วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

5 จังหวัดภาคใต้ผนึกกำลังขับเคลื่อน “มัสยิดปลอดบุหรี่” ดึงลูก-เมียมาช่วยพ่อเลิกสูบ

On August 16, 2023

เชื่อหรือไม่ว่า ศาสนสถานคือ 1 ใน 4 ของสถานที่ที่มีผู้สูบบุหรี่กันมากรองจากที่สาธารณะ ร้านอาหาร และตลาด แม้ว่าจะมีการรณรงค์รวมทั้งการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะและที่อื่นๆไปแล้วนั้น แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยได้ใช้ศาสนสถานเป็นที่สูบบุหรี่ก่อน/หลังทำพิธีกรรมของศาสนานั้นๆ ผู้นำฯชี้ลูก-เมียมีผลทำให้พ่อบ้านเลิกสูบได้ง่าย

สำหรับจำนวนนักสูบปัจจุบันมีแนวโน้มที่ลดลง หากพิจารณาเป็นรายภาคแล้วยังพบว่า ภาคใต้ยังมีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุดทุกรอบการสำรวจ ดังนั้นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ได้ร่วมกับมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย(มสส.) มูลนิธิคนเห็นคน สมาคมเครือข่ายงดเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน และศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี  ยะลา และนราธิวาส

ผลสำรวจภาคใต้คว้าแชมป์สิงห์อมควันสูงสุด

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า เรื่องการสูบบุหรี่ของคนไทยยังเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ในวันนี้ยังมีคนไทยกว่า 9.9 ล้านคนที่ยังสูบบุหรี่อยู่คิดเป็น 17.4%ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป และบุหรี่ที่เป็นสาเหตุที่ตายของคนไทยมากกว่า 80,000 คน คิดเป็น 18% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองกว่า 6,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 352,000 ล้านบาทต่อปี

ดังนั้นเรื่องของบุหรี่ยังเป็นปัญหาและสร้างความสูญเสียให้กับคนไทยเป็นจำนวนมาก หากเปรียบเทียบเป็น GDPแล้วคิดเป็นประมาณ 2.1 % ของGDP ถึงแม้ว่าในช่วงหลังของเราจะพบว่าอัตราการสูบบุหรี่จะลดลง ล่าสุดปี 2564 มีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน คิดเป็น 17.4%ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ในจำนวนนี้ไม่ได้มีการลดอย่างทั่วถึงในทุกภูมิภาค ซึ่งพบว่าภาคใต้มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดในทุกรอบการสำรวจ มีอัตราการสูบบุหรี่อยู่ที่ 22.4% โดยจังหวัดที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุด 5 ลำดับแรกล้วนอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และยังพบการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะศาสนสถานในทุกศาสนา

 “โจทย์ปัญหาในภาคใต้ยังมีหลายปัญหาที่เรายังต้องทำงานร่วมกัน ในส่วนสถานที่ที่สูบบุหรี่เราพบว่า ศาสนสถานซึ่งรวมทุกศาสนา ทุกนิกาย วัด มัสยิดต่างๆก็ยังเป็นสถานที่สูบบุหรี่อันดับ4 รองจาก ที่สาธารณะ ขนส่ง ตลาด ทั้งนี้พี่น้องชาวมุสลิมยังมีเรื่องของการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อย แต่อาจมีเรื่องของการใช้ยาสูบเข้ามาทดแทน และในมัสยิดเองก็มีผู้สูบบุหรี่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นเราจึงเชื่อว่า การดึงเอาความเชื่อทางศาสนาซึ่งในสัตวาได้มีการชี้ถึงพิษภัยของบุหรี่มานานแล้ว และทางจุฬาราชมนตรีที่เป็นศูนย์กลางหลักได้เข้ามาช่วยในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดโครงการมัสยิดปลอดบุหรี่ขึ้นมาจากความร่วมมือของหลายๆองค์กร เช่น มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย มูลนิธิคนเห็นคน สมาคมเครือข่ายงดเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ใน 5 จังหวัดที่เราทำงานร่วมกันได้มีผู้แทน 90 มัสยิดได้มาร่วมกันที่งานนี้ ซึ่งเราได้มีพิธีลงนามและจะร่วมมือกันผลักดันให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางสำคัญในการกระตุ้น รณรงค์ให้มีการลดการสูบบุหรี่ในกลุ่มพี่น้องภาคใต้ต่อไป  และในการลงนาม MOU กับภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมให้มัสยิดใน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 90 แห่ง เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยจะกำหนดทิศทางการดำเนินงาน ถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ มัสยิดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่อย่างถาวร และลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ ให้คำแนะนำการควบคุมยาสูบของไทยให้มีประสิทธิภาพ ต้องใช้เงินลงทุน 2,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งน้อยกว่า 1% ของความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่ และภายใน 15 ปี จะช่วยลดคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 35,790 คน ลดคนป่วยจากโรคไม่ติดต่อ 169,117 คน” ดร. สุปรีดา กล่าว

