- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 19 hours ago
- เลิกเสียเงินกับเรื่องโง่ๆPosted 2 days ago
- ปัญหายาเสพติดวาระแห่งชาติPosted 3 days ago
- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 4 days ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 5 days ago
- อย่าไปอินPosted 1 week ago
- ปีดับคนดังPosted 1 week ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 week ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 weeks ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 2 weeks ago
วัด-รพ.สต.-ชุมชน สามประสานชวนคนพื้นที่เลิกเหล้า
สสส.จับมือ สมาคมฮักชุมชน ถอดบทเรียนความสำเร็จแบบสามประสาน วัด-รพ.สต.-ชุมชน ชวนคนพื้นที่เลิกเหล้า โดยใช้ชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน ปรับการทำงานให้เหมาะสมกับพื้นที่ ชี้ผลลัพธ์ที่ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชน
สมาคมฮักชุมชน เลือกใช้ธรรมะและครอบครัวนำทาง
สำหรับสมาคมฮักชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าสู่กระบวนการ ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมี นางสาวรักชนก จินดาคำ เป็นนายกสมาคมฮักชุมชน ซึ่งสรุปได้ว่าขณะนี้โครงการฯได้ดำเนินการไปแล้วใน 26 พื้นที่ จาก 10 จังหวัด มีรูปแบบการทำงาน 2 รูปแบบ คือ รูปแบบธรรมนำทาง และ รูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลลัพธ์สำคัญ คือ 1.กลไกขับเคลื่อนงาน ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของปัญหา มีความเข้าใจ และพร้อมดำเนินการในมิติการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาสุรา 2.มีความรู้ ทักษะ เครื่องมือในการดูแลผู้มีปัญหาสุรา ที่คณะทำงานในพื้นที่และชุมชน สามารถนำไปใช้ได้ และติดตามผลได้ 3.ผู้มีปัญหาสุรา สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิก ดื่มสุรา มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนในครอบครัวและชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การดำเนินงานรูปแบบธรรมนำทาง มีกิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมอยู่วัด รู้ ธรรม 7 วัน 6 คืน และกิจกรรมติดตาม นำ หนุน ใจ มีพระสงฆ์เป็นผู้มอบหลักธรรม สร้างสติ หนุนเสริมปัญญาควบคู่ไปกับบุคลากรสุขภาพ ให้ความรู้ผลกระทบสุรา การดูแลสุขภาพ โดยมีผู้นำชุมชน และอสม. ช่วยสร้างแรงจูงใจให้สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรม สนับสนุนกระบวนการการติดตามผล ครอบครัว คอยให้ความรัก ความเข้าใจ ให้โอกาสกับผู้ที่อยากเลิกสุรา และลดการกระตุ้นการกลับไปดื่ม รูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว มีกิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชุดทักษะความรู้ 8 ครั้ง 8 สัปดาห์ และกิจกรรมติดตาม นำ หนุน ใจ โดยผู้มีปัญหาสุราและสมาชิกในครอบครัวจะต้องมีส่วนร่วมในการเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้ง โดยทั้ง 2 รูปแบบใช้รวมเวลา 12 เดือน โดยมีเครื่องมือสำคัญคือ แบบสำรวจข้อมูลครัวเรือน ข้อมูลการดื่มสุรา ผลกระทบ และ ความสุข แบบประเมิน พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และแบบประเมินคุณภาพชีวิต ซึ่งแต่ละชุมชนจะมีการวิเคราะห์เลือกเองจากความเหมาะสม สมาคมฮักชุมชน ได้ริเริ่มโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน ดำเนินการใน 26 พื้นที่ จาก 10 จังหวัด
