วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

สสส.เดินหน้าจับมือเครือข่ายเพิ่มพื้นที่ปิดเทอมสร้างสรรค์ใช้วันหยุดให้คุ้มค่า

On March 12, 2023

เด็กและเยาวชนไทยมีเวลาว่างถึง 150 วันในช่วงวันหยุดและปิดเทอม ในแต่ละวันของเยาวชนบางคนอาจจะหมดไปกับการท่องโลกออนไลน์จนขาดการทำกิจกรรมทางกายกับครอบครัวหรือเพื่อนจนทำให้เกิดภาวะเนือยนิ่ง ขาดการออกกำลังกายซึ่งจะส่งผลกระทบร่างกายในระยะยาว จะดีหรือไม่ถ้ามีแพลตฟอร์มที่สามารถรวบรวมกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับเด็กและเยาวชนได้ทุกจังหวัดในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้เข้าถึงพื้นที่ปลอดภัย และสร้างสรรค์ ที่มีกิจกรรมเหมาะกับทุกช่วงวัย

วันหยุด-ปิดเทอม 150   วัน ทำได้แค่เดินห้าง-ตลาดนัด

เมื่อเร็วๆนี้สำนักงานกองทุนสสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และภาคีเครือข่ายจัดการเสวนาในหัวข้อ “ปิดเทอม เปิดชีวิต” เปิดพื้นที่ให้เยาวชน ค้นหาตัวตน ท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า บางครั้งการเรียนรู้นั้นมันยิ่งใหญ่กว่าการศึกษาเสียอีก ที่ผ่านมาในช่วงปิดเทอม และวันหยุดเด็กและเยาวชนจะมีวันว่าง 150 วัน/ปี จากการสำรวจเราพบว่าในช่วงวันหยุดเด็กและเยาวชนมีสถานที่ที่จะไปคือ ห้างสรรพสินค้าและตลาดนัดเท่านั้น จะดีหรือไม่ถ้าเด็กและเยาวชนได้ใช้วันว่างหาสิ่งที่ตนเองอยากเรียนรู้เพื่อเปิดประสบการณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยต่อยอดในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการเรียนรู้ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว

ที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนไทยต้องเผชิญภาวะเสี่ยงต่างๆ มากมาย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี 2565 มีเด็กเสียชีวิตราว 800 คน โดย 1 ใน 3 เสียชีวิตในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน เดือน มี.ค. – พ.ค. สาเหตุการตายอันดับหนึ่งคือการจมน้ำ ขณะที่ข้อมูลศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก พบเด็กบาดเจ็บจากสนามเด็กเล่นที่ไม่ได้มาตรฐานมากถึงปีละ 34,000 คน นอกจากนี้ สสส. พบข้อมูลจากหลายแหล่งชี้ไปในทางเดียวกันว่า สถานการณ์โควิด-19 ผลักเด็กและเยาวชนเข้าสู่โลกออนไลน์เร็วขึ้น 2-3 ปีและนานถึง 12 ชั่วโมง/วัน เด็ก 44.36% ถูกกลั่นแกล้ง รังแกในโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) ที่น่าเป็นห่วงคือข้อจำกัดเรื่องจำนวนและคุณภาพแหล่งเรียนรู้ ทำให้เด็กไทยจำนวนมากไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้หลายประเภท ทั้งศูนย์ฝึกอาชีพ ห้องสมุด สนามกีฬา เหตุผลหลักคือไกลบ้าน สสส. จึงสานพลังภาคี ริเริ่มโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ ตั้งแต่ปี 2561 และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดแพลตฟอร์ม happyschoolbreak.com รวบรวมข้อมูล เชื่อมร้อยกิจกรรมสำหรับเด็กหลากหลายช่วงวัย จากหน่วยงาน และเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงกิจกรรมได้ง่ายขึ้น 

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ในการดำเนินงานของ สสส.จะสำรวจข้อมูลว่าเด็กและเยาวชนมีความต้องการหรืออยากจะเรียนรู้จะทำกิจกรรมอะไรบ้าง แล้วจะทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ จังหวัด ท้องถิ่นภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายต่างๆ สสส.จะทำหน้าที่แมชชิ่งกับผู้ใหญ่และเด็กผ่านแพลตฟอร์มที่กล่าวมาข้างต้น

“ปีนี้ สสส. สานพลังภาคี ขับเคลื่อนกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ ต่อยอดสู่ “เมืองแห่งการเรียนรู้” 4 ภูมิภาค 4 จังหวัดนำร่อง คือ อุตรดิตถ์ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา ยะลา มีหน่วยจัดการ ประสานงานและขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ มีฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้ เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์รองรับเด็กและเยาวชนทั่วจังหวัด และมีอีก 25 จังหวัดเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนด้วย นอกจากนี้ ได้ร่วมกับภาคีนวัตกรรมซึ่งพัฒนาแอปพลิเคชันให้เยาวชนที่ต้องการหางานพาร์ทไทม์ หลังเลิกเรียนและวันหยุดอีกมากกว่า 1,000 ตำแหน่ง สำหรับปีนี้ สสส.ตั้งเป้าหมายมีภาคีเครือข่ายร่วมเปิดพื้นที่ สร้างกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ ไม่น้อยกว่า 500 องค์กร รวม 5,000 กิจกรรมที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนได้โดยตรงไม่น้อยกว่า 200,000 คนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม เราอยากให้เด็กทั่วประเทศได้เข้าถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ช่วงปิดเทอมและวันว่างจึงหวังว่าโครงการนี้จะถูกยกระดับเป็นนโยบายแห่งชาติที่มีเจ้าภาพหลักดำเนินงานต่อเนื่องและครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” ดร.สุปรีดา กล่าว

