วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฯ ตระหนักพบผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น ร่วมผลักดันการรับรู้ เพิ่มโอกาสหายขาดของผู้ป่วย

On August 31, 2023

ชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย ร่วมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักต่อ “โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง” ซึ่งเป็นถือได้ว่าเป็นโรคร้ายแรงอันดับหนึ่งในบรรดาโรคมะเร็งทางระบบโลหิตวิทยา โดยในประเทศไทยมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปีสามารถพบได้ทุกช่วงอายุ ประมาณ 7000 คน/ปี1 เป็นมะเร็ง 1 ใน 10 ของมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย มีโอกาสพบในเพศชายได้มากกว่าเพศหญิง  และในปัจจุบันเริ่มพบได้ในกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน จะเห็นได้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายอดจำนวนผู้ป่วยมีแนวโนมสูงขึ้น และยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างชัดเจน

ด้วยตระหนักถึงอุบัติการณ์ความรุนแรงนี้ ชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศ จึงได้จัดงานเสวนา “ปาฏิหาริย์ เปลี่ยนมะเร็ง ให้เป็นสุข : Miracle is all around – Raise Awareness of Lymphoma” ครั้งที่ 9  เนื่องใน “วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก” ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กันยายน ของทุกปี รวมทั้งให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการรักษาแก่ผู้ป่วย รวมถึงส่งต่อกำลังใจผ่านกิจกรรมแบ่งปันประสบการณ์การต่อสู้กับโรคจนหายขาดโดยอดีตผู้ป่วย ปีนี้ทางชมรมได้กำหนดจัดงานในวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลา 12.00 – 16.00 น. ณ ชั้น 3 โซน Eden ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัยโดยพบผู้ป่วยทั่วโลกรวมกว่า 600,000 ราย2  ส่วนในประเทศไทยตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่โรคดังกล่าวอยู่สูงถึง 7,000 ราย  มีอัตราการป่วยเพิ่มขึ้นในทุกๆปี ถือเป็นโรคร้ายแรงอันดับหนึ่งในบรรดาโรคมะเร็งทางระบบโลหิตวิทยา เป็นมะเร็งที่เกิดกับต่อมน้ำเหลืองได้ทุกที่บริเวณของร่างกาย ตั้งแต่บริเวณรักแร้ คอ ขาหนีบ ตามข้อพับ และในช่องอก ช่องท้อง นอกจากนี้ เซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีอยู่ทุกอวัยวะในร่างกาย สามารถเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น

แม้ว่าสาเหตุการเกิดโรคหรือปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่ส่วนใหญ่ ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เกิดได้จากทั้งการติดเชื้อทั้งไวรัส เช่น ไวรัสเอชไอวี (HIV), ไวรัสเอชซีวี (HCV), ไวรัสอีบีวี (EBV) การติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง, ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำจากการได้รับยา, สารเคมีที่มีสารก่อมะเร็งอยู่ เช่น สารกำจัดศัตรูพืช ดังนั้น การป้องกันของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จึงทำได้โดยการหมั่นสังเกตตัวเอง ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากเจ็บป่วยให้รีบไปรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีโดยตรง และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม โรคนี้ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แม้จะอยู่ในระยะท้ายๆ ของโรคก็ตาม ปัจจุบัน แนวทางการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มี 4 วิธี ได้แก่ 1. การใช้เคมีบำบัด 2. การใช้ยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) เพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับยาเคมีบำบัด ซึ่งปัจจุบันได้มีการคิดค้นยากลุ่มใหม่ๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาได้มากยิ่งขึ้น และมีใช้อย่างแพร่หลาย 3. การฉายแสง สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดหรือก้อนมะเร็งที่โตเฉพาะที่ 4. การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) ในผู้ป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำ 5. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันเซลล์มะเร็งบำบัด CAR-T Cell (Chimeric Antigen Receptor T-Cell Therapy) ซึ่งวิธีการนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงศึกษาและวิจัย

ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองปัจจุบันถือว่าเป็นโรคมะเร็งที่สามารถพบได้บ่อย เพิ่มขึ้นทุกๆปี แต่อย่างไรก็ตามเป็นโรคที่ตอบสนองกับการรักษาได้ดี และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญ และตื่นตัวกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นอย่างมาก จึงยกให้วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ตรงกับ “วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก” ในปีนี้ “ชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย” จัดงานเสวนา”ปาฏิหาริย์ เปลี่ยนมะเร็ง ให้เป็นสุข : Miracle is all around – Raise Awareness of Lymphoma” ครั้งที่ 9 ในวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลา 12.00 – 16.00 น. ณ ชั้น 3 โซน Eden ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภายในงานดังกล่าวมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

  • การบรรยายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา ในหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง”
  • ถาม-ตอบ ไขข้อข้องใจด้านนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • แบ่งปันประสบการณ์การต่อสู้กับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จุดพลังใจไปกับ คุณลูกหมู แพทย์หญิงณัฐรดา คชนันทน์ อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง Non-Hodgkin Lymphoma ระยะที่ 4 เจ้าของเพจ “พักก้อน” และคุณต่าย ติตยาพร คงคาทิพย์ อดีตผู้ป่วย Hodkin Lymphoma ระยะที่ 4 เจ้าของเพจ “มาจะเล่าให้ฟัง Cancer WITH ME”
  • พบกับแรงบันดาลใจไม่สิ้นสุด ในช่วง “By Your Side : มีเรา..เคียงข้างคุณ”
  • Surprise!! กันให้สุดใจ!! ไปกับ เก้า – นพเก้า เดชาพัฒนคุณ ที่จะพกกำลังใจมาเต็มพิกัด พร้อมกิจกรรม Fansign สุดพิเศษ
  • พิเศษสุด!! หมวก MIRACLE Bucket ออกแบบโดย เก้า นพเก้า เดชาพัฒนคุณ ราคา 359 บาท สงวนสิทธิ์จำหน่าย ภายในงานวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน เพียง 150 ใบเท่านั้น!! (รายได้ทั้งหมดมอบให้กับชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย)

ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผู้ดูแล และประชาชนทั่วไป สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้…ฟรี!! โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน คลิกที่นี่ https://forms.gle/eEJXQN3jVBXv6oes9 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line ID : @ThaiLymphoma สามารถติดตาม หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ที่ https://www.facebook.com/thailymphoma หรือ TikTok : @Thai.Lymphoma

บรรยายใต้ภาพ : บรรยายใต้ภาพ : นายสุรสีห์ ธรรมจารุสิริ (ลูกหมู) อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เจ้าของเพจ “ลูกหมูอยากบอกว่า” ปัจจุบันภาวะโรคสงบมาได้ 2 ปี เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin Lymphoma: HL) ระยะที่ 3 รักษาโดยการใช้เคมีบำบัด ร่วมกับการใช้ยาพุ่งเป้า รวมทั้งสิ้น 27 ครั้ง และฉายแสงอีก 26 ครั้ง ใช้เวลารักษา สองปีครึ่ง มารักษาในอาการเริ่มแรก ปวดแขนซ้ายอย่างมาก อาการคล้ายออฟฟิสซินโดรม และหลังจากตรวจเพิ่มเติม พบก้อนเล็กๆ ที่คอ ใต้รักแร้ และบริเวณช่องอก

Reference

  1. https://gco.iarc.fr/today/data/factsheets/populations/764-thailand-fact-sheets.pdf
  2. https://gco.iarc.fr/today/data/factsheets/cancers/34-Non-hodgkin-lymphoma-fact-sheet.pdf

You must be logged in to post a comment Login