วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

มส.ผส. – สสส. สานพลังสร้างนวัตกรรมคุ้มครองสังคมสูงวัย ผลักดันบำนาญถ้วนหน้า

On October 7, 2023

มส.ผส. – สสส. สานพลังสร้างนวัตกรรมคุ้มครองสังคมสูงวัย ผลักดันบำนาญถ้วนหน้า เดินหน้าพัฒนาฝีมือแรงงาน สร้างหลักประกันทางเศรษฐกิจ เพิ่มคุณภาพชีวิต สู่สังคมสูงวัยที่มีความสุขอย่างยั่งยืน

ในงานเปิดคลังความรู้ มส.ผส. และ สสส. ประจำปี 2566 หัวข้อ “การสร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจสำหรับผู้สูงอายุ สู่สังคมสูงวัยที่มีความสุขอย่างยั่งยืน”ที่มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน เพื่อสร้างนวัตกรรมและงานนโยบายสาธารณะ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยรอบด้าน รวมถึงสร้างเครือข่าย เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างความตระหนักให้สาธารณะ สู่การเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (complete aged society) และสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (super-aged society) โดยมี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย เป็นประธานพิธีเปิด และ นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา ปาฐกถาพิเศษ “สังคมสูงวัย สังคมของคนทุกวัย” ในงานมีกิจกรรมส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ (Active Aging) ให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้และใช้ศักยภาพของตนเพื่อทำประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม สร้างงาน สร้างอาชีพ เช่น สอนทำของว่างและเครื่