วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

สสส.เปิดเวทีสานพลังพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในกรุงเทพฯ

On July 12, 2023

สสส.เปิดเวทีสานพลังพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก!! เดินหน้าเชื่อมโยงนวัตกรรมและทุกหน่วยเพื่อดูแลเด็กและเยาวชนจากครอบครัวเปราะบางแบบไร้รอยต่อ เน้นป้องกันปัญหา 4 มิติ “การเรียนรู้-สังคม-ความเป็นอยู่-สุขภาพ” ตั้งเป้าไม่มีเด็กตกหล่นจากระบบดูแลช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566 ณ รร.เดอะบาซาร์ โฮเทล กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน การเมือง หน่วยวิชาการ และศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน จัดเวทีสานพลังเพื่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญแก่สุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในเขตเมืองซึ่งมีปัญหาซับซ้อนเฉพาะตัว จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จึงจัดให้มีพื้นที่สานพลังการทำงานของภาคีเครือข่าย หรือ Connect Circle สำหรับครั้งนี้เป็นเวทีสานพลังคนทำงานเพื่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกและจะจัดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อนสูงทั้งปัญหาและโอกาส ขณะที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน อาจมีงานบางอย่างยังซ้ำซ้อน บางอย่างยังมีช่องว่าง สสส.จึงจัดพื้นที่กลางให้คนทำงานได้มา “รู้จักเพื่อน-รู้จักงาน” แลกเปลี่ยนความร่วมมือในเรื่องต่าง ๆ ทำให้เกิดเครือข่ายงานที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้เกิดโครงการร่วมระดับพื้นที่ไปจนถึงการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน เกิดการใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน มีระบบปฏิบัติงานที่เชื่อมร้อยกันแบบไร้รอยต่อ เพื่อไม่ให้มีเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะจากครอบครัวเปราะบางตกหล่นจากการดูแลช่วยเหลือ เช่น การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” ที่เชื่อมโยงบริการของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งผู้บริหารกรุงเทพมหานครตั้งเป้าหมายนำร่องใน 6 เขต 6 โซนของ กทม. ซึ่งภายหลังการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็ทำให้มีพื้นที่เขตสนใจเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วกว่า 10 เขต 

น.ส.ลัพธวรรณ ลีรพงษ์กุล คณะอนุกรรมการพัฒนาศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนและการดูแลเด็กปฐมวัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานด้านเด็กปฐมวัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2566-2567 ให้ความสำคัญกับทั้งการพัฒนาโครงสร้าง หลักสูตร และบุคลากร โดยใช้งบประมาณ กทม. และ CSR จากภาคเอกชน เพื่อปรับปรุงกายภาพของโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กให้มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน ปรับโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 100 คน เป็นอนุบาล กทม.นำร่อง และปรับระเบียบการจัดตั้งชุมชนแบบพิเศษเพื่อให้จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กได้มากขึ้น สร้างและปรับปรุงกายภาพพื้นที่กิจกรรมและนันทนาการ เช่น พิพิธภัณฑ์เด็ก หอสมุดเมือง ศูนย์กีฬา ปรับคุณสมบัติและเพิ่มอัตราค่าตอบแทนอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กตามวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ จัดอบรมมาตรฐานหลักสูตรและการประเมินผล นอกจากนี้ ศูนย์เด็กเล็ก กทม. ปรับลดอายุเด็กที่สามารถเข้ารับบริการจากเดิม 2 ปี เป็น 1 ปี 6 เดือน โรงเรียนสังกัด กทม. ขยายชั้นเรียนอนุบาลเป็นอนุบาล 1-3 ปรับลดอายุลงจากเดิม 4 ปี เป็น 3 ปีในปีการศึกษา 2567 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็กใกล้ชุมชนและแหล่งงาน รวมถึงส่งเสริมหลักสูตร คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น สำหรับเด็กช่วง 0-8 ปี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เติบโตเป็นอนาคตที่มีคุณภาพของเมืองและของประเทศต่อไป   

 นางเพ็ญศรี สงวนสิงห์ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ สวน. และภาคีเครือข่าย พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเติมเต็ม ต้นแบบระบบจัดการร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กเปราะบาง ระหว่างผู้ให้บริการทางสังคม 4 มิติ 1.การเรียนรู้ 2.สังคม 3.อาชีพความเป็นอยู่ 4.สุขภาพ โดยร่วมกับผู้ปกครองและเด็ก มีผู้นำชุมชน อาสาสมัคร ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ร่วมวางเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กเปราะบางตามความเร่งด่วนและความซับซ้อนในการป้องกันคุ้มครองเด็ก มีเส้นทางเติมเต็ม 9 ขั้นตอน 1.เจ้าหน้าที่แจ้งเคสเข้าแพลตฟอร์มเติมเต็ม 2.พิจารณาอนุมัติ หรือปฏิเสธ แล้วแต่งตั้งผู้จัดการเคส 3.ผู้จัดการเคสลงทะเบียนข้อมูลเด็กและครอบครัว ตั้งทีมทำงาน ตั้งกลุ่มเติมเต็มในการสื่อสาร 4.ทีมเติมเต็ม ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเยี่ยมบ้านพูดคุยกับผู้ปกครอง 5.ทีมเติมเต็ม ทำแบบประเมินปัญหา 4 มิติสำหรับเด็กและครอบครัว 6.ทีมเติมเต็ม ระดมความคิดเห็น นักสังคม และฝ่ายพัฒน์เขต ลำดับความซับซ้อนเร่งด่วน ตั้งเป้าหมายแผนบริการและผู้รับผิดชอบ กำหนดเวลาไม่เกิน 1 ปี 7.ทีมเติมเต็มสื่อสารกับผู้ปกครองในการดำเนินงานตามแผน เพื่อให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม 8.เมื่อผู้ปกครองเห็นชอบ ทีมงานดำเนินการตามแผนและติดตามผล 9.ทีมเติมเต็มแสดงข้อมูลข่าวสาร Real Time ให้ผู้ปกครอง แกนนำชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ 

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาวะเปราะบางของเด็กและเยาวชนมีหลากหลายมิติ มีความซับซ้อน การแก้ไขปัญหาไม่สามารถสำเร็จได้จากการทำงานเพียงบางประเด็น ขณะเดียวกันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและคุ้มครองเด็กจำนวนมาก อาทิ การศึกษา สุขภาพ สวัสดิการ ความรุนแรง ดังนั้น หลักการสำคัญในการทำงานคือการเชื่อมเป็นข่ายงานสังคมที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง มีชุมชน ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม ซึ่งรู้จักเด็กในชุมชนได้ดีกว่าหน่วยงานภายนอกและช่วยเหลือเด็กในภาวะเปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ร่วมสนับสนุน เน้นการป้องกันก่อนเกิดปัญหา ไม่ใช่รอให้ปัญหาปะทุก่อน โดยมีหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่ เช่น กทม. หน่วยงานสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หน่วยงานด้านการศึกษา หนุนเสริมและสนับสนุนทรัพยากร ขณะนี้ดำเนินการนำร่อง 13 ชุมชน ในเขตคลองเตย ทุ่งครุ และบางกอกน้อย ซึ่งจะมีการถอดบทเรียน เพื่อขยายผลการดำเนินงานต่อไป


You must be logged in to post a comment Login