วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เปิดกลยุทธ์การตลาดบุหรี่ไฟฟ้าเน้นหอมสวยสดใสพกพาสะดวกโดนใจวัยรุ่น

On February 24, 2023

นักวิชาการ มธ.เปิดกลยุทธ์การตลาดบุหรี่ไฟฟ้าชูจุดเด่นที่บุหรี่มวนไม่มี ด้วยรูปลักสวยสดใส ใช้ง่ายมีกลิ่นหอมสะดวกต่อการพกพา สามารถนำมาทำเป็นเครื่องประดับ เลียนแบบรูปลักษณ์ให้คล้ายกล่องขนม ด้านบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าล็อบบี้ทุกทาง ใช้วิธีให้เงินทำวิจัยเสนอส่วนดีของบุหรี่ไฟฟ้า

“บุหรี่ไฟฟ้าถูกออกแบบมาเพื่อให้เด็กและเยาวชนเสพติด วิธีที่หลอกง่ายที่สุดคือ การทำสินนค้าให้คล้ายกับของกินที่เด็กกินและใช้” ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ แก้วสุทธา อาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงวิธีการหรือกลุยุทธ์ในการสร้างบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาเพื่อดึงดูดใจให้เด็กและเยาวชน ซึ่งในการทำเวิร์กช้อปของ ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ ที่ผ่านมาพบว่า เกินกว่าครึ่งหนึ่งของเยาวชนที่เข้าร่วมเห็นคนในครอบครัวหรือรอบตัวใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งคนทั่วไปมักคิดเป็นแบบมายาคติว่า บุหรี่ไฟฟ้าดีกว่าหรือมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน ซึ่งความเป็นจริงบุหรี่ทั้งสองชนิดอันตรายเหมือนกัน

นอกจากนี้เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า 2-4 เท่า ในบุหรี่มีสารนิโคตินที่ส่งผลต่อสมองของวัยรุ่น ทำให้สมองมีความพร้อมที่จะรับและติดสิ่งเสพติดชนิดอื่นเพิ่มขึ้นหลายเท่า เช่น แอลกอฮอล์ เฮโรอีน โคเคน กัญชา เป็นต้น ทั้งนี้ในบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารก่อมะเร็ง โลหะหนักและสารเคมีอีกมากมายที่ยังไม่รู้ว่าส่งผลต่อร่างกายอย่างไรในระยะยาว

“ถามว่าเรารับได้ไหมถ้าบุหรี่ไฟฟ้ามันถูกกฎหมาย แล้วเขาบอกว่าจะเลือกวิธีการตายของเอง ผมไม่โอเค ไอ้หัวจิตหัวใจของนักการเมืองที่มันสนับสนุน ผมไม่รู้ว่าพ่อแม่สอนมาอย่างไร แต่รู้ว่าลูกเต้าเขารู้ คนเราเลือกวิธีการตายได้ แต่คุณจะเลือกให้คนทั้งโลกประนามคุณแล้วผมจะเป็นคนหนึ่งที่ช่วยประนามคุณ เราจะเชื่อคุณหมอที่ปากเปียกปากแฉะบอกเราหรือจะเชื่อลมปากของบริษัทบุหรี่ที่โกหกเป็นอาชีพ ที่เขาโกหกมาเกือบครึ่งศตวรรษตั้งแต่ผมยังไม่เกิดเลยจนผมมีลูกบริษัทบุหรี่ยังไม่เลิกโกหกเลย แล้วคุณจะเชื่อพวกเขาเหรอ เราถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะพูดกันชัดๆว่าเราไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า หมอฟันก็ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้าและเชื่อว่าทุกคนไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า แล้วไม่ต้องพูดอีกทำให้มันจบในรุ่นเราซะ หวังว่าเราคงไม่มีสัตว์ประหลาด วิกลจริต สติปัญญาไม่สมประกอบมาขึ้นเป็นผู้ที่กำหนดนโยบายและผลักดันเอาสิ่งที่มันชั่วร้ายมาให้มันถูกต้อง ผมว่าถ้าเขาอยากเรียกร้องมันมีหลายสิ่งหลายอย่างให้เขาเรียกร้องไปเถอะ ขอไว้เรื่องหนึ่งให้มันเป็นประโยชน์สำหรับประเทศชาติ พวกเรายืนยันว่า ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้าอย่างแน่นอน ผศ.เร.ทพ.ณัฐวุธ กล่าว

