วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

นิราศกาฐมาณฑุ 3-6 ก.พ.65

On February 7, 2023

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย              

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 7 ก.พ. 66 )

หลายท่านอาจเคยไปเที่ยวเนปาล แต่ไปเฉพาะเมืองลุมพินีซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าในโอกาสการจาริกแสวงบุญของชาวพุทธ ผมก็ไปมาแล้วสองหน แต่คราวนี้ผมไปกลุ่มกาฐมาณฑุ

ในระหว่างวันศุกร์ที่ 3 – วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ผมเดินทางไปกรุงกาฐมาณฑุ เพื่อบรรยายและทำสำรวจวิจัยเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยร่วมกับ ดร.โอม ราชบันดารี (Om Rajbhandary) ซึ่งเป็นนักพัฒนาที่ดินรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในประเทศเนปาลนี้ เพื่อนำเสนอให้กับเทศบาลกรุงกาฐมาณฑุและรัฐบาลประเทศเนปาล

ผมบินไปกลับด้วยสายการบินไทยสมายล์ แต่ครั้งแรกผมจองตั๋วไลออนแอร์เพราะราคาถูกกว่า แต่ภายหลังเขากลับเปลี่ยนเวลาและวันบิน ผมจึงต้องขอยกเลิกแต่เขาบอกจะจ่ายเงินคืนเต็มในเวลา 45 วัน พอกลับมาซื้อตั๋วของไทยสมายล์ราคาก็กลับพุ่งสูงขึ้นอีก ไม่ได้คิดประหยัดเงินแต่แรกเลย บางครั้งเจ้าภาพยังระบุให้ซื้อแต่ตั๋วเฉพาะชั้นธุรกิจด้วยซ้ำไป

พอถึงสนามบินกรุงกาฐมาณฑุ ก็ปรากฏว่าเครื่องบินจอดห่างจากอาคารผู้โดยสารประมาณ 100 เมตร แต่ก็ต้องมีรถมารับไปเทียบท่าที่อาคารผู้โดยสารไม่ยอมปล่อยให้ผู้โดยสารเดินไปเอง ขอบคุงอยากให้มีการใช้บริการรถสนามบินโดยไม่คิดว่าถ้าให้ผู้โดยสารเดินไปเองจะรวดเร็วประหยัดเวลากว่ามาก ผมไปที่นี่นับสิบๆ ครั้งตั้งแต่ปี 2554 ก็เห็นเป็นเช่นนี้ตลอดมา ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ขาออก จะขึ้นเครื่องก็อีหรอบเดียวกัน

ไปถึงราวบ่ายโมงก็ทำ visa on arrival เพราะแบบฟอร์มของสถานทูตเนปานในเมืองไทยเกิดขัดข้องไม่สามารถพิมพ์ออกมาได้ ก็เลยมาทำที่สนามบินกาฐมาณฑุแทน แต่ก็เสียเวลาพอสมควร โชคดีไม่เสียเวลามากเกินไปนักเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวยังมีน้อย เค้าคิดสนนราคา 1,100 บาท (ใช้เงินไทยได้เลย) โดยไม่มีใบเสร็จ แต่ถ้าทำที่สถานทูตในประเทศไทยเสียแค่ 800 บาทแต่ต้องเสียเวลาเดินทางไปกลับซึ่งคงจะแพงกว่าด้วยซ้ำไป

ออกจากสนามบินได้ตอนบ่ายสองโมง เขาก็พาไปทานข้าว แล้วผมก็เดินทางไปสำรวจที่อยู่อาศัยและชุมชนแออัดเลยโดยมีคณะนักวิจัยท้องถิ่นให้การสนับสนุน แถมมีตำรวจนอกเครื่องแบบคอยประกบด้วยเนื่องจากมีกระแสการไล่รื้อชุมชนแออัดริมแม่น้ำในกรุงกาฐมาณฑุ เค้าก็เกรงว่าผมจะได้รับอันตราย แต่ก็ไม่มีปัญหาใดๆ ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี

