วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เรื่องเพศคุยได้ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่ต้องรอให้โตแล้วค่อยสอน

On March 1, 2023

ในอดีตการพูดคุยเรื่องเพศอาจกลายเป็นเรื่องต้องห้ามที่ห้ามพูดคุยกันไม่ว่าจะคุยกับใครก็ตามหรือแม้แต่พ่อกับแม่ ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงเด็กและเยาวชนสามารถความรู้แสวงหาได้แค่ปลายนิ้วมือ แต่สำหรับเด็กและเยาวชนบางคนเขาไม่รู้ว่าเมื่อเขามีปัญหาเรื่องเพศจะหันหน้าไปปรึกษาใคร จึงได้แค่พูดคุยกับเพื่อนสนิท ที่บางครั้งคำแนะนำที่ได้อาจจะถูกหรือไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจะนำความผิดพลาดจนเกิดปัญหาการตั้งครรภ์หรือติดโรคขึ้นมา เรื่องเพศไม่ต้องรอให้โตแล้วค่อยสอน เพราะเมื่อถึงเวลานั้นมันอาจจะสายเกินไป

“ถ้าพูดเรื่อเพศเยาวชนส่วนมากจะพูดคุยกับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ เพราะเพื่อนเจอกันทุกวัน อยู่ในวัยเดียวกัน และคำตอบที่ได้มักจะสบายใจมากกว่าคุยกับพ่อแม่ ซึ่งสอดคล้องกับวงจรชีวิตของวัยรุ่นที่อยู่กับเพื่อน โรงเรียน และชุมชนมากกว่าอยู่กับพ่อแม่ จากการทำงานของตนพบว่า ส่วนใหญ่เพื่อนจะเป็นคนพามาเพื่อรับคำปรึกษาในคำถามที่เขาไม่สามารถหาคำตอบได้ และการคุยเรื่องเพศกับเพื่อนคือการคุยในพื้นที่ที่ปลอดภัยมากกว่าการคุยกับพ่อแม่” นายซาหดัม แวยูโซ๊ะ เยาวชนจากกลุ่มลูกเหรียง พูดถึงการคุยเรื่องเพศของวัยรุ่น ในวงเสวนา เรื่อง “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด”

นอกจากนี้ นายซาหดัม ได้ยกตัวอย่างที่ตนเองได้พบว่า ถ้าคุยเรื่องเพศใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เราไม่สามารถคุยกับใครได้ถึงการเปลี่ยนแปลงต่างที่เกิดขึ้นในร่างกาย แล้วจะดูแลร่างกายได้อย่างไร มันเป็นเรื่องที่คนในพื้นที่เขาไม่กล้าพูด เขาอาย มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ตนในฐานะตัวแทนเยาวชน อยากจะบอกคนในพื้นที่ว่า เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องแปลก มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่เราต้องดูแล ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่มันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องดูแล

นายซาหดัม กล่าวว่า  หากจะให้กล้าพูดคุยกับพ่อแม่ ก็อยากให้พ่อแม่เลือกบรรยากาศและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสนทนากับลูก เช่น ชมข่าว หรือดูละครร่วมกัน แล้วมีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้เป็นโอกาสที่ดีในการสนทนา และขอให้ใจเย็น อย่ากดดัน ตำหนิ หรืออย่าพยายามให้ลูกตอบคำถาม เพราะบางครั้งการสื่อของเด็กอาจเป็นประโยคบอกเล่า เช่น มีแฟนแล้วนะ แต่ถ้าพ่อแม่สวนว่า ทำไมรีบมี ยังเด็กอยู่เลย บทสนทนาจะจบทันที อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถพูดคุยกับเพื่อน หรือครูได้ ก็อยากให้มีแอปพลิเคชั่น หรือ แชทไลน์ของหน่วยงานรัฐ ที่จะให้บริการช่วยเหลือ รับฟัง ให้คำปรึกษา รวมถึงแนะนำเรื่องเพศ โดยไม่ซักถามตัวตนของเยาวชน เพื่อให้เด็กกล้าเล่า กล้าคุย

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องยากที่จะพูดในสังคมไทย ถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย หยาบคาย ไม่จำเป็นต้องสอน เดี๋ยวเด็กโตไปก็สามารถเรียนรู้ได้เอง ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ต้องปกปิดในวงสนทนาของครอบครัว หรือผู้ใหญ่กับเด็ก แท้ที่จริงไม่สามารถปิดกั้นความสนใจใคร่รู้ตามวัยของเด็กได้ บางคนเลือกที่จะค้นหาข้อมูลเรื่องเพศจากสื่อต่างๆ อาทิ อินเทอร์เน็ต รวมทั้งเพื่อน ซึ่งไม่รู้เลยว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นถูกต้อง หรือเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ความ “ไม่รู้” หรือ “ไม่เท่าทัน” เรื่องเพศของเด็ก ส่งผลให้เด็กกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบเมื่อมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการตั้งครรภ์

”ข้อมูลอัตราการคลอดของวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี ในปี 2564 อยู่ที่ 24.4 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปีพันคน อีกทั้งปัญหาติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างซิฟิลิส ในปี 2564 มีอัตราป่วยในเยาวชนอายุ 15-24 ปี อยู่ที่ 50.5 ต่อประชากรอายุ 15-24 ปีแสนคน สูงขึ้นมากกว่า 2 เท่า จากปี 2560 สอดคล้องกับข้อมูลการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอที่ค่อนข้างต่ำ การจัดเสวนาครั้งนี้ คาดหวังให้กลุ่มผู้ปกครอง พ่อแม่เห็นความสำคัญของการคุยเรื่องเพศอย่างเปิดใจ การสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว พร้อมแนะเทคนิคสำคัญในการสื่อสารกับลูก คือการรับฟังเพื่อสะท้อนความห่วงใย ไม่ตัดสินว่าถูกหรือผิด พูดคุยเหมือนเพื่อนที่ไว้ใจได้ ช่วยเป็นต้นทุนสำคัญให้สื่อสารเรื่องเพศกับลูกได้ง่ายขึ้น” นายชาติวุฒิ กล่าว

นอกจากการพูดคุยเรื่องเพศของลูกกับพ่อแม่แล้วยังพบว่า ฐานะทางครอบครัว ความไม่ปลอดภัยในบ้าน รวมถึงช่องว่างระหว่างวัยเป็นผลกระทบต่อการพูดคุยเรื่องเพศของลูกกับพ่อแม่ ตามข้อมูลที่  น.ส.อรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กเละเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่า แนวโน้มสถิติเด็กและเยาวชนลดลงทุกปี จากข้อมูลของกรมการปกครอง พบว่า ในปี 2565 มีจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 13 ล้านคน หรือ 19.7%  ส่วนเด็ก 18-25 ปี มี 6.8 ล้านคน หรือ 10.3% หากรวมเด็กทั้ง 2 กลุ่ม จะมีสัดส่วน 30% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่รูปแบบของโครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนเป็นครอบครัวข้ามรุ่น และแหว่งกลาง คือ ผู้สูงอายุต้องดูแลเด็ก คาดว่าในปี 2583 จะเพิ่มขึ้นถึง 15% จากปี 2562 อยู่ที่ 13.7% ทำให้เป็นส่วนสำคัญของอุปสรรคในการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัว ส่วนปัญหาครอบครัวที่พบมากที่สุด คือ เด็กอาศัยในครอบครัวยากจนที่มีรายได้เส้นแบ่งความยากจนต่ำกว่า 2,600 บาทต่อเดือน ถึง 10.1% รองลงมาพ่อแม่มีปัญหาจิตเวช ปัญหาที่อยู่อาศัยของเด็กไม่ปลอดภัย ทั้งความแออัด ห้องน้ำรวมกัน โควิด -19 และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้เด็กก้าวตามไม่ทัน หลงเป็นเหยื่อในสื่อออนไลน์ และสารเสพติด ทางกรมกิจการฯ ได้เข้าช่วยเหลือนำเงินอุดหนุนให้กับครอบครัวเด็กแรกเกิด รายละ 600 บาท โดยมีแม่วัยรุ่นมาลงทะเบียนมากถึง 300,000 คน

สุดท้าย อ.สกล โสภิตอาชาศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวสรุปว่า เราสามารถสอนเด็กให้รู้ถึงความแตกต่างของร่างกายก่อน พอโตขึ้นมาให้เขาได้รู้จักเพื่อนที่ส่วนตัวบนร่างกาย ว่าร่างกายเป็นของเขาเราไม่สามารถไปแตะต้องได้ถ้าเขาไม่ยินยอมให้ใครมาจับร่างกายของเขา โดยเฉพาะในโซนที่มีความเป็นส่วนตัวสูง ใครก็ไท่สามารถไปจับได้โดยเฉพาะอวัยวะเพศ ซึ่งเรื่องนี้เราสามารถสอนเขาได้ตั้งแต่เนิ่นๆไม่ควรรอจนโตเป็นวัยรุ่นแล้วค่อยมาสอนเพราะมันอาจจะสายเกินไป


You must be logged in to post a comment Login