วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

หนุนสร้าง“ป่าชุมชน” เพื่อความยั่งยืน สร้างระบบนิเวศน์บริการ

On July 8, 2023

ในปี พ.ศ.2562 ได้มีการประกาศใช้ “พ.ร.บ.ป่าชุมชน” เป็นฉบับแรก ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562   และคณะรัฐมนตรีมีมติให้ วันที่ 24 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันป่าชุมชนแห่งชาติ” หัวใจสำคัญของการมี  พ.ร.บ.ป่าชุมชน คือ การแก้ไขปัญหาการลุกล้ำพื้นที่ป่าไม้ และรวมการส่งเสริมให้มีการทำฝายมีชีวิต เพื่อแก้ไขความยากจนของชาวบ้านที่เกิดจากการที่ประชาชนในชนบทไม่มีสิทธิ์ในการดูแลและพึ่งพาอาศัยและใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรป่า

โดย พ.ร.บ.นี้ ต้องการส่งเสริมให้ชุมชนได้ร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของป่าชุมชน ซึ่งป่าชุมชนนี้จะต้องเป็นป่านอกเขตป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่อื่นของรัฐ นอกเขตป่าอนุรักษ์ และได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน  โดยชุมชนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืนตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน

จากข้อมูลของ กรมป่าไม้ พบว่า มีการจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศแล้ว 12,117 แห่ง ชุมชนมีส่วนร่วม 13,855 หมู่บ้าน เนื้อที่รวม 6.64 ล้านไร่  มีประชาชนได้รับประโยชน์จากป่า 3,948,675 ครัวเรือน  เพิ่มรายได้ จำนวน 4,907 ล้านบาท การกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในป่าชุมชนเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน รวม 42 ล้านตันคาร์บอน การกักเก็บน้ำในดินและการปล่อยน้ำท่า 4.562 ล้านลูกบาศก์เมตร และการประเมินมูลค่าของระบบนิเวศน์ของป่า 595,857 ล้านบาท กรมป่าไม้ตั้งเป้าสนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชนเพิ่มเป็น 15,000 แห่งทั่วประเทศ ชุมชนมีส่วนร่วม 18,000 หมู่บ้าน เนื้อที่รวม 10 ล้านไร่ ในปี 2570

สสส.หนุนสร้างป่าชุมชน เน้นแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) กรุงเทพฯ ได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ(MOU) สนับสนุนและการขับเคลื่อนการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อสุขภาพประชาชน แต่ปัจจุบันโลกเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกจาก World Economic Forum เมื่อปี 2022 พบว่า ความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดใน 3 อันดับแรกของโลกช่วง 10 ปีต่อจากนี้ คือ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นได้ชัดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของไทย ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) คุณภาพอากาศเลวร้าย โดยเฉพาะภาคเหนือติดอันดับเมืองคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกหลายวันติดต่อกัน แนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพดังกล่าว “ป่าชุมชน” เป็นอีกหนึ่งของกลไกที่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ โดย สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย ทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนตามฐานทรัพยากรของพื้นที่ รวมถึงหนุนเสริมกลไกบริหารจัดการด้วยองค์ความรู้ทางวิชาการ พร้อมพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ให้เกิดการสร้างรายได้ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากป่าชุมชนคาร์บอนเครดิต ให้ประชาชนเห็นประโยชน์ของป่าที่มากกว่าสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และสุขภาพอย่างยั่งยืนด้วย

“ สสส.ย่างเข้าสู่ปีที่ 21 ซึ่งทาง สสส.ได้พยายามแก้ปัญหาที่ต้นเหตุตามปรัชญาของ สสส. คือ การสร้างนำซ่อม ทำให้มีภูมิคุ้มกันต้านทาน สำหรับโครงการนี้ตนมองว่าเป็นการสร้างศักยภาพให้ชุมชน ทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งที่ดีที่เริ่มต้นด้วยตนเองทำให้ชุมชนเข้มแข็งและขยับเขยื้อนได้และมีภาคีเข้ามาช่วย ซึ่งจะทำอย่างไรให้คนเห็นปัญหาแล้วอยากมีส่วนร่วมในการทำให้ชุมชนมาร่วมแก้ไขปัญหา สุดท้ายป่าชุมชน คือชีวิตของผู้คนในพื้นที่เป็นการทำงานอย่างมีทิศทางและมีการกระจายอำนาจ” นายชาติวุฒิ  กล่าวว่า