วันรุ่งขึ้นเป็นวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่นี่ปานวันเสาร์เป็นวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ แต่ผมกับคณะก็ยังเดินทางไปสำรวจชุมชนแออัดอย่างไม่ลดละ ชุมชนส่วนมากอยู่ริมคลองขนาดใหญ่หรือแม่น้ำ โดยแม่น้ำที่นี่มีความกว้างเพียง 60 ถึง 100 เมตรต่างจากในกรุงเทพมหานครที่แม่น้ำเจ้าพระยามีขนาดกว้าง 250 ถึง 800 เมตร

ในประเทศเนปาลวันหยุดราชการประจำสัปดาห์มีเฉพาะวันเสาร์ หยุดเพียงสัปดาห์ละหนึ่งวันเท่านั้น หน่วยราชการต่างๆ ก็เช่นกัน โดยราชการจะเริ่มงานเวลา 10:00 น. และเลิกงานเวลา 17:00 น. หรือเท่ากับทำงานวันละ 6 ชั่วโมงรวมสัปดาห์ละ 36 ชั่วโมง กรณีนี้ก็ใกล้เคียงกับไทยที่ข้าราชการทำงานสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง โดยทำงานวันละ 7 ชั่วโมง (08:30 น -16:30 น.) เป็นเวลา 5 วันทำงาน

ส่วนวันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันทำงานวันแรกของสัปดาห์ในเนปาล ผมกับคณะก็เดินทางไปสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีทั้งทาวน์เฮาส์ราคาถูก ที่ดินจัดสรรราคาถูก ที่ดินเช่าเพื่อการอยู่อาศัย ตลอดจนโครงการขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGOs ที่ดำเนินการกันอยู่ว่าจากพัฒนาแนวทางการจัดหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยหรือชาวชุมชนได้เพิ่มเติมอย่างไรบ้าง

สุดท้ายในวันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ ผมก็ไม่เคยไปไหนเลยหลังจากแจ้งข้อมูลอยู่ในที่พักเพื่อรอประชุมในตอนเช้าและรีบไปสนามบินเนื่องจากเครื่องบินจะบินเร็วกว่ากำหนด 1 ชั่วโมงครึ่งออกเวลา 12:30 น. และที่กรุงกาฐมาณฑุ ผู้โดยสารควรเดินทางไปรอที่สนามบินเป็นเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงก่อนเวลาเดินทาง เพราะระบบต่างๆค่อนข้างเชื่องช้ามาก

มาพักที่นี่ เจ้าภาพก็จัดให้พักในห้องชุดในโครงการอาคารชุดสูง 9 ชั้น มี 3 ห้องนอนด้วยให้ผมอยู่คนเดียว โชคดีที่มาครั้งนี้ไฟฟ้าเปิดตลอด ไม่มีดับเป็นช่วงๆ เช่นในสมัยก่อนแถมยังมีเครื่องทำความร้อน ทำให้นอนอุ่นสบาย แม้อากาศในตอนกลางคืนจะลดต่ำถึง 4-5 องศาเซลเซียสก็ตาม แต่โชคดีที่ไม่มีฝนตก ไม่มีเมฆมาก มีแต่ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งที่เนปาลถือว่าเคยติดอันดับ 10 ของโลกเลยทีเดียว

เอาไว้คราวหน้า ผมมานำเสนอผลการศึกษากับรัฐบาลเนปาล และเทศบาลกรุงกาฐมาณฑุ แล้วจะมาเล่าให้ฟังต่อนะครับ

ปล. คนเนปาลเขาบอกว่า สถานทูตไทยในกรุงกาฐมาณฑุ เข้มงวดวีซ่ามาก ต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ แต่ถ้า ‘จ่ายใต้โต๊ะ’ ก็เร็ว เรื่องนี้เป็นไง ยังไงสถานฑูตแก้ข่าวด่วนครับ


You must be logged in to post a comment Login