ด้านนักวิชาการอย่าง ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ นักวิชาการหน่วยวิชาการบ่มเพาะเครือข่ายนักจัดการปัจจัยเสี่ยง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า  การทำการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันแตกต่างกับการทำการตลาดของบุหรี่ในอดีต โดยได้เอาสิ่งต่างๆที่เป็นข้อด้อยในบุหรี่มวนเป็นตัวตั้ง บุหรี่ไฟฟ้าจะมีทุกอย่างที่ตรงกันข้ามกับบุหรี่ เช่น กลิ่น หรือรูปลักษณ์ ซึ่งเราเรียกการตลาดแบบนี้ว่า เป็นการตลาดแบบหมาป่าในคราบลูกแกะ WOLF IN SHEEP’S CLOTHING ที่จะทำให้เราเข้าใจการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า โดยมี 4 Keyword ที่เรียกว่า Sensory  Marketing หรือ กสรร ได้แก่

1.กลิ่น ที่หอมซึ่งตรงข้ามกับบุหรี่มวนคือเหม็น ในบุหรี่ไฟฟ้าจะมีกลิ่นหอมของผลไม้หรือขนม เช่น กลิ่นสตอเบอรี่ บลูเบอรี่ช็อกโกแลต เป็นต้น และใช้ยูทูบเบอร์ที่มียอดคนติดตามเป็นจำนวนมากมาเป็นผู้รีวิวชูประเด็นกลิ่นหอมซึ่งเป็นจุดขายทางการตลาดซึ่งจะสร้างความแตกต่างจากบุหรี่มวนเดิมๆ

2. สีสัน จะมาในรูปแบบสีสันสดใสของบรรจุภัณฑ์ มีรูปภาพ คำโฆษณาเป็นจุดขาย

3.รูปลักษณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าจะต้องสวยเลียนแบบ Food Pack  หรือเลียนแบบของเล่น เครื่องสำอาง ขนม เกม นาฬิกาให้มีขนาดเล็กมินิซึ่งรูปแบบของการออกแบบจะห่างไกลจากบุหรี่มวน อีกทั้งสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องประดับได้โดยมี  packaging ที่สวยงาม น่ารัก เป็นจุดขาย

4. รสชาติ จะมีความหวานหอม ในบุหรี่ไฟฟ้ามีรสชาติให้เลือกมากกว่า 7,000 รส สำหรับคนไทยยังมีรสมะนาวโซดา ชาอู่หลง รสข้าวเหนียวมะม่วงให้เลือก ทั้งนี้การใช้คำโฆษณารสในด้านความหวาน รสผลไม้หอมๆหรือขนมหวาน เครื่องดื่มหวานๆเย็นๆเป็นจุดขาย

“ตนมองว่ากลยุทธ์ลูกหมาป่าในคราบลูกแกะเป็นการตลาดที่ป่าเถื่อนที่เอาความน่ารักเอาความหวานของน้ำผึ้งที่เคลือบไว้ในบุหรี่ไฟฟ้ามาทำอันตรายสู่ประชาชน อยากฝากไปยังทุกท่านให้สังเกตลิ้ชักของลูกหลานที่อาจจะซ่อนบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบน่ารักๆไว้ก็ได้” ผศ.ดร.ศรีรัชกล่าว