ใช้ชุมชนช่วยคนในชุมชน หนุนความรักความเข้าใจช่วยคนเลิกเหล้าได้
ด้าน นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ดื่มของคนไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบผู้ที่เคยดื่มหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 5.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอดจากร้อยละ 14 ในปี 2557 ในขณะที่ข้อมูลรายงานผลการดำเนินงานคัดกรองและการบำบัดผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับการบำบัดในสถานพยาบาล ร้อยละ 65 ซึ่งยังมีผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการบำบัดรักษาหรือไม่พร้อมจะเดินเข้าสู่ระบบสุขภาพอีกจำนวนมาก
“สสส. ได้ขยายการทำงานสานพลังภาคีเครือข่าย ผ่านสมาคมฮักชุมชน ในโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าสู่กระบวนการ ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเน้นการทำงานผ่าน ชุมชน และ วัด เป็นสำคัญเพราะใกล้ชิดกลุ่มเป้าหมายและการป้องกันแก้ไขปัญหาในชุมชนร่วมกัน โดยเตรียมรณรงค์ให้ประชาชน ลด ละ เลิก ในวันช่วงเข้าพรรษา โดยใช้ชื่อว่า ปีนี้ใคร ๆ ก็งดเหล้าเข้าพรรษา เชื่อว่าหลายคนจะถือเอาช่วงเวลาเข้าพรรษา 3 เดือน เป็นจุดเริ่มต้นตั้งใจจะที่จะเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นอกจากนี้ นางสาวรุ่งอรุณ ยังกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าคนในชุมชนเขารู้จักกันทุกครอบครัว ครอบครัวไหน คนไหนมีปัญหาเรื่องการติดแอลกอฮอล์ เขารู้แม้กระทั่งปัญหาจากการดื่ม ดังนั้นการพูดคุยชักชวนให้ผู้ที่มีปัญหาด้านการดื่มเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ง่ายกว่าที่จะให้คนคนนั้นเดินเข้าไปขอรับบริการที่สถานบริการสุขภาพซึ่งมันเป็นเรื่องที่ยากมากหากไม่มีใครชวนจึงเกิดการทำงานให้ชุมชนค้นหาผู้ที่มีปัญหาจากการดื่ม ซึ่งการส่งต่อไประบบบริการสุขภาพ เช่น รพ.สต. โรงพยาบาลศูนย์นั้นดูมันเป็นเรื่องที่ไกลตัวของผู้ที่มีปัญหา เขาจะมองเรื่องของค่าใช้จ่ายรักษาใครจะรับผิดชอบ ไหนจะมีค่าเดินทางอีกกระทบกับเรื่องเวลาการทำงานอีก ทำให้เขาไม่เดินเข้าสู่ระบบบริการ
ดังนั้นการทำงานคู่กับวัด กับชุมชน ซึ่งเราใช้สองรูปแบบดังที่นายกสมาคมฮักชุมชนกล่าวแล้วนั้น เราจะรู้ว่าคนที่ต้องการเลิกดื่มนั้นเขาต้องการกำลังใจและเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เมื่ออยากดื่มหากมีใครสักคนเอาน้ำหวานมาให้หรือชวนทำกิจกรรมอย่างอื่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวได้
อย่างไรก็ดีการจะทำให้กระบวนการดังกล่าวเกิดความยั่งยืนได้ ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เราต้องพยายามอย่างมากในกระบวนการแรกที่เราออกแบบโดยมีผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรในวิชาชีพต่างๆมาช่วยกันออกแบบตั้งแต่การคัดกรอง เพราะปัญหาการติดแอลกอฮอล์ของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนสามารถเลิกได้เลย โดยไม่ต้องมีการถอนพิษแอลกอฮอล์แต่บางคนหักดิบอาจมีภาวะช็อคได้ เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทุกขั้นตอนจะมีคำแนะนำในการให้คำปรึกษา
