วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เพื่อสร้างท่าเรือคลองเตย ราชการรื้อ 4 วัดมาแล้ว

On March 7, 2023

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย    

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 7 มี.ค. 66 )

การที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ อาจต้องรื้อสิ่งเก่าๆ บ้าง หาไม่ก็ไม่สามารถเกิดสิ่งใหม่ ขนาดวัด 4 วัดก็ยังรื้อมาแล้ว อำนาจการเวนคืนอาจดูไม่ดี แต่บางครั้งก็จำเป็น แต่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสม

ทุกวันนี้เรามีท่าเรือคลองเตย อยู่ทำประโยชน์มาช้านานตั้งแต่ปี 2480 เป็นเวลา 86 ปีมาแล้ว ท่าเรือแห่งนี้ต่อไปอาจย้ายไปอยู่รวมกับค่าเรือแหลมฉะบังและท่าเรือมาบตาพุด แต่คุณูปการของท่าเรือคลองเตยก็มีมากมายในอดีตที่ผ่านมา ถ้ากรุงเทพมหานครไม่มีท่าเรือนี้ การขนส่งสินค้าก็คงลำบากมาก ชาติก็คงไม่พัฒนา  แต่การสร้างท่าเรือนี้เกิดจากการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งวัดโบราณ 4 วัด  ถ้าเป็นสมัยนี้คงถูกพวก NGOs ค้านหนัก แต่การเกิดขึ้นและการดำรงอยู่ของท่าเรือคลองเตยนี้สำคัญต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก

ในหนังสือศิลปวัฒนธรรมมีบทความชื่อ “กำเนิด ‘ท่าเรือคลองเตย’ บนพื้นที่เมืองพระประแดงเก่าสมัยอยุธยา และวัดโบราณทั้งสี่” โดย “เสมียนอารีย์” เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2565 (https://bit.ly/3kGXSRi) โดยระบุว่า “ท่าเรือกรุงเทพ หรือ ท่าเรือคลองเตย เป็นท่าเรือที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2480 เดิมเป็นสวน มีวัดโบราณ 4 วัด และเป็นพื้นที่เมืองพระประแดงเก่า เมืองสำหรับรักษาปากน้ำ ก่อนที่จะมีการนำชื่อพระประแดงไปใช้กับเมืองนครเขื่อนขันธ์” อย่างไรก็ตามในตอนที่สร้างท่าเรือคลองเตยนั้น บริเวณนั้น (แทบ) ไม่มีชุมชนเหลืออยู่แล้ว

“ขณะที่งานค้นคว้าของ ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เรื่อง เมืองพระประแดง : จากคลองเตยมานครเขื่อนขันธ์ จบที่อำเภอพระประแดง ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า บริเวณท่าเรือคลองเตยนั้นคือเมืองพระประแดงเก่า ก่อนจะนำชื่อเมืองไปใช้กับเมืองนครเขื่อนขันธ์ที่ตั้งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2358 คืออำเภอพระประแดงในปัจจุบัน” คือตัวเมืองพระประแดงได้ย้ายจากบริเวณท่าเรือไปแล้ว 122 ปี ก่อนที่จะมีการสร้างท่าเรือคลองเตย (พ.ศ.2358-2480) เหลือแต่วัด 4 วัดและคงมีประชาชนอยู่กันประปราย

ว่ากันว่า “อย่างไรก็ตามเมืองพระประแดงในสมัยอยุธยาไม่น่าที่จะมีบทบาทสูงมาก เพราะเมืองที่มีบทบาทและความสำคัญสูงในบริเวณปากน้ำคือเมืองธนบุรี สาเหตุสำคัญที่มีการย้ายเมืองพระประแดงลงไปจนถึงที่ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ คงจะเป็นเพราะพื้นที่บริเวณแถบปากน้ำ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญได้ขยายตัวพอที่จะตั้งชุมชนขนาดใหญ่ ถ้าเมืองพระประแดงซึ่งมีหน้าที่ดูแลปากแม่น้ำแต่อยู่ลึกเข้าไปถึงบริเวณคลองเตยดูก็จะไม่มีประโยชน์อันใด ประกอบกับคลองลัดโพธิ์ซึ่งเป็นคลองที่ช่วยร่นระยะการเดินทางโดยไม่ต้องแล่นเรืออ้อมคุ้งบางกระเจ้าและคลองเตย จึงทำให้เมืองพระประแดงที่คลองเตยไม่ใช่ยุทธศาสตร์ในการควบคุมดูแลเส้นทางคมนาคมทางแม่น้ำอีกต่อไป เมื่อเมืองพระประแดงที่คลองเตยเริ่มหมดความสำคัญลง ประกอบจำนวนประชากรที่เบาบางเพราะผลกระทบของสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2310) จึงส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2314 มีการรื้อเอาอิฐกำแพงเก่าเมืองพระประแดงมาก่อกำแพงและป้อมที่ธนบุรี…”

“พื้นที่เดิมของท่าเรือคลองเตย. . . มีวัดโบราณ 4 วัด คือ วัดหน้าพระธาตุ วัดเงิน วัดทอง และวัดไก่เตี้ย ซึ่งได้สันนิษฐานว่า ตัวเมืองพระประแดงเก่าน่าจะตั้งอยู่บริเวณเดียวกันนี้ ด้วยสะท้อนความสำคัญของ วัดหน้าพระธาตุ ในฐานะศูนย์กลางที่ประดิษฐานพระศรีมหาธาตุเจดีย์ของเมือง” แต่อาจไม่ใช่วัดโบราณ เนื่องว่า “กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงกล่าวถึงวัดนี้ (วัดหน้าพระธาตุ). . . เกล้ากระหม่อมก็เคยไปเห็น วัดก็ดูเป็นวัดใหม่ ๆ มีพระเจดีย์อยู่ ซึ่งควรจะถือเป็นพระธาตุก็ไม่ใหญ่ ทั้งเป็นเจดีย์ลังกาอย่างสมัยใหม่เสียด้วย จึงสันนิษฐานได้ว่า พระมหาธาตุของวัดนี้เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดไม่ใหญ่นัก แสดงว่าเมืองพระประแดงเก่าน่าจะเป็นเมืองเล็ก ๆ หรืออาจเป็นการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยหลัง”

“วัดทอง เดิมชื่อวัดโพธิ์สุวรรณาราม หรือวัดโพธิ์ทอง ก่อนจะเรียกกันอย่างง่ายว่า วัดทอง เดิมเป็นสวนของนายทอง และมีต้นโพธิ์ใหญ่กลางสวน เชื่อกันว่าไม่ควรปลูกต้นโพธิ์กลางบ้าน จึงถวายที่ดินสร้างเป็นวัดขนาดเล็ก ๆ. . .การก่อสร้างท่าเรือคลองเตยใน พ.ศ. 2480 นั้น รัฐบาลได้จัดการสร้างวัดขึ้นใหม่เป็นการผาติกรรมของเดิม ได้รวมเอาวัดหน้าพระธาตุกับวัดทองเข้าด้วยกัน มาตั้งวัดใหม่ที่ริมถนนสุขุมวิท ชื่อว่า วัดธาตุทอง”

“ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ตั้งข้อสังเกตว่า. . .เป็นไปได้ว่า วัดเงินและวัดไก่เตี้ยอาจจะร้างไปก่อนหน้านั้นแล้ว” แต่ข้อนี้คงไม่ถูกต้อง เพราะที่วัดไผ่เงินโชตนาราม มีป้ายบอกไว้ชัดเจนว่า “วัดไผ่เงินโชตนารามสร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2335 (ร. 1) ไม่ทราบนามและประวัติผู้สร้าง เดิมชื่อว่า วัดไผ่ล้อม ต่อมาทางราชการได้เวนคืนที่ดินตำบลคลองเตย ซึ่งวัดเงิน ตั้งอยู่ เพื่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ ด้วยเหตุนี้ วัดเงิน จึงได้รื้อเสนาสนะมารวมสร้างกับ วัดไผ่ล้อม แล้วเปลี่ยนนามเป็น วัดไผ่เงิน ในปี พ.ศ. 2482 (ร. 8) ต่อมาทางวัดได้อัญเชิญ หลวงพ่อสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระประทานจาก วัดโชติการาม (วัดพระยาไกร) ที่ได้กลายเป็นวัดร้าง พร้อมกับย้ายเสนาสนะมารวมสร้างที่วัดไผ่เงิน จึงเท่ากับเป็นการรวม 3 วัดเข้าไว้ด้วยกัน และได้เปลี่ยนนามวัดเป็นวัดไผ่เงินโชตนาราม ในปี พ.ศ. 2483” (https://bit.ly/3EPqw9H)

การเวนคืนเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาประเทศ แต่ที่ผ่านมาผู้ทำงานเวนคืนในส่วนราชการบางแห่งก็แซวตัวเองว่า ตัวเองทำงาน “ต่ำช้า” คือ จ่ายต่ำๆ และจ่ายช้าๆ สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ถูกเวนคืน การเวนคืนในยุคใหม่ต้องจ่ายสมน้ำสมเนื้อ ทุกความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน (ความสูญเสียตัวอาคาร-ที่ดิน ผลกระทบที่ต้องรื้อย้าย ความสูญเสียทางจิตใจ ฯลฯ) และจ่ายทันทีทันการณ์ โดยไม่ประวิงเวลา

แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็ไม่สามารถรื้อย้ายได้ จะมาอ้างว่าเป็นของโบราณ แตะต้องไม่ได้ ย่อมไม่ใช่ ของโบราณทั้งหลายก็สามารถย้ายไปอยู่ที่อื่นได้ หากจำเป็น โปรดอย่าให้ “คนตายขายคนเป็นเลย”


You must be logged in to post a comment Login