วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เปิดหลักสูตร “ก่อการครูแพทย์” หลังพบนักศึกษาแพทย์ป่วยด้วยโรคทางจิต

On February 14, 2023

งานวิจัยพบนักศึกษาแพทย์ร้อยละ 30 ป่วยด้วยโรคทางจิต เครียด – ภาวะหมดไฟ- ซึมเศร้า นำไปสู่การเรียนที่ไม่มีความสุข สสส.จับมือเครือข่ายครูแพทย์ สร้างห้องเรียนลดเครียด เปิดหลักสูตร “ก่อการครูแพทย์” ลดช่องว่างครู-นักศึกษา ผลิตแพทย์พันธุ์ใหม่ เรียนให้สนุก มีความสุข

ใครจะคิดว่านักศึกษาแพทย์จะกลับกลายเป็นผู้ที่มีอาการป่วยด้วยโรคทางจิต ทั้งๆที่มีครูผู้สอนเป็นอาจารย์หมอที่เก่งและมีความสามารถ อะไรที่ทำให้ห้องเรียนของนักศึกษาแพทย์กลายเป็นตัวปัญหา และนำไปสู่การพัฒนาเป็นหลักสูตร”ก่อการแพทย์” เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ที่ต้องเรียนหนักอยู่แล้ว ให้เรียนได้อย่างมีความสุขและสนุก

“ก่อนที่ครูแพทย์จะทำการสอน เรามักจะเขียนวัตถุประสงค์ไว้ว่า เพื่อให้ผู้เรียน….แต่เรายังขาดในส่วนของหัวใจ หมายถึงจะทำอย่างไรให้รู้สึกชอบ อยากที่จะเรียนรู้ ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญกว่าการตั้งเป้าวัตถุประสงค์ แบบนี้เราจะเปลี่ยนทิศทางทำให้บรรยากาศในห้องเรียนมีความสุข มีความกระหายใคร่รู้ อยากเรียนรู้มาก” นพ.พัฒน  ธัญญกิตติกุล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวถึงหัวใจสำคัญของห้องเรียนของนักศึกษาแพทย์

เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จับมือกับเครือข่ายครูแพทย์พัฒนามาเป็นหลักสูตรก่อการครูแพทย์ขึ้นมา รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ThaiHealth Academy มีการพัฒนาหลักสูตรต่างๆในปีหนึ่งประมาณ 30-40 หลักสูตร และได้เปิดหลักสูตร “ก่อการครูแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์”  พัฒนาศักยภาพครูแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการ Transformative Learning ออกแบบการเรียนการสอน ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากกว่าการนั่งเขียนเลคเชอร์  สอดแทรกวิธีการจัดการอารมณ์ตนเอง เสริมทักษะการสังเกตผู้เรียน ลดความเครียด ที่เป็นต้นเหตุนำไปสู่ ภาวะหมดไฟในการทำงาน (BURNOUT SYNDROME) และโรคซึมเศร้าในนักศึกษาแพทย์

ในมิติของการสร้างเสริมสุขภาพหรือสุขภาวะของ สสส. ประกอบด้วย 4 มิติ กาย จิต ปัญญา สังคม หลักสูตรนี้จะเน้นสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เสาหลักของคำว่าสุขภาวะ (Well-being) เรื่องเนื้อหาที่เยอะไม่ใช่ต้นเหตุความเครียด แต่จะทำอย่างไรให้ครูและนักศึกษาแพทย์ สนุกไปกับการเรียนการสอนพร้อมกัน สร้างการสื่อสารที่ดี ลดช่องว่างระหว่างครู ลูกศิษย์ เกิดห้องเรียนสุขภาวะ การเปลี่ยนแปลงครู คือจุดเริ่มต้นผลิตแพทย์พันธุ์ใหม่ เปลี่ยนระบบสุขภาพให้มีหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanized Healthcare)  ความตั้งใจของ ThaiHealth Academy คือการนำหลักสูตรนี้ ขยายนวัตกรรมองค์ความรู้ ทักษะ เจตนารมณ์ไปโรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้วงการแพทย์ เห็นความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดีมากขึ้น

