วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ชู 16 ประเด็นขับเคลื่อนเครือข่ายสร้างคุณภาพสังคมผู้สูงวัย

On July 9, 2023

สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะเดียวกันได้มีการพูดถึงคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยว่ามีคุณภาพจริงหรือไม่ รัฐควรเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มสวัสดิการให้ผู้สูงอายุได้มีชีวิตอยู่แบบมีคุณภาพด้วยเบี้ยผู้สูงอายุและสิทธิบัตรทองได้หรือไม่ จึงเป็นที่มาให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และภาคีเครือข่ายได้สรุป 16 ประเด็น เพื่อนการขับเคลื่อนคุณภาพสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ภาครัฐเข้ามาเป็นเจ้าภาพหลัก

ที่ผ่านมา ในการจัดเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566 วาระ : พลังชุมชนท้องถิ่น ตอบโจทย์ประเทศ และในเวทีการเสวนา “สมัชชาร่วมสร้างคุณภาพสังคมสูงวัย” ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ (Royal Jubilee) อิมแพ็ค เมืองทองธานี  ทั้งนี้ ข้อมูลตัวเลขอายุคนไทยที่กรมกิจการผู้สูงอายุได้บันทึกสถิติไว้ พบว่าเมื่อสิ้นปี 2565 ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 12,698,362 คน หรือคิดเป็นจำนวน 19.21% ของประชากรทั้งหมด 66,090,475 คนโดยกลุ่มที่มากที่สุดประมาณครึ่งหนึ่งคือกลุ่มอายุ 60-69 ปี

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน กล่าว ว่า สสส. โดยแผนสุขภาวะชุมชน ปรับวิธีการทำงานแนวใหม่ โดยมองภาพงานแบบองค์รวมขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน เพื่อให้เกิดการขยายทรัพยากรในการทำงาน บูรณาการสร้างเสริมสุขภาวะในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการส่งต่อกลไกทำงานร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบาย เกิดห่วงโซ่ผลลัพธ์ในการกำหนดมาตรการในการสร้างเสริมสุขภาพ ปัจจัยที่ส่งผลต่อตัวกำหนดสุขภาพ ตัวกำหนดสุขภาพ สู่สุขภาวะที่ดี ทั้งด้านวิถีชีวิตและพฤติกรรมของแต่ละคน ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคมและกายภาพ

“ตำบลสุขภาวะ ชุมชนสุขภาวะ ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ด้วย “ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น: S-2I (เอสทูไอ) S คือ จัดการพื้นที่ Systematization “คน- กลไก-ข้อมูล” I คือ การสร้างและพัฒนานวัตกรรมชุมชน และบูรณาการภายในชุมชนท้องถิ่น และหน่วยงานสนับสนุนภายนอก หนุนเสริม “ยุทธศาสตร์สาน 3 พลัง ของ สสส. คือ พลังปัญญา พลังสังคม พลังนโยบาย ด้วยกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์ 1. การจัดการพื้นที่ 2. การสร้างและพัฒนานวัตกรรมชุมชน 3. การบูรณาการภายในชุมชนท้องถิ่น และร่วมมือกับหน่วยงานสนับสนุนจากภายนอก ร่วมกับการสรุปบทเรียนจากประสบการณ์ร่วม การสร้างสังคมสุขภาวะแนวใหม่ ต้องเปลี่ยนฐานคิด เปลี่ยนวิธีคิด ด้วย 3 สร้าง คือ สร้างการเรียนรู้ สร้างการมีส่วนร่วม และสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น”ดร.ประกาศิต กล่าว

รศ.ดร.ขนิษฐา  นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวโดยสรุปว่า จากการทำงานด้านสังคมพบว่า ภาคเหนือมีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด ภาคกลางมีจำนวนผู้สูงอายุปฏิบัติภาระกิจประจำวันได้มากที่สุด เป็นต้น ดังนั้นองค์ประกอบของการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จะต้องประกอบด้วยกลุ่มเป้าหมาย หน่วยงานองค์กรผู้ปฏิบัติหลัก ลักษณะงาน กิจกรรม บริการ ระบบบริการต่างๆและระบบสนับสนุน ระบบกลไกการบริหารจัดการ ตามกรอบแนวคิดและแนวทางการดำเนินโครงการ  16   ประเด็น ดังนี้

1.เบี้ยยังชีพก้าวหน้า ทั่วถึงถ้วนหน้า

2.การสงเคราะห์ศพ

3.การจัดสวัสดิการสังคมโดยภาครัฐ

4.โรงเรียนผู้สูงอายุหรือศูนย์การเรียนรู้ของผู้สูงอายุ

5.การจัดทำแผนผู้สูงอายุตำบลแบบบูรณาการ

6.การใช้ข้อมูลสนับสนุนการบริการจัดการสำหรับผู้สูงอายุ

7.การส่งเสริมกิจกรรมสุขภาพผู้สูงอายุ

8.การบริการกรณีฉุกเฉินและวิกฤติ

9.การดูแลระยะยาว

10.การจัดบริการรักษาต่อเนื่องผู้สูงอายุ

11.การจัดบริการที่บ้านสำหรับผู้สูงอายุ

12.การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุ

13.การเพิ่มทักษะผู้ดูแลในชุมชน

14.การจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชน

15.ศูนย์กายอุปกรณ์

16.ชมรมผู้สูงอายุและกิจกรรม

ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 16   ประเด็นนั้น จึงอยากเสนอให้องค์กรท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลัก โดยมีการปรับโครงสร้างของหน่วยงาน บุคลากร และหน่วยงานที่รับผิดชอบ จัดสรรงบประมาณและทรัพยากร สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน

ด้าน นายสมพร  ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่  กล่าวว่า 16   ประเด็นของ รศ.ดร.ขนิษฐา  จะเป็นกรอบการทำงานเพื่อผลักดันให้รัฐและท้องถิ่นสร้างสังคมคุณภาพให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งเราคาดหวังว่าการร่วมมือของภาคีเครือข่ายในครั้งนี้จะผลักดันให้ผู้สูงอายุได้มีสวัสดิการที่มีคุณภาพได้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุดโดยมีองค์กรท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลัก จัดสรรทรัพยากรและงบประมาณไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนเชื่อว่าการขับเคลื่อนด้วยท้องถิ่นจะส่งผลให้การสร้างสังคมคุณภาพให้กับผู้สูงอายุดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง


You must be logged in to post a comment Login