วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

มหิดล พัฒนาโปรแกรมประมวลผลสุขภาวะทางจิตโดยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่

On January 25, 2023

จากสภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม โรคระบาดต่าง ๆ รวมถึงนโยบายจากทางภาครัฐ ส่งผลให้เกิดปัญหาหลาย ๆ ด้านในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพจิตหรือผลกระทบที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ปัญหาอาชญากรรมและการฆ่าตัวตาย รวมถึงปัญหาด้านสาธารณสุขที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกผ่านทางข้อความในโซเชียลมีเดีย อย่าง Twitter และ Facebook จึงทำให้ผู้วิจัยได้พัฒนาโปรแกรม สิมิลัน: ระบบประมวลและแสดงข้อมูลผลกระทบทางจิตวิทยาและสุขภาพจิตระดับประชากร โดยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ (PSIMILAN: A Data Processing and Visualization System for Population-level Psychological Impact on Mental Health Using Large-scale Social Networks) เพื่อใช้เป็นตัวบ่งชี้สุขภาพทางจิตของประชาชนในระยะเริ่มต้น และยังเป็นเครื่องมือในการประเมินสุขภาวะทางจิตระดับประชาการได้อย่างอัตโนมัติ ด้วยความรวดเร็วและแม่นยำ ในรูปแบบ Real Time ซึ่งวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลสุขภาวะทางจิตเมื่อก่อน จะเป็นในลักษณะการทำแบบสอบถามซึ่งต้องใช้เวลานาน และได้กลุ่มเป้าหมายที่ไม่ครอบคลุม ทำให้ผู้วางนโยบายระดับประเทศไม่สามารถกำหนดนโยบายต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนได้ทันท่วงที

รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภวงศ์ ทั่วรอบ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่จากสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะ Twitter และทำการพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อตรวจหาสภาวะสุขภาพจิตและความรู้สึกจากข้อมูลที่โพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของประชากรไทย โดยได้ทำการตรวจสอบความถูกต้องของ AI เปรียบเทียบกับข้อมูลจริงที่มาจากกรมสุขภาพจิต พบว่าสัญญาณด้านอารมณ์ ความรู้สึกจากข้อความในโซเชียลมีเดีย มีความสัมพันธ์กับจำนวนผู้ป่วยซึมเศร้าและผู้ป่วยฆ่าตัวตาย หากข้อความที่สะท้อนอารมณ์กลัว เศร้า หดหู่ และหมดหวัง ในโซเชียลมีเดียมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าจำนวนคนฆ่าตัวตายหรือผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตายจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย หรืออาจจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ป่วยซึมเศร้าจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้เราสามารถพัฒนา AI เพื่อให้ศึกษาข้อมูลได้ในหลาย ๆ มิติ ตามความต้องการของผู้วางนโยบาย บุคลากรทางการแพทย์หรือนักวิจัย ฯลฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยคัดกรองผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ได้ นอกจากนี้ ผู้วางนโยบายยังสามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประกอบการกำหนดนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อภาพรวมในด้านความรู้สึกและสุขภาพจิตของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง แต่ก็ต้องคำนึงถึงแนวทางการป้องกันข้อมูลที่มีโอกาสจะถูกผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิดด้วย

ในระยะต่อไปทีมผู้พัฒนาโปรแกรม “สิมิลัน” มีแผนจะพัฒนาโปรแกรมให้สามารถเก็บข้อมูลในระดับย่อยลงมาหรือกำหนดพื้นที่ได้ เช่น ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ เป็นต้น และต่อยอดไอเดียไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น การศึกษาข้อมูลอาชญากรรมในพื้นที่ต่าง ๆ หรือการนำข้อมูลไปเป็นตัววิเคราะห์ คาดการณ์สภาพเศรษฐกิจมวลรวมในประเทศ เพื่อช่วยในการกำหนดนโยบายในระดับประเทศต่อไป


You must be logged in to post a comment Login