5 หลักเกณฑ์มัสยิดปลอดบุหรี่ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน

ศ.ดร.อิสรา ศานติศาสนน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย(สสม.) กล่าวว่า มัสยิด ถือเป็นศาสนสถานที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนมุสลิม จึงควรมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบ มูลนิธิฯ จึงได้ดำเนินงานมัสยิดปลอดบุหรี่ร่วมกับ สสส. มากว่า 10 ปี  ได้พัฒนาให้เกิดต้นแบบมัสยิดปลอดบุหรี่ทุกภูมิภาค 847 แห่ง คิดเป็น 21% ของมัสยิดทั่วประเทศที่มีจำนวน 4,000  กว่าแห่ง  สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ใน 5 จังหวัดภาคใต้ สู่การเป็น “มัสยิดปลอดบุหรี่ที่มีมาตรฐานเดียวกัน” โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญคือ 1.พื้นที่รอบมัสยิดต้องมีพื้นที่ปลอดบุหรี่ไม่น้อยกว่า 10 เมตร 2.มีมาตรการควบคุมยาสูบเป็นลายลักษณ์อักษร 3.มีกระบวนการช่วยเลิกบุหรี่ เช่น เชิญชวนให้เลิกบุหรี่ การให้คำปรึกษา 4.มีเทศนาทุกวันศุกร์เรื่องการต้านสิ่งมึนเมา (คุฏบะฮ์ลาคอมรฺ) หรือเทศนาต้านบุหรี่และยาสูบ 5.มีมุมให้ความรู้พิษภัยบุหรี่ เป็นจุดนิทรรศการของมัสยิด ซึ่งจะทำให้มัสยิดปลอดบุหรี่ทั้งประเทศมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ชาวมุสลิมที่มาประกอบศาสนกิจและประชาชนในชุมชนใกล้เคียงมีสุขภาวะที่ดี ปลอดโรคที่เกิดจากบุหรี่และปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งจะมีระบบมาเป็นตัวส่วนในเกณฑ์การประเมินและตรวจสอบมัสยิดที่จะเข้าร่วม เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

คาดว่าภายหลังการทำ MOU กันแล้วเราจะมีมัสยิดที่เข้าร่วมเป็นมัสยิดปลอดบุหรี่ได้ปีละ 100 แห่ง ซึ่งเรามีความคาดหวังว่ามัสยิดเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมของชุมชน เด็กเรียนหนังสือที่นี่ ถ้าเด็กเห็นจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี และคนที่มามัสยิดอาจได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง มือสาม ซึ่งสุดท้ายโครงการนี้จะไปเสริมกับโครงการที่เราทำไว้คือ เลิกบุหรี่ที่บ้าน ซึ่งเราจะมีแคมเปญเลิกบุหรี่บ้านละคน ซึ่งหากทำได้บ้านนั้นจะไม่มีต้นแบบที่บ้านอีก หากทำได้อัตราการสูบบุหรี่จะลดลงถึง 1 ใน 4 จาก 8 ปีที่ทำมาอัตราการสูบบุหรี่ลดลงมาโดยตลอด

“เราไม่สามารถจับคนสูบบุหรี่เข้าคุกได้ เรื่องนี้เราจึงค่อยๆอธิบายให้เขาเข้าใจ  ในบางชุมชนที่เราเข้าไป เช่นเลิกบุหรี่ที่บ้านเราลงทุนไป 1-2 ล้านบาท แต่ลดต้นทุนการสูบบุหรี่ได้จำนวน 132 ล้านบาท ตนเองอยากให้มีแคมเปญแบบนี้ไปทั่วประเทศไทย”ศ.ดร.อิสรา กล่าว

สำหรับผู้นำศาสนา หรือ ครูสอนศาสนา คือกลุ่มที่เราไปร่วม และวิจัยพบว่าผู้นำศาสนา หรือ ครูสอนศาสนา กลัวภรรยาและลูกสาว เกรงใจมากๆ ถ้าภรรยาและลูกสาวบอกว่า ให้เลิกบุหรี่เขาก็จะเลิก ดังนั้นวิธีการเจาะปัญหา เราจะมุ่งไปภรรยาและลูกสาว ได้ถ้าได้มาร่วมงานด้วยจะเป็นสิ่งที่ดี และจะทำให้เกิดครอบครัวเลิกบุหรี่ และเกิดผลดีต่อทุกขั้นตอนในการทำงาน

