วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สสส.-พม. ปูพรมลงพื้นที่แจงนับคนไร้บ้านปี 66

On May 23, 2023

เริ่มแล้ว สสส.-พม. ปูพรมลงพื้นที่แจงนับคนไร้บ้านปี 66 “One Night Count” พร้อมกัน 77 จังหวัด  เตรียมพร้อมแผนนโยบายดูแลคนไร้บ้าน เล็งจ้างงาน เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดภาวะไร้บ้าน

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 ณ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมพัฒนาสังคมสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ร่วมเปิดโครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) ลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูลเบื้องต้นจำนวนคนไร้บ้าน ปี 2566 ภายในคืนเดียว พร้อมกัน 77 จังหวัด

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า  กลุ่มคนไร้บ้าน เป็นกลุ่มประชากรที่สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพ จำเป็นต้องมีการคุ้มครองทางสังคม และสร้างพลังทางสังคม การแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) มอบหมายให้ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 77 จังหวัด และเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง กองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต 

ลงพื้นที่แจงนับ1 คืน เพื่อนำฐานข้อมูลมาขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่ ระดับประเทศ เตรียมแผนผลักดันนโยบายการเข้าถึง สิทธิสุขภาพ สวัสดิการต่าง ๆ ศักยภาพเข้าถึงที่อยู่อาศัย และอาชีพ ออกแบบระบบการคุ้มครองดูแล และจัดบริการสวัสดิการสังคมอย่างตรงจุด

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ความเปราะบางที่นำมาสู่การเป็นคนไร้บ้าน คือ เศรษฐกิจและครอบครัว จากการศึกษาโอกาสเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่เกี่ยวข้องทั้ง รายได้ รัฐสวัสดิการ พฤติกรรมการดื่ม ความพิการ การอยู่ในภาวะไร้บ้านเป็นเวลานาน ส่งผลต่อสุขภาพกาย และสุขภาวะทางจิต สถานการณ์สุขภาพคนไร้บ้านพบ สูบบุหรี่สูงถึง 55% ดื่มสุรา 41% แต่ผู้เข้ารับบริการศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน กลับมีอายุเฉลี่ยสูงกว่าคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ แสดงให้เห็นว่า “นโยบายที่อยู่อาศัยมีความสำคัญ” สสส. ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย พัฒนาโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” สสส. สนับสนุน 60 % คนไร้บ้านสมทบ 60 %  ในอัตราค่าเช่า 1,700 – 2,200 บาท/เดือน โมเดลนี้ ต่อยอดโครงการนำร่อง “บ้านสวัสดิการที่อยู่อาศัยคนจนเมือง” ปรับพื้นที่ตึกร้าง ให้เป็นที่อยู่อาศัยราคาถูก โดย พม. และกทม.  อยู่ระหว่างการศึกษา ให้คนไร้บ้าน หรือคนที่อยู่ในภาวะก้ำกึ่งต่อการไร้บ้าน สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเสี่ยงจากภาวะไร้บ้านถาวร “คนไร้บ้าน” ต้องตั้งหลักชีวิตได้ นี่คือเจตนารมณ์ของ สสส.

รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดำเนินงานของแผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้านฯ ของสถาบันฯ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ในฐานะหน่วยทางวิชาการในการขับเคลื่อนนโยบาย ชี้ให้เห็นสถานการณ์ และมิติปัญหาของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านที่มีความซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในการแจงนับ และสำรวจคนไร้บ้านครั้งใหม่ปี 2566 ครอบคลุมทั้ง  77 จังหวัด จะมีส่วนอย่างสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์ประชากรคนไร้บ้านมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการกำหนดนโยบายที่ครอบคลุม ตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และสุขภาวะคนไร้บ้าน รวมถึงการป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านของกลุ่มเปราะบาง


You must be logged in to post a comment Login