วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“ศ.นพ.สมนึก สังฆานุภาพ”ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2566

On March 3, 2023

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมนึก สังฆานุภาพ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2566

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมนึก สังฆานุภาพ เริ่มทำงานวิจัยตั้งแต่ปฏิบัติงานเป็นอาจารย์แพทย์ อยู่ที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2543 ก่อนที่จะย้ายมาปฏิบัติงานที่โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยสูงมาก ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การดูแลผู้ป่วยในยุคนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก และ พบว่าการดูแลรักษาผู้ป่วยดังกล่าวมีคำถามหลายอย่างที่องค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่สามารถตอบคำถามดังกล่าวได้ อาจารย์ผู้ใหญ่จึงได้ให้คำแนะนำในการทำงานวิจัยเพื่อตอบคำถามปัญหาต่าง ๆ ที่พบในระหว่างการดูแลรักษาผู้ป่วย เริ่มจากงานวิจัยเล็ก ๆ จนได้คำตอบ พบว่าสามารถนำคำตอบที่ได้มาใช้แก้ปัญหาในทางคลินิกได้จริง และเป็นที่น่าประหลาดใจว่าได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ใหญ่ ๆ ได้ไม่ยาก เพราะประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ทั่วโลกก็กำลังรอคำตอบเหล่านี้เช่นเดียวกัน จึงทำให้มีกำลังใจที่พยายามทำงานวิจัยเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์มาตลอด และองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ให้กลับมาแข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดีจนใกล้เคียงคนปกติทั่วไป

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมนึก สังฆานุภาพ ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องมากว่า 22 ปี โดยศึกษาวิจัยทางด้านโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ ในช่วงแรกได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรักษาและป้องกันโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในผู้ป่วยเอดส์ โดยได้ทำงานวิจัยร่วมกับสถาบันอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อมาเป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับการพัฒนาวิธีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในผู้ติดเชื้อเอชไอวี และศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของเอชไอวีที่สัมพันธ์กับการดื้อยา พบว่าสมัยนั้นผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยมีการกลายพันธุ์ของเอชไอวีที่รุนแรงเมื่อมีการรักษาล้มเหลว ซึ่งมีผลต่อการที่มีข้อจำกัดมากในการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และสามารถป้องกันได้ด้วยการติดตามการรักษาด้วยการให้ความรู้ทั้งผู้รักษาและผู้ป่วย และใช้การตรวจปริมาณไวรัสในการติดตามผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่เหมาะสมสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นและมีสภาพปกติใกล้เคียงประชากรทั่วไป แต่ก็พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนทางเมทาบอลิซึมที่พบบ่อยขึ้นและมากกว่าประชากรทั่วไป ในช่วงหลังจึงได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภาวะแทรกซ้อนทางเมทาบอลิซึมในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผลงานวิจัยเหล่านี้ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ระดับสากลมากกว่า 250 เรื่อง และได้รับการอ้างอิงถึงในผลงานวิจัยอื่น ๆ มากกว่า 5,690 ครั้ง โดยมีค่า H-index เท่ากับ 40 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นในเชิงวิชาการ และเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี โดยมีผลต่อการอ้างอิงเพื่อการปรับเปลี่ยนแนวทางการดูแลรักษาและสิทธิประโยชน์แก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งในประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ให้มีความเหมาะสมกับสภาวะที่มีทรัพยากรที่จำกัด

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมนึก สังฆานุภาพ กล่าวถึงการที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2566 ว่า รู้สึกภูมิใจมาก เพราะเป็นรางวัลที่ไม่ใช่ได้จากการทำงานวิจัยเพียงหนึ่งหรือสองโครงการ แต่ได้จากผลงานวิจัยจำนวนมากที่ทำต่อเนื่องมาตลอดเวลามากกว่า 20 ปี และเป็นงานวิจัยทางคลินิกเป็นส่วนใหญ่ ที่อาจไม่ได้สร้างนวัตกรรมที่นำไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับองค์กรและประเทศ มองว่าประโยชน์ที่ได้ทำให้กับประเทศนั้น น่าจะต้องรวมถึงการลดค่าใช้จ่ายและลดการสูญเสียด้วย โดยเฉพาะการสูญเสียของชีวิตและคุณภาพชีวิต ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากงานวิจัยในโรคติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ที่สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยมาใช้ในสถานการณ์จริง อัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตน้อยลง ผู้ติดเชื้อกลับมาเป็นประชากรที่แข็งแรงปกติ และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศได้ สามารถทำงานวิจัยได้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการทำต่อเนื่องเป็นเวลานานจนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ คติประจำใจในด้านการทำงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมนึก สังฆานุภาพ คือ “การทำงานวิจัยทางด้านคลินิกช่วยให้แพทย์สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น” ซึ่ง ไม่ใช่อยู่ที่สิ่งตอบแทน แต่อยู่ที่การรักในการทำงานวิจัย รักที่จะได้ทำวิจัยเพื่อตอบคำถามที่เราสงสัยและอยากได้คำตอบ และสามารถนำคำตอบนั้นมาทำประโยชน์ได้


You must be logged in to post a comment Login