ผู้นำต้องเป็นตัวอย่าง/ ดึงภรรยาและลูกมาเป็นตัวช่วย

นายสมศักดิ์ หวันหล๊ะเบ๊ะ หรือ  อิหม่ามชารีฟ มัสยิดอุสาสนอิสลาม(บ้านบน) ชุมชนมุสลิมบ้านบน เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา กล่าวว่า โดยบริบทของมัสยิดคือ เขาให้ปลอดบุหรี่ ปลอดกับสิ่งที่ขัดกับหลักศาสนาอยู่แล้ว ในอดีตเราเคยมีการทำมัสยิดปลอดบุหรี่อยู่แล้วแต่ยังไม่ชัดเจนมาก คนที่เขาเข้าใจให้เกียรติมัสยิดเขาก็จะไม่สูบ แต่ว่า ยังมีคนบางส่วนที่ยังเข้าใจบริบทหรือยังมองว่ามัสยิดเป็นที่ห้ามจริงหรือไม่ แต่พอเราเข้าโครงการกับ สสส.แล้วทำให้คนเริ่มรู้มากขึ้นเนื่องจากมีแผ่นป้ายมาติดว่า มัสยิดเป็นบ้านของอัลเลาะห์เป็นเขตปลอดบุหรี่ มีความชัดเจนในการทำงานและจริงจังตั้งแต่ปี 2565 เมื่อเริ่มการทำงานที่จริงจังทำให้เราเริ่มมีการพูดคุยที่มากขึ้น มีการติดป้ายประกาศเขตมัสยิดห้ามสูบบุหรี่ มีการอบรม ในช่วงแรกคนที่สูบบุหรี่ก็ไม่เห็นด้วยแต่สุดท้ายเขาก็จำนนด้วยเหตุผลที่ว่า 1.ศาสนาเขาห้าม 2. คนในสังคมก็ไม่ยอมรับ 3.บุหรี่ทำลายสุขภาพ ซึ่งตอนแรกคนที่นั่งสูบที่นี่(มัสยิด)เป็นประจำเขาจะไม่ค่อยชอบแต่พอเราได้พูดคุยกันและนำสื่อต่างๆมาให้เขาได้เห็น เขาก็ยอมรับได้และเห็นว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่ควรจะเลิก

อิหม่ามชารีฟ กล่าวว่า สิ่งแรกที่เราทำคือ พยายามไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ขึ้นมา คือ พยายามบอกและให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนให้เข้าใจเรื่องของโทษ พิษภัยบุหรี่ว่าเป็นอย่างไรในหลักศาสนาก็ห้ามในสังคมก็มาเป็นที่ยอมรับเท่าที่ควร แต่จะเป็นการขอแบบนิ่มๆไปก่อน เช่น  ขอว่าอย่ามาสูบในบริเวณมัสยิด ต่อไปเราคิดว่า จะไม่เขาสูบในบ้านให้เขาเลิกไปเลย แต่จะค่อยๆทำไปทีละขั้นตอน ซึ่งหากเราบังคับเลยมันจะทำไม่ได้ เราจะทำให้เขาเข้าใจไปทีละขั้นตอน

ที่ผ่านมา มีคนที่เลิกสูบบุหรี่นั้นมาจากปัญหาสุขภาพของเขาเอง จำนวน 3 คน คือ 2 คนมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ อีก 1 คน ภรรยาไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ผู้ชายจะเลิกสูบบุหรี่ได้ให้ไปเข้าทางภรรยาและลูก ซึ่งเราจะเป็นการพูดคุยกับภรรยาว่าอย่าให้พ่อบ้านสูบบุหรี่ สูบแล้วเป็นอันตรายอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่ง ส่วนลูกหลานที่ส่งมาเรียนที่นี่เราจะอบรมและบอกว่า ป๊าของใครสูบบุหรี่อยู่ก็ให้เลิกนะเพราะมันไม่ดีต่อสุขภาพ ถ้าอยากจะอยู่กับหนูไปนานๆต้องให้ป๊าเลิกสูบบุหรี่ เด็กจะเข้าใจ ซึ่งเด็กจะเป็นเครื่องมือของเราที่เราใช้เป็นสื่อในการเลิกสูบบุหรี่

“ภรรยาและลูกหลานมีบทบาทนะถ้าเราสามารถที่จะเอาคนเหล่านี้มาอยู่ข้างเดียวกับเรา ก็จะสามารถทำให้คนคนนั้นเลิกสูบบุหรี่ได้” อิหม่ามชารีฟ กล่าว


You must be logged in to post a comment Login