เทศบาลนครยะลา ดึงเยาวชนเพื่อสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด

เทศบาลนครยะลาเป็นตัวอย่างหนึ่งของท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญกับเยาวชนเป็นอย่างมาก เพราะในพื้นที่ของเทศบาลนครยะลา เต็มไปด้วยความแตกต่างทางด้านศาสนา ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลากล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ตนทำงาน เทศบาลยะลาให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กและเยาวชนมาโดยตลอด มีการสนับสนุนงานหลายด้าน ทั้งการศึกษา สร้างอาชีพ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม พหุวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด play & learn ผ่าน TK PARK ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งการดูแลเด็กๆนั้นเพื่อการต่อยอดการพัฒนาในด้านต่างๆ

นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เด็กๆเข้ามาเรียนรู้งานในส่วนต่างๆของเทศบาลว่าเขาทำงานกันอย่างไร เด็กเป็นคนยะลาต้องเรียนรู้เรื่องชุมชนของตนเอง เมื่อจบแล้วตนจะมีใบงานให้ตอบคำถามว่าถ้าได้เป็นนายกฯจะทำอย่างไร หรือจะทำอะไรให้กับยะลา หรือแม้แต่การจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อสอนให้เขาได้มีความรักในบ้านเกิด จะทำอย่างไรให้กับบ้านเกิดของตนเองแบบไม่เป็นการยัดเยียดให้เด็ก ซึ่งการจัดกิจกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเพื่อให้เหมาะสมกับเด็ก เพราะเด็กมีการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าผู้ใหญ่

โดยงานล่าสุด เทศบาลได้นำชุดของมุสลิมไปสู่เวทีโลก ด้วยการจัดแสดงในงาน “ลอนดอนแฟชั่นวีค” มีการเปิดพื้นที่เรียนรู้หลายแห่ง หลายรูปแบบ รองรับเด็กและเยาวชนทั้งในเทศบาลและพื้นที่ใกล้เคียง สร้าง TK PARK แล้ว 2 แห่ง ปัจจุบันกำลังสนับสนุนให้มี TK PARK 4 มุมเมืองในเทศบาลยะลา และคาดว่าจะสมัครเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก ภายในปีนี้เช่นกัน

กทม.เน้นการเข้าถึงพื้นที่สร้างสรรค์ของเด็กด้อยโอกาส

พื้นที่ กทม. เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย และมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีช่องว่างทางสังคมมากมาย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งเรียนรู้เป็นจำนวนมาก แต่การเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้ยังมีข้อจำกัดอยู่ นายศานนท์  หวังสร้างบุญ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในภาพรวมรัฐมีหน้าที่รับฟังเพื่อการมีส่วนร่วมที่มีความหมาย สำหรับในกทม.แล้ว เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะใน กทม.มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากว่าต่างจังหวัด สำหรับ กทม.เราพบว่า เด็กที่เกิดใหม่ใน กทม.ส่วนมากเกิดกับครอบคัวที่มีรายได้ต่ำ ทำให้การเข้าถึงในเรื่องต่างๆเป็นเรื่องยาก รวมทั้งด้านสวัสดิการ พื้นที่ใน กทม.มีแหล่งเรียนรู้เป็นจำนวนมากทั้งพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ ห้องสมุด แต่เด็กกลุ่มด้อยโอกาสนั้นมีโอกาสจะเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้ยากด้วยข้อจำกัดต่างๆของครอบครัว ดังนั้นกทม.จะต้อง เรื่องของสวัสดิการ การสร้างการเรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้ที่ กทม.มีโดยเป็นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย

ทั้งนี้ กทม.ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานเยาวชนหลายมิติ มีวาระเทศกาลการอ่านและการเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่เรียนรู้ กำลังรวบรวมพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน กว่า 200 แห่งทั่วกรุงเทพ เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกเพศ ทุกวัย และ กทม. เตรียมพร้อมสมัครเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกด้วย

แหล่งเรียนรู้คือที่สร้างแรงบันดาลใจมากกว่าการเรียนรู้

สำหรับพิพิธภัณฑ์คือหนึ่งในหลายๆสถานที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน แต่ทำไมเด็กและเยาวชนถึงไม่ค่อยอยากไปพิพิธภัณฑ์ ในเรื่องนี้ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) บอกว่า ไม่อยากให้ทุกคนมองว่า พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่เก็บของเก่าเท่านั้น แต่จริงๆแล้วพิพิธภัณฑ์ของแหล่งเรียนรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อเป็นการต่อยอดในการเรียนรู้

การเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้เป็นสิทธิของเด็กทุกคน เป็นพื้นที่ของคนทุกคน ยิ่งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แล้ว อยากให้มองว่าเรื่องของวิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยวิทยาศาสตร์จะถูกสอดแทรกไปทุกๆกิจกรรม เพื่อให้ดูง่ายและสนุก เพื่อให้เด็กสนใจจนทำให้เกิดการเรียนรู้ตามมา

ในวันนี้การเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของเด็กจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปเพียงแค่คลิกไปที่  happyschoolbreak.com ทั้งผู้ปกครอง เด็กและเยาวชนจะรู้ได้ทันที่ว่ามีที่ไหนจัดกิจกรรมที่ตนเองสนใจและสามารถเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างสรรค์ต่อไป โดยเป็นการใช้เวลาวันหยุดที่มีถึง 150 วัน ได้อย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว


You must be logged in to post a comment Login