วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

นักวิชาการ WHO-SEARO เข้าศึกษาดูงานส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิตด้วยกลไกชุมชน

On April 5, 2023

นักวิชาการ WHO-SEARO เข้าศึกษาดูงานส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิตด้วยกลไกชุมชน ที่วัดเชิงกระบือ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี สสส.-กรมสุขภาพจิต-มสช. สานพลังปั้นเครือข่าย นสช.-พัฒนานวัตกรรม 10 พื้นที่ต้นแบบดูแลสุขภาพกาย-ใจประชาชนถึงบ้าน

ที่วัดเชิงกระบือ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี นักวิชาการต่างประเทศจากสมาชิกเครือข่าย WHO SOUTH-EAST ASIA (WHO-SEARO) 9 ประเทศ เดินทางศึกษาดูงานระบบดูแลสุขภาพจิตด้วยกลไกชุมชน Dr Andrea Bruni Regional Advisor (Mental Health) WHO South-East Asia Region กล่าวว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ จำเป็นต้องขยายบริการด้านสุขภาพจิตในชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่าย องค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (WHO-SEARO) จัดการประชุมเพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยเรื่องสุขภาพจิตที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 3-5 เม.ย. 2566 หนึ่งในประเด็นสำคัญของแผนนี้คือ การให้บริการด้านสุขภาพจิตร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งการให้บริการและการสร้างภาคีเครือข่ายในชุมชนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขยายบริการด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชนครอบคลุมมากขึ้น 

“แผนนี้ สอดคล้องกับคำแถลงการณ์ด้านสุขภาพจิต Paro declaration ที่ประเทศสมาชิก WHO-SEARO ได้ร่วมรับรองเมื่อ ก.ย.2565 การส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เป็น 2 ส่วนที่สำคัญของงานสุขภาพจิต ซึ่งกำลังถูกพัฒนาอยู่ในแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยเรื่องสุขภาพจิตเช่นกัน ชุมชนและผู้ที่มีประสบการณ์กับโรคจิตเวช สามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต จึงต้องพยายามให้มากขึ้นในประเด็นนี้ โดยเฉพาะในการป้องกันการฆ่าตัวตาย เนื่องจากในภูมิภาคนี้มีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่า 200,000 คนต่อปี ซึ่งความสูญเสียนี้สามารถป้องกันได้” Dr Andrea กล่าว

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ถือเป็นวันสำคัญ ที่ สสส. WHO-SEARO โรงพยาบาลศรีธัญญา และทีมปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมชนบางกรวย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานกับชุมชน โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพจิต ซึ่งที่นี่เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบที่ สสส.สานพลัง กรมสุขภาพจิต มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ดำเนินโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต สร้างนวัตกรรมสร้างเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน 10 ชุมชนต้นแบบกระจายใน 5 ภูมิภาค มีนักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน (นสช.) กว่า 300 คน มีหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งชุมชน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล รวมทั้งตำรวจ ซึ่งเป็นหน้าด่านสำคัญในการรับมือกับผู้ป่วยจิตเวช เกิดโมเดลต้นแบบที่สามารถนำไปขยายผลต่อในพื้นที่ชุมชนอื่นได้

นพ.ศุภเสก วิโรจนาภา นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า ในหลายชุมชนมักมีคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต แต่มีเพียง 1 ใน 8 คนเท่านั้นที่ยอมเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่กลัวการถูกตีตรา ปัญหาสุขภาพจิตจึงมักถูกซ่อนไว้ และกลายเป็นปัญหาใหญ่ในภายหลัง ภายใต้โครงการนี้ โรงพยาบาลฯ นำเครื่อง Smart Pulse อุปกรณ์วัดความแปรปรวนของการเต้นของหัวใจ ใช้ตรวจวัดความเครียดและสุขภาพหลอดเลือดมาอบรมให้ นสช. ใช้คัดกรองสุขภาพกายและใจเบื้องต้นให้กับคนในชุมชน เป็นการเปิดใจให้คนที่มีปัญหากล้าพูดมากขึ้น เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้านจนเรียกว่า หมอดูวิทยาศาสตร์ ทำให้สามารถแนะนำการดูแลตัวเองได้มากขึ้น หากการตรวจเบื้องต้นพบความเสี่ยง ก็มีเครื่องคัดกรองภาวะซึมเศร้า และหากพบว่าจำเป็นต้องได้รับการรักษาก็มีระบบส่งต่อเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลต่อไป ซึ่งกลไกนี้ช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตของคนในชุมชนได้อย่างใกล้ชิด


You must be logged in to post a comment Login