ลงทุน 3  ล้าน ได้ค่าตอบแทน 21 ล้าน

นายเดโช ไชยทัพ ประธานคณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนป่าชุมชนและฝายมีชีวิต พอช. กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการป่าชุมชนและฝายมีชีวิต จะดำเนินกิจกรรมหลัก 4 กิจกรรม 1. อนุรักษ์และแบ่งประเภทการใช้ประโยชน์ของป่าชุมชนและฝายมีชีวิต 2. บริหารจัดการน้ำของชุมชน 3. พัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนและเครือข่าย 4. ใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนและฝายมีชีวิตบนฐานการบริหารการจัดทรัพยากรอย่างยั่งยืน เช่น การเชื่อมโยงเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะใช้งบประมาณดำเนินการรวม 3,498,000 บาท แต่จะสามารถตีเป็นมูลค่าการตอบแทนทางสังคมได้กว่า 21 ล้านบาทในการขับเคลื่อนปีที่ 1 และต่อยอดการดำเนินการของชุมชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่ออีกอย่างน้อย 5 ปี นอกจากนี้ จะสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น มีส่วนร่วมในการบริหารป่าชุมชน ด้วยการสร้างอาชีพ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ และพัฒนาศักยภาพของชุมชน และเป็นส่วนหนุนเสริมให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกลับคืนสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน คณะทำงานชุดนี้จะทำหน้าที่ส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมและอยากจัดตั้งป่าชุมชน รวมทั้งชุมชนที่จัดตั้งป่าชุมชนแล้ว จัดทำแผนจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิต และใช้ประโยชน์จากป่าตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องประมาณ 15 แห่งภายในปีนี้ และนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ พอช. กล่าวว่า ในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกต้นไม้ดีๆ ได้ประมาณ 200 ต้น ได้ต้นละ 2-3 หมื่นบาท จะได้มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท หาก 1 ชุมชนปลูก 1,000 ไร่ จะสร้างมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปใน 3 ปีด้วยมือเรา และในอนาคตจะมีการต่อยอดในพื้นที่ป่าชายเลนที่สามารถจัดทำแผนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างพื้นที่สีเขียว ป่าไม้ประเทศไทยจะอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านก็จะอยู่ดีมีสุข

สอพ.สร้างป่าชุมชนตัวอย่างสร้างสิ่วแวดล้อม เสริมรายได้

นายจีระศักดิ์ ตรีเดช (ดิว) นายกสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ (สอพ) กล่าวว่า การเกิดป่าชุมชนในพื้นที่เกิดจากประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสูญเสียขึ้นมา และเมื่อมีการสืบค้นหาข้อมูลของการเกิดภัยพิบัติ ชาวบ้านจึงได้มาชวนตนเองให้มาร่วมกันปลูกป่าชุมชนขึ้นมา ต้องย้อนกลับไปว่า การชะล้างของหน้าดินมีความสูญเสียหน้าดินประมาณ 20 ตันต่อไร่ต่อปี มีภาวะความอ่อนไหวและความเสี่ยงรวมถึง ความเปราะบางของพื้นที่ที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติได้ นอกจากนี้มีการเชื่อมโยงกับปัญหาต่างๆ เช่น ไม่มีน้ำดื่มน้ำกิน จึงเกิดป่าชุมชนที่เป็นระบบนิเวศน์ขึ้นมารวมถึงเรื่องอาหาร  จึงเกิดระบบนิเวศบริการขึ้นมา

การทำงานเริ่มจาก พื้นที่ปลูกป่าชุมชนเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์เป็นป่าละเมาะ เราจึงเชิญทุกภาคส่วนมาร่วมกันมาช่วยกันปลูกป่า ทั้งนายอำเภอ ตำรวจ ทหาร รวมถึงชาวบ้านและท้องถิ่น เราเริ่มปลูกกันตั้งแต่ผู้ว่าราชการปัจจุบันเป็นนายอำเภอ แกก็อยากจะกลับมาดูป่าที่เราปลูก จากพื้นที่ที่มีการไหลของหน้าดินมาเยอะ เราไม่สามารถปลูกพืชโตเร็วได้ จึงหันมาปลูกไผ่ ซึ่งจะช่วยชะลอการไหลของหน้าดินได้ ประโยชน์ที่ได้คือ หน่อไม้ที่ได้ใช้ทั้งเพื่อบริโภคและขาย ชาวบ้านไม่ต้องนอนแบบหวาดผวาเวลามีน้ำหลาก เพราะพื้นที่ชาวบ้านอยู่ต่ำกว่า ลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน

เดิมการสูญเสียหน้าดิน ที่มีตะกอนแขวนลอยไหลลงมาที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นจำนวนมากทำให้เขื่อนป่าสักฯมีความจุจำนวน 96 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ถ้าดินตะกอนมาทับถมที่เขื่อนป่าสัก จะทำให้เวลาที่น้ำป่าไหลหลากลงมา ทำให้เขื่อนจุน้ำได้น้อย จะทำให้น้ำท่วมอย่างรวดเร็วอย่างในปี2554 ป่าสักฯจะมีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำลดลงเรื่อยๆ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อคนอยุธยา คนกรุงเทพ เพราะฉะนั้นถ้าเราช่วยกันกักเก็บหน้าดิน จะทำให้เกิดระบบนิเวศน์บริการที่สมบูรณ์ รวมถึงสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต้นน้ำ

นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า ในพื้นที่ของต้นเองเป็นป่าปลูกที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น  ซึ่งในอดีตน้ำดื่มยังไม่มี พอเราฟื้นฟูป่าขึ้นมา ปรากฏว่าชาวบ้านเริ่มมีน้ำดื่ม น้ำกินในหมู่บ้าน และสามารถนำน้ำไปใช้ในเรื่องการเกษตร ตอนนี้พวกเราเลยคิดเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ป่าควบคู่ไปกับพื้นที่การเกษตรด้วย และคิดถึงพื้นที่ป่ารอยสวน เพราะว่าจะลดการใช้ประโยชน์จากป่าก็จะต้องไปทำเรื่องของการพึ่งตนเองเป็นอันดับแรก


You must be logged in to post a comment Login