วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

sacit ชูพลังคนรุ่นใหม่ปั้น Soft Power หนุนหัตถกรรมไทยสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล

On March 17, 2023

sacit ดึงคนรุ่นใหม่สร้างกระแส Soft Power ปั้นหัตถกรรมไทยสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ตอบรับเทรนด์สินค้าและบริการเติบโตเข้มแข็ง หวังแบ่งสัดส่วนการตลาด Soft Power ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ มูลค่าทางการค้ามหาศาลถึง 1.45 ล้านล้านบาทต่อปี

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานในพิธีเปิดงาน “Andaman Craft Festival” พร้อมระบุว่า กระทรวงฯ มีนโยบายผลักดันจุดแข็งของประเทศในด้านสินค้าและบริการที่สะท้อนภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมเป็น Soft Power สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งพบว่าสินค้าประเภทนี้กำลังเป็นที่นิยม และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

โดยในแต่ละปีสินค้าและบริการ Soft Power สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ มีมูลค่าทางการค้าจำนวนมหาศาลถึง 1.45 ล้านล้านบาท ครอบคลุมใน 5 ด้าน หรือที่เรียกว่า 5F ได้แก่ Food อาหารไทย, Film ภาพยนตร์และละครไทย , Fashion การออกแบบแฟชั่นไทยและผ้าไทย, Fighting ศิลปะการป้องกันตัวมวยไทย และ Festival เทศกาลประเพณีไทย

กระทรวงฯ จึงมอบหมายให้สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ต่อยอดและสนับสนุนสินค้าและบริการประเภทดังกล่าวให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง พัฒนาให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคในชีวิตประจำวัน อีกทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดด้วยเครื่องมือดิจิทัลที่มีบทบาทสำคัญ และขยายฐานไปยังกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit เปิดเผยว่า จากพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่นิยมการเลือกซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ และยังพบว่ากลุ่มคน Gen Y ที่อยู่ในช่วงวัย 25 – 40 ปี มีบทบาทและอิทธิพลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ส่งผลให้ sacit กำหนดแผนดำเนินงานสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เกิดการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ผ่านเครื่องมือการค้าที่เรียกว่าแพลตฟอร์มดิจิทัล

โดยในปี 2566 นี้ sacit จะมีการประชุมสมาชิกและสร้างเครือข่ายผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจดลิขสิทธิ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน การส่งเสริมการขายงานศิลปหัตถกรรมไทยทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงการให้ความรู้ใหม่ๆ ด้านการขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ จะเร่งขยายกลุ่มผู้ซื้อไปยังกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยอาศัยเครื่องมือด้านความบันเทิง สร้างการมีส่วนร่วมกับคนรุ่นใหม่ พร้อมใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพล (Key Opinion Leader) ที่สามารถเชื่อมต่อและสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ ประกอบกับการเน้นสร้างภาพจำของงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทันสมัยและสามารถใช้งานในชีวิตประจำวัน อันจะนำมาสู่การบริโภคอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี sacit ได้ดำเนินการตามแผนงานดังกล่าว ผ่านการนำบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพล พร้อมด้วยตัวแทนของเยาวชนคนรุ่นใหม่ มานำเสนอความเป็นไทย ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังของ Soft Power งานศิลปหัตถกรรมไทย ล่าสุดภายในงาน “Andaman Craft Festival” เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ลานมังกร จังหวัดภูเก็ต มีการนำเสนอพลังของงานศิลปหัตถกรรมไทยผ่านโชว์ของบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพล พร้อมด้วยการนำเยาวชนคนรุ่นใหม่นักเรียน นักศึกษามาถ่ายทอดหัตถกรรมไทย

อีกทั้งยังได้พลังของคนตัวเล็ก น้องกานพลู ด.ญ.อัญช์ณฎา ลักขณา Phuket Young Ambassador หนึ่งในตัวแทนคนสำคัญของประเทศไทยที่นำเสนอความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 ได้มาร่วมนำเสนอมุมมอง “พลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนงานศิลปหัตถกรรมไทยในโลกดิจิทัล” สะท้อนให้คนไทยตระหนักถึงการมีส่วนร่วมสืบสานอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทย และยังสะท้อนพลังของการร่วมสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมไทยจากตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ถ่ายทอดโดยตรงไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยกัน

“เราพยายามผลักดัน Soft Power งานศิลปหัตถกรรมไทยไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้สืบสานส่งต่อความเป็นไทย และเป็นกลุ่มหลักของประเทศในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากมีสัดส่วนประชากรจำนวนมากในขณะนี้ ดังนั้นหากสามารถสร้างให้คนรุ่นใหม่ เป็นเครือข่ายงานศิลปหัตถกรรมไทยที่เข้มแข็ง ประกอบกับใช้ช่องทางการตลาดผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ย่อมแผ่อิทธิพลออกไปในสังคมวงกว้างได้ และจะผลักดันให้เกิดพลังของงานศิลปหัตถกรรมไทย” นายภาวี กล่าว


You must be logged in to post a comment Login