วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

มศว.ผุดไอเดีย SWU Well-Being Club สร้างพื้นที่สุขภาวะชุมชม

On September 17, 2023

มศว. ผุดไอเดีย สร้างกลุ่ม SWU Well-Being Club เพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะให้ชุมชนใกล้เคียงมหาวิทยาลัย คาดหวังให้นิสิตได้เรียนรู้พร้อมนำความรู้ไปสู่ชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนได้มีสุขภาพกาย –ใจ มีสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมี สสส.และเครือข่ายการสนับสนุนทำงานร่วมกัน เพื่อกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศหันมาให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย

“เมื่อปีที่แล้วตนได้มีโอกาสลงพื้นที่ในชุมชน ทำให้เห็นสภาพของตัวชุมชน พบว่า คนในชุมชนมีปัญหาทางด้านร่างกายสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ เหล้าบุหรี่ เมื่อเราเข้าศึกษาเราจะได้พบว่าแต่ละชุมชนเขามีปัญหาอย่างไร และเราจะเข้าไปจัดการได้อย่างไร เราจะแก้ไขปัญหาตามปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนมากคนในชุมชนจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เมื่อกลุ่มของพวกตนเองได้เข้าไปให้ความรู้ และจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัยแล้ว สิ่งที่ได้คือรอยยิ้มของคนในชุมชน คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้นมีสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่มากขึ้น ทำให้คนในชุมชนรู้สึกมีความสุข ในความรู้สึกส่วนตัวเมื่อเข้ามาทำกิจกรรมแล้วทุกครั้งที่นั่งรถผ่านชุมชนที่พวกตนเองเข้าไปร่วมจัดกิจกรรรมจะรู้สึกดีตลอด”

ข้อความข้างต้นเป็นความรู้สึกของ  นายสรนนท์ มะเด็น รองนายกองค์กรนิสิตฝ่ายบริหารประสานมิตร มศว. ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ SWU Well-Being Club กลุ่มกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักศึกษาและคณาจารย์จากคณะต่างๆภายในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.)

มศว.ชูวิสัยทัศน์ เป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม ให้ความรู้-สร้างชุมชนที่ดี

รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม มศว. กล่าวว่า ตามวิสัยทัศน์ของ มศว.ที่ต้องการเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความรู้แก่นิสิตแล้วยังต้องเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม  ซึ่งตั้งแต่ปี  พ.ศ.2547 เป็นต้นมา ทาง มศว.ได้ให้งบประมาณ 5% สนับสนุนการทำงานในโครงการทำงานเพื่อชุมชน โดยมีเป้าหมายให้นิสิตได้ตระหนักรู้เรื่องสุขภาพของคน เพื่อก้าวเข้าสู้การเป็นผู้สูงอายุในอนาคต และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ด้านสุขภาพได้อย่างยั่งยืนทางสุขภาพทางกาย และใจ รวมถึงการจัดการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม

ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ขององค์กรอุดมศึกษาสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วม จากกลุ่ม SWU Well-Being Club หรือกลุ่มขับเคลื่อนสุขภาวะ มศว. มีนิสิต 70 คนและอาจารย์ 9 คนจาก  8 คณะ ร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายองค์กรสุขภาวะในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย 5 ชุมชน เขตวัฒนากว่า 2,300 ครัวเรือน มีชุมชนแจ่มจันทร์ ชุมชนสุเหร่าบ้านดอน ชุมชนพัฒนาบ้านสามอิน ชุมชนข้างสะพานคลองตัน และชุมชนมีสุวรรณ 3 ด้วยความร่วมมือระหว่างบุคลากรในมหาวิทยาลัย สมาชิกชุมชนในเขตวัฒนา สาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง สำนักงานเขตวัฒนา กทม. และ สสส. สร้างพื้นที่สุขภาวะที่ดีทั้งทาง กาย ใจ ปัญญา ภายใต้กรอบ 4 อ 1 ส อากาศ อาหาร อารมณ์ ออกกำลัง สุขอนามัย ที่ผ่านมา พบว่า คนในชุมชนมีปัญหาด้านโภชนาการ สิ่งแวดล้อม อารมณ์ ขาดการออกกำลังกาย

“กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะของคนในชุมชน เน้นการรับฟังปัญหาเรื่องสุขภาวะ ส่งเสริมความรู้ด้านโภชนาการ เพื่อลดความเสี่ยงโรค NCDs ความดัน การออกกำลังกายด้วยการเดิน-ยางยืด ความรู้เรื่องบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และจัดหากิจกรรมบอร์ดเกมให้เด็ก ๆ ในชุมชน พบว่ามีการเข้าใช้เครื่องตรวจวัดความดันในศูนย์สุขภาพเป็นประจำ มีการรวมตัวกันออกกำลังกายในกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น มีการนำยางยืดมาใช้ออกกำลังกายจริง นำสื่อเรื่องบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าที่ได้ไปติดแถวบริเวณบ้าน และเด็ก ๆ เล่นบอร์ดเกมเพิ่มขึ้นในวันหยุด” ร.ศ.ดร.ชลวิทย์ กล่าว

เจ้าอาวาสวัดสุทธิ ชู SWU Well-Being Club  คือโมเดลต้นแบบการดูแลสุขภาวะชุมชน

ส่วนทางด้าน พระสุธีรัตนบัณฑิต,รศ,ดร, คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เจ้าอาวาสวัดวราราม  ได้แสดงความคิดเห็นต่อการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะในชุมชนโดยมีมหาวิทยาลัยเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อน ว่า การจะขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะของคนในชุมชนได้นั้นเราจะต้องเข้าหาผู้นำชุมชน หรือลูกหลานคนในชุมชน โดยมีกิจกรรมเป็นตัวเชื่อมเรื่องสุขภาวะทั้งหลายให้งานที่ทำมีความสนุกและมีความรู้ควบคู่กันไป

ดังนั้นงานที่ทำจะประความสำเร็จได้จะต้องผ่านการเรียนรู้ ที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมต่างๆเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต และขอชื่นชมการทำงานของ SWU Well-Being Club ที่ทำงานเพื่อชุมชนต่อไปและสามารถสร้างต้นแบบออกมาเพื่อการขับเคลื่อนต่อไป เพื่อเป็นการพัฒนาโมเดลต้นแบบในการสร้างนวัตกรรมของพื้นที่นั้นๆต่อไป

สสส.หนุน มหาวิทยาลัยสร้างองค์ความรู้-นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะ

นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. สานพลัง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ขับเคลื่อนองค์กรมหาวิทยาลัยสุขภาวะร่วมกับการสร้างพื้นที่สุขภาวะเพื่อสังคม หรือ มหาวิทยาลัยแห่งความสุข คือ การส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กร นิสิต นักศึกษา อาจารย์ และชุมชนรอบมหาวิทยาลัย เป็นองค์กรสุขภาวะ คนทำงานมีความสุข ด้วยสถานที่ทำงาน สภาพแวดล้อมที่ดี โดยบูรณาการให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย ภาครัฐ เอกชน และชุมชน ตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 7+1 ของ สสส. เพื่อขยายผลการสร้างพื้นที่สุขภาวะที่ยั่งยืน มุ่งสร้างเสริมสุขภาวะในกลุ่มองค์กร (Happy Workplace) ในมหาวิทยาลัย 176 แห่ง ที่มีบุคลากรกว่า 2 แสนคน และมีนักศึกษา 1.7 ล้านคน

“การทำงานดังกล่าวจะเป็นการยกระดับคนในสังคมให้หันมาทำงานเพื่อคนรอบข้างบ้าง ด้วยการจัดการทรัพยากรที่มี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่ทำในวันนี้ไม่ได้เป็นการเข้าไปแก้ปัญหา แต่เข้าไปเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้ด้วยตนเอง ซึ่งเราอยากเห็นการขับเคลื่อนแบบนี้ขยายผลต่อไปยังที่ต่างๆ โดยตนอยากให้เด็กรุ่นนี้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อยกระดับการทำงาน หากมีการใช้ข้อมูลเป็นจะทำให้เราทำงานที่ใหญ่ได้มากขึ้น ดังนั้นการทำงานในวันนี้คือการเปลี่ยนแปลง ด้วยการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง ที่จะทำได้อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ปัจจุบันมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข 72 แห่ง ได้นำชุดความรู้ สื่อ เครื่องมือ นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะของ สสส. ที่ส่งเสริมการมีสุขภาวะดีทั้ง 4 มิติ ครอบคลุมเรื่องสุขภาพที่สำคัญ อาทิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ยาเสพติด บุหรี่ อาหาร กิจกรรมทางกาย อุบัติเหตุ สุขภาพจิต มลพิษทางสิ่งแวดล้อม และปัจจัยเสี่ยงอื่น เพื่อปรับใช้เป็นเครื่องมือเสริมความรู้ ความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพ ปรับทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรม สู่การเป็นต้นแบบองค์กรสุขภาวะ โดย สสส.และเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ได้ร่วมผลักดัน ข้อเสนอนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความสุขอย่างยั่งยืน นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว


You must be logged in to post a comment Login