเอ็นที่ขาด ด้วยเอ็นเทียม (Internal Brace for spring ligaments reconstruction) เป็นวิธีใหม่และได้รับความนิยมและเป็นส่วนประกอบหนึ่ง ของการผ่าตัดโรคเท้าแบนในปัจจุบัน

10.กลุ่มโรคปวดคอร้าวลงแขน

อาการปวดคอ เกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งจากกล้ามเนื้อที่เรียกกันว่า “ออฟฟิศซินโดรม” และ การเสื่อมของกระดูกต้นคอและหมอนรองกระดูกแล้วไปกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดคอร้าวลงแขน ไปจนถึงเป็นอัมพาตของแขนและขา
โรคโดยส่วนใหญ่สามารถรักษาหายได้โดยการปรับอิริยาบถ การทำกายภาพบำบัด และ รับประทานยาแก้ปวด แก้อักเสบ แต่ถ้ามีการกดทับระบบประสาทอย่างรุนแรงก็จำเป็นต้องรักษาโดยวิธีการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันมีการรักษาผ่าตัดผ่านกล้องจุลทรรศน์ หรือ ผ่านกล้องเอนโดสโคป ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก และ ฟื้นตัวจากการรักษาได้เร็ว ในส่วนหมอนรองกระดูกที่เสื่อมซึ่งเดิมต้องทำการผ่าตัดเชื่อมข้อต่อกระดูกทำให้ไม่สามารถขยับข้อกระดูกนั้นได้ ปัจจุบันก็สามารถผ่าตัดใส่หมอนรองกระดูกสันหลังเทียม ซึ่งจะทำให้กระดูกต้นคอหลังผ่าตัดสามารถขยับได้ใกล้เคียงปกติ

11.กลุ่มโรคเท้าปุก

โรคเท้าปุกพบได้ 1 ใน 1,000 ประชากรเด็กทั่วโลก ปัจจุบันสามารถรักษาโรคเท้าปุกโดยการดัดเท้าและใส่เฝือก หากไม่สามารถกระดกเท้าขึ้นได้จะทำการตัดเอ็นร้อยหวายผ่านผิวหนังด้วย iris blade รวมทั้งสวมอุปกรณ์พยุงเท้าที่มีแกนยึดรองเท้าทั้งสองข้างให้ปลายเท้าบิดออกและกระดกข้อเท้าขึ้นเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

ปัจจุบันมีแกนยึดรองเท้าที่มีแกนหมุนทำให้เด็กสามารถขยับขาได้มากขึ้น หากเท้าปุกกลับเป็นซ้ำจะทำการดัดเท้าและใส่เฝือก สำหรับการผ่าตัดจะทำเฉพาะในรายที่มีความผิดปกติคงค้างหรือเอ็นหน้าข้อเท้าทำงานมากผิดปกติเป็นเหตุให้เดินเท้าตะแคง


You must be logged in to post a comment Login