วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

สสส. เปิดผลสำรวจ 4 สถานการณ์เด่นเด็กไทย “ครอบครัวเปราะบาง-การเรียนรู้ถดถอย-สุขภาพจิต-ความรุนแรง”

On September 17, 2023

วันเยาวชนแห่งชาติ ’66 สสส. เปิดผลสำรวจ 4 สถานการณ์เด่นเด็กไทย “ครอบครัวเปราะบาง-การเรียนรู้ถดถอย-สุขภาพจิต-ความรุนแรง” ชวนค้นหาตัวตน-อาชีพในฝัน-บรรเทาความเครียด กับครูแนะแนวออนไลน์ บนมือถือ ฟรี!!

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ศูนย์วิชาการของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำรวจเยาวชนอายุ 15 – 21 ปีเกือบ 20,000 คนทั่วประเทศ พบ 4 สถานการณ์เด่น 1. วิกฤติโควิด ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อเด็กและเยาวชนในครอบครัวเปราะบางหลายมิติ เช่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวรายได้น้อย ครอบครัวแหว่งกลางในชนบท ยังไม่มีมาตรการเฉพาะเจาะจงยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มนี้ให้ดีขึ้น 2. ภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็กทุกระดับ ทั้งการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และทักษะสังคม เพราะต้องเรียนออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ตลอด 3 ปี บางคนเรียนออนไลน์ตลอดช่วงการเป็นนักเรียน ม.ต้น หรือ ม.ปลาย 3. สุขภาพจิต ความเครียด ซึมเศร้า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่เครียดเรื่องเรียน เพราะเรียนออนไลน์คุณภาพลดลง แต่โรงเรียนและผู้ปกครองยังคาดหวังสูง ขณะที่จำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มีไม่เพียงพอ อีกทั้งเด็กและเยาวชน มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการ ทั้งเรื่องอายุ ค่าใช้จ่าย 4. ความรุนแรง มีเด็กตกเป็นเหยื่อมากขึ้นและมีรูปแบบที่แนบเนียน สังเกตเห็นได้ยากขึ้น ทั้งการละเมิดทางเพศ การใช้อาวุธ แต่ละวันมีเด็กและเยาวชน 46% เผชิญความรุนแรง เกิดในบ้านตัวเอง 18% และพบมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ มีข้อมูลการสำรวจความปลอดภัยในโลกออนไลน์ใน 30 ประเทศ ไทยติดอันดับ 29 ซึ่งจะเห็นว่าเด็กไทยจำนวนมากถูกคุกคามในโลกออนไลน์

“สถานการณ์ที่ดีก็มี แต่กระจุกตัวอยู่ในครอบครัวที่มีความพร้อม ประมาณ 30% ขณะที่ 70% เป็นครอบครัวเปราะบาง ซึ่งเป็นความท้าทายในการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน เพราะสาเหตุหลักที่กระทบต่อเด็กเป็นเรื่องเศรษฐกิจครอบครัว สสส. ทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องสานพลังกับหลายฝ่าย เน้นพัฒนานวัตกรรม เช่น แพลตฟอร์มเติมเต็ม เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลเด็กที่อยู่ในครอบครัวเปราะบาง มาทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยที่อยู่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุด ทำให้เจอว่าเด็กคนไหนมีความเสี่ยง นำมาออกแบบแผนพัฒนาเด็กรายบุคคล ป้องกันปัญหาในมิติต่าง ๆ ก่อนเกิดวิกฤติ ขณะนี้นำร่องดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ 6 โซน ๆ ละ 1 เขต ก่อนถอดบทเรียน ขยายผลดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” น.ส.ณัฐยา กล่าว

น.ส.ณัฐยา กล่าวต่อว่า สำหรับวันเยาวชนแห่งชาติ ปี 2566 ของขวัญที่มีคุณค่าที่อยากแนะนำที่สุดคือ การค้นพบตัวตน ความถนัด เพื่อถออกแบบชีวิต เลือกเรียน เลือกอาชีพในฝันของตัวเอง ซึ่ง สสส. ร่วมกับสำนักพิมพ์ Bookscape ทำหลักสูตร “ออกแบบชีวิตด้วยแนวคิดนักออกแบบ (Design Thinking for Student Life)” โดย ครูเมษ์ ศรีพัฒนาสกุล CEO บริษัท ลูกคิด จำกัด เป็นวิชาแนะแนวทางเลือกสำหรับเยาวชนอายุ 12 ปีขึ้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาคลาสสิคของเด็กไทยคือ “ค้นหาตัวเองไม่เจอ” หนึ่งในสาเหตุของความเครียด โดยสามารถเข้าใช้งานได้ฟรีบนแพลตฟอร์ม “HOOK Learning” มีทั้งหมด 7 บทเรียน ๆ ละ 10 กว่านาที สามารถทำตามได้ง่าย เพียง 1 สัปดาห์ เชื่อว่าจะทำให้เด็กและเยาวชนไทย ทำความเข้าใจตนเองและออกแบบเส้นทางการศึกษา อาชีพที่ลงตัวผ่านกระบวนการคิดแบบนักออกแบบได้


You must be logged in to post a comment Login