“หลักสูตรนี้เป็นการตอบโจทย์สุขภาวะปัญญา ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนัก และจะทำอย่างไรให้บุคลากรกลุ่มนี้มีความสุขในการทำงาน เราเชื่อว่าหากบุคลากรสาธารณสุขมีความสุข จะส่งต่อความสุขไปยังผู้รับบริการและคนอื่นๆ” รศ.ดร.นพ.นันทวัช กล่าว

นอกจากนี้ความเครียดที่เกิดในห้องเรียนของนักศึกษาแพทย์ จนนำไปสู่การป่วยเป็นโรคทางจิตนั้น  ผศ.นพ.พนม เกตุมาน ที่ปรึกษางานกิจการนักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ปี 2562 พบนักศึกษาแพทย์ มีภาวะหมดไฟในการทำงาน ร้อยละ 30 นำไปสู่การป่วยโรคซึมเศร้าร้อยละ 7 คณะทำงานรวบรวมองค์ความรู้เพื่อหาต้นตอ และเครื่องมือที่ช่วยแก้ไข ทดลองหลักสูตรมากว่า 2 ปี มีครู นักศึกษาแพทย์ที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก เพราะเราไม่ได้ใช้เครื่องจักรรักษาคน การเรียนรู้ทั้ง ความรู้ ความรู้สึก การลงมือ (Head Heart Hand) ช่วยทำให้ผู้เรียนมีแรงบันดาลใจ เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่อง ซึ่ง ThaiHealth Academy มีเป้าหมายตรงกันที่อยากพัฒนาศักยภาพครูแพทย์ และระบบสุขภาพไทย ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ จึงเกิดเป็นหลักสูตร ก่อการครูแพทย์ ในหลักสูตรนี้จะเน้นการรู้จักตนเอง เข้าใจวิธีการเรียนการสอนอย่างไรให้สนุก การสื่อสารต่างๆในการทำงานเป็นทีม และจัดการความเครียด ความขัดแย้งทั้งหลาย

“เชิญนักศึกษาแพทย์มาเสวนา เรื่องภาวะหมดไฟ หรือข่าววัฒนธรรมกินหัวในวงการแพทย์ ช่วยกันคิดสาเหตุ ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้น คือ 1.การสื่อสาร ที่เป็นเชิงลบระหว่างครูและนักศึกษาแพทย์ คำพูดที่รุนแรงส่งผลให้เกิดความรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง  2.ความสัมพันธ์ บรรยากาศการเรียนการสอนที่เครียดเกินไป รวมถึงช่องว่างระหว่างวัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ห่างกัน 3.การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตใน สถาบันการแพทย์ต่าง ๆ ยังเข้าถึงยาก เมื่อมีปัญหา ไม่รู้จะปรึกษาใคร ไม่กล้าเข้าหาอาจารย์ เกิดความเครียดสะสม นำไปสู่ภาวะหมดไฟ อาการรุนแรงขึ้นจนป่วยโรคทางจิตในที่สุด” ผศ.นพ.พนม  กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรก่อการแพทย์ จะเป็นทางเลือกใหม่อีกหนึ่งทางเลือกเพื่อลดช่องว่าง ความตึงเครียดระหว่างอาจารย์แพทย์และนักศึกษา เพื่อให้สถาบันการศึกษาได้ผลิตแพทย์ที่มีสุขภาพจิตที่ดีมีความสุขต่อไป  สำหรับแพทย์องค์กร หน่วยงาน สถาบันการแพทย์ ที่สนใจ ติดต่อได้ที่ www.thaihealthacademy.com หรือ โทร 02-171-8656


You must be logged in to post a comment Login