วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

สสส. สานพลัง คิด for คิดส์ – 101 PUB เปิดรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ปี 66 “เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง”

On May 17, 2023

สสส. สานพลัง คิด for คิดส์ – 101 PUB เปิดรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ปี 66 “เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง หลังโควิด – เลือกตั้ง” พร้อมเปิดเวทีถกแนวนโยบายแก้ปัญหา-เติมฝันเด็กและครอบครัวภายใต้รัฐบาลใหม่

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2566 ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดยความร่วมมือระหว่างสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กับศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank : 101 PUB) จัดเสวนาสาธารณะ “เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2566” เผยแพร่รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2566 พร้อมหารือแนวนโยบายแก้ปัญหา-เติมฝันเด็กและครอบครัวภายใต้รัฐบาลใหม่

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 กล่าวว่า ในปี 2565 มีอัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์เพียง 502,000 คน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 595,965 คน มีอัตราผู้สูงอายุเพิ่มกว่า 800,000 คน เด็กและเยาวชนในปัจจุบันต้องเผชิญกับการแข่งขัน และความท้าทายต่างๆ มากขึ้น จากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหารากเหง้าของสังคมเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะเรื่องรายได้ แต่รวมถึงโอกาส อำนาจ สิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมีเด็ก 40% ที่พ่อแม่ต้องทิ้งให้อยู่กับปู่ยาตายาย ทิ้งภาคการเกษตรไปหารายได้ในภาคอุตสาหกรรม เชื่อมโยงเป็นปัญหาครอบครัวและสังคม การแก้ไขจึงต้องอาศัยหลายฝ่ายโดยยึดหลัก 3 ข้อ 1. วิธีการเชิงระบบ (System Approach) 2.ทำต่อเนื่อง 3.ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่เด็กและครอบครัวไทยเผชิญกับความพลิกผันของทั้งสังคมโลกและสังคมไทย 2 เรื่องใหญ่ หรือ “สองทางแพร่ง” คือสถานการณ์ ‘หลังโควิด’ และ ‘หลังเลือกตั้ง’ ที่เพิ่งผ่านพ้นไป สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย จัดเสวนาวันนี้ เพื่อชวนคิดและหาคำตอบว่า รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างไร จึงจะสนับสนุนคุณภาพชีวิต และสุขภาวะของเยาวชนและครอบครัวได้ดีที่สุด ผ่านมุมมองของผู้แทนเยาวชน นักการเมือง และนักวิชาการ พร้อมสำรวจความคิดเห็นเยาวชน 20,000 คน ที่จะทำให้เราเข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’ อย่างแท้จริง โดย สสส. คาดหวังว่า การสานพลังจัดเวทีนี้ของทุกภาคส่วน จะทำให้ได้ข้อเสนอนโยบายที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นระบบ กลไก และมาตรการสนับสนุนทรัพยากรให้ครอบครัว มีขีดความสามารถในการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก สนับสนุนโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงพื้นที่เรียนรู้ใกล้บ้าน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาเชิงนโยบายในระดับประเทศ เพราะการลงทุนกับเด็กเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เหมือนการสร้างฮาร์ดแวร์ให้พร้อมใส่ซอฟต์แวร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB หัวหน้าโครงการศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว กล่าวว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา คิด for คิดส์ ได้ผลิตงานวิชาการเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อตอบโจทย์สังคมไทยในอนาคต ยิ่งเกิดกระแสความท้าทายใหญ่ๆ เช่น สังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งทางความคิด ความผันผวนของโลกและเทคโนโลยี นโยบายเด็กและครอบครัวจึงยิ่งมีความสำคัญ เพราะเป็น ‘ฐานหลัก’ สำหรับอนาคตของประเทศที่แท้จริง โดย คิด for คิดส์ จัดทำข้อมูลสำรวจเยาวชน (Youth Survey 2022) สำรวจมุมมองและทัศนคติของเยาวชนทั่วประเทศเกือบ 20,000 คน สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่หลายเรื่อง ตั้งแต่พื้นฐานความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวและสังคม การเรียนรู้ การทำงาน คุณค่าและทัศนคติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ทำให้เข้าใจครัวเรือนเปราะบางซับซ้อนในสังคมไทย ภาวะการเรียนรู้ถดถอยระหว่างวิกฤตโควิด-19 และจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยถึงสังคมไทยที่พวกเขาอยากเห็น ด้วยวิธีวิจัย civic imagination ที่เคยถูกใช้ในไทยมาก่อน รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนในระดับนโยบายด้วยการทำ Youth Policy Lab ที่นำเยาวชนมาร่วมคิดนโยบายออกแบบกรุงเทพฯ ด้วย

นายวรดร เลิศรัตน์ และ นายสรัช สินธุประมา นักวิจัยและบริหารการวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว นำเสนอรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023 ของ คิด for คิดส์ ว่า เด็กและครอบครัวไทยกำลังเผชิญ 2 ทางแพร่ง ได้แก่ ทางแพร่งหลังโควิด และหลังเลือกตั้ง มี 6 สถานการณ์สำคัญ 1.เด็กและเยาวชนเติบโตในครอบครัวเปราะบางซ้ำซ้อนและยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤต รายได้ครัวเรือนหดหาย เป็นหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีเด็กฟื้นตัวยากกว่าจนกระทบกับคุณภาพชีวิตและการพัฒนา 2.เยาวชนมีงานที่ดีและสอดคล้องกับความฝันได้ยากขึ้น 15% ไม่มีงาน ไม่ได้รับการจ้างงาน ไม่ได้เรียน หรือฝึกทักษะ ส่วนหนึ่งเพราะหางานที่ดีได้ยาก และต้องดูแลที่บ้านเป็นหลัก 3.เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยและพัฒนาทักษะจำเป็นจากระบบการศึกษา การปิดสถานศึกษาช่วงโควิดทำให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย 4.เด็กและเยาวชนเผชิญปัญหาเครียดและซึมเศร้า แต่เข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ไม่ทั่วถึง บริการดูแลสุขภาพจิตเหลื่อมล้ำสูง กระจุกในเมืองใหญ่ 5.เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจำนวนมากขึ้น ในรูปแบบซ่อนเร้นยิ่งขึ้น ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา และเปราะบางต่อภัยคุกคามออนไลน์มากขึ้น 6.เด็กและเยาวชนฝันถึงสังคมใหม่ สังคมที่คุ้มครองเสรีภาพทางความคิด ทลายระบบอุปถัมภ์-เส้นสาย แก้ทุจริต ปฏิรูปเศรษฐกิจให้ทุกคนกินดีอยู่ดี มีโอกาสเสมอกัน


You must be logged in to post a comment Login