ด้าน รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมามีนักการเมืองบางคนเชียร์บุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นของที่ถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่ว่าการตลาดบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าไปที่ใคร และจากข้อมูล พบว่า ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากบุหรี่ ปีละ 8 ล้านคน คนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่ ปีละ 70,000 คน นอกจากที่เราจะต้องรู้เรื่องของพิษภัยบุหรี่แล้ว สิ่งที่เราจะต้องรู้เพิ่มเติมคือ กลยุทธ์ต่างๆของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งก็คือบริษัทผู้ผลิตบุหรี่มวนที่หันมาขายบุหรี่ไฟฟ้าด้วย บริษัทผู้ผลิตบุหรี่เหล่านี้มีกำไรมากถึง 2.1 ล้านล้านบาท ที่มากกกว่าบริษัททั่วไปที่สามารถทำกำไรได้เพียง 1.9 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ยังระบุว่า สิ่งที่บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าใช้เป็นกลยุทธ์ในการเคลื่อนไหวหาความชอบธรรมให้กับบุหรี่ไฟฟ้าคือ ใช้ทรัพยากรที่มีต่อสู้กับทุกสิ่งที่ทุกอย่าง และใช้กลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดคือกลุ่มวิชาชีพแพทย์ออกมาพูดมาเป็นกระบอกเสียงให้บริษัทบุหรี่ไฟฟ้า แม้แต่ประเทศไทยเองก็มีแพทย์ออกมาเขียนถึงบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนถึง 95%  หรือใช้องค์กร หรือนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับทุนวิจัยจากบริษัทบุหรี่ออกมาต่อต้านแทน

ทั้งนี้ตนอยากให้คนไทยรู้เท่าทันกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ในประเทศไทย ว่ามีกลยุทธ์อย่างไร เริ่มกันที่ 1. การเคลื่อนไหวผ่านองค์กรบังหน้า ซึ่งบริษัทบุหรี่จะไม่ออกมาพูดเองแต่จะใช้คนอื่นมาพูดแทน เช่น นักวิทยาศสาตร์ หรือกลุ่มองค์กรที่ได้รับทุนจากบริษัทบุหรี่ เช่น มูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ 2.มีการล็อบบี้ผู้มีอำนาจ มีความพยายามที่จะเข้าพบนักการเมืองรัฐมนตรีทั้งแบบเข้าพบและทำหนังสือรวมถึงเข้าถึงฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายหรือแม้แต่การเข้าหาองค์กรอิสระ

3. การสื่อสารที่บิดเบือนข้อมูลของบุหรี่ไฟฟ้า พยายามทำให้นิโคตินเป็นบวก อ้างบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายหรือสร้างมายาคติว่ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน เป็นต้น โดยเป้าหมายที่แท้จริง คือ เด็กและเยาวชน

ทั้งนี้รูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้าแบบแบบพอดกำลังเป็นที่นิยมของเด็กวัยรุ่นที่ติดนิโคตินมากขึ้นใช้บุหรี่เป็นตัวแรกของเด็กในงานวิจัยพบว่าบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงเป็นมะเร็งไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา 4.การข่มขู่ หรือดิสเครดิต สร้างความแตกแยกในกลุ่มรณรงค์ฯ เช่น การยืนยันถอดถอนงานวิจัยการตีแผ่ข้อมูลความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการโต้ตอบบุคคลที่3 ในเชิงรุก  ดังที่กล่าวไว้ว่า ยิ่งบริษัทบุหรี่ถูกคุกคาม(เสียผลประโยชน์) มากเท่าไร บริษัทบุหรี่ยิ่งออกมาโต้ตอบ ยิ่งบริษัทบุหรี่ออกมาร้องโวยวายมากเท่าไหร่ แสดงว่านโยบายยิ่งได้ผล และ 5. งานวิจัยสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า งานวิจัยที่เป็นกลาง 95.1%  สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตราย ส่วนงานวิจัยที่สนับสนุนโดบบริษัทบุหรี่ ระบุว่า 92.3% สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย

ดังนั้นตนในฐานะบุคลากรทางการแพทย์จะรับมือกลยุทธ์บริษัทบุหรี่ได้โดย การให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่ประชาชนและสังคมอย่างสม่ำเสมอ , เปิดโปงกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ให้สังคมรับทราบ , De-normalize Tobacco industry อย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายต้องช่วยกันให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายรณรงค์ฯ

ถึงแม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะมีรูปลักษณ์ กลิ่น และรสชาติที่ให้ความแตกต่างจากบุหรี่มวนแบบเดิมๆแล้วนั้น แต่ทว่าพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้ายังคงมีเหมือนกับบุหรี่มวนเช่นกัน แล้วเราจะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนไทยรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ไฟฟ้าอีกต่อไป


You must be logged in to post a comment Login