“กระบวนการนี้จะช่วยคนที่ยังติดแอลกอฮอล์และยังไม่เกิดโรค ซึ่งการติดแอลกอฮอล์น้อยๆจะช่วยเลือกได้ง่ายกว่านที่ติดหนัก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเลิกได้ ลึกๆคือความเข้าใจของคนรอบข้าง หรือใครสักคนก็ได้ ทุกคนต้องการให้เห็นคุณค่า อันนี้เป็นเรื่องสำคัญว่าเราจะทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่ายังมีสักหนึ่งคนที่เห็นคุณค่าเขา ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นลูก ภรรยา หรือแกนนำชุมชน” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวสรุป
บุคลากรสาธารณสุขรู้สึกไม่โดดเดี่ยว
นางอุไรวรรณ ฐิตวัฒนากูล ผู้อำนวยการ รพ.สต.โคกเทียม /คณะทำงานศูนย์ฮักชุมชนวัดป่าก้าว อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จากเดิมที่ รพ.สต.จะมีหน้าที่รับดูแลผู้ที่มีปัญหามาจากแอลกอฮอล์ เมื่อมารู้จักกับสมาคมและได้ทำงานร่วมกัน โดยมีพระสงฆ์ที่เป็นหลักในการพึ่งพิงของคนในชุมชน ซึ่งคนที่ติดสุราส่วนมากคือผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ และเราได้ทำงานร่วมกับวัดป่าก้าวมาตั้งแต่ปี 63 บทบาทของตนในฐานะบุคลากรด้านสาธารณสุขจะเข้ามาดูแลปัญหาด้านสุขภาพจิต นำความรู้ที่มีมาปรับใช้ร่วมกับกิจกรรม ซึ่งการทำงานทำให้ตนไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะเรามีพระสงฆ์เป็นผู้นำชุมชนทางด้านจิตใจ ชุมชนให้ความเกรงใจและเคารพ หากเราทำงานเขาเลิกแอลกอฮอล์ได้ เราก็จะสามารถดึงศักยภาพของเขากลับมาใช้ได้อีกครั้ง ซึ่งกิจกรรมที่ทำจะต้องมีความยืดหยุ่นไปให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชน
จากผู้ดื่มมาสู่ร่มกาสาวพัสตร์
พระจีรศักดิ์ ภูสะพาน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมธรรมนำทางพื้นที่วัดบูรพาหนองบัว อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม เล่าว่า จากเดิมเป็นคนที่ดื่มเหล้าเป็นปกติ ซึ่งจะดื่มแล้วจะไปทำงานรับจ้างต่อ และได้ยินเรื่องของโครงการนี้จากเสียงตามสายของหมู่บ้านตนไม่ได้สนใจจนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งผู้ใหญ่บ้านมาอธิบายและชักชวนให้ตนและพรรคพวกเข้าร่วมกิจกรรมของหมู่บ้านโดยการไปอยู่วัด 7 วัน 6 คืนนุ่งขาวห่มขาวทำทุกอย่างเหมือนพระแต่น้อยกว่าพระ มีทั้งทำวัตรเช้า-เย็น ของตนมีทำวัตรตอนกลางวันด้วย ไปเป็นลูกศิษย์พระตอนพระบิณฑบาตด้วย ในช่วงแรกรู้สึกหงุดหงิดอยากดื่ม แต่ใจก็อยากทำให้ได้ครบ 7 วันตลอด ในวันหนึ่งมีวิทยากรมาถามอาตมาว่าจะเลิกเหล้าไหม อาตมาไม่กล้าตอบเพราะคิดว่าถ้าเลิกได้ก็อยากจะเลิก พระที่ชวนเรามาเข้าร่วมโครงการถามเราว่าอยากบวชไหมถ้าไม่มีปัจจัยไม่เป็นไรเดี๋ยวให้ชาวบ้านช่วยกันเป็นเจ้าภาพทำให้อาตมาได้บวชจากนั้นเป็นต้นมานับเป็นเวลาสี่ปีมาแล้วสิ่งที่ได้จากการหยุดดื่มเหล้าคือเป็นคนใจเย็นขึ้นไม่หงุดหงิดเตือนสติตนเองทุกครั้งเพื่อให้คิดได้ในส่วนตัวคิดว่าเราจะหยุดดื่มได้ขึ้นอยู่กับภายในจิตใจของเราเองอยากฝากถึงคณะทำงานว่าอย่าบังคับให้เขาหยุด แต่ให้เขาอยากหยุดได้ด้วยตัวเอง แล้วเขาจะรู้ว่ามันส่งผลดีอย่างไรกับชีวิตเขา เราต้องใช้วิธีเอาใจแลกใจ
จากการถอดบทเรียนของการดำเนินงานของสมาคมฮักชุมชน จึงอาจสรุปได้ว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นเก ดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายในชุมชน และสามารถเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสม โดยมีสามประสานอย่าง วัด-รพ.สต.-ชุมชน เป็นแกนหลักในในการขับเคลื่อนการทำงาน ในรูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่นเหมาะมกับคนในชุมชนนั้นๆ
You must be logged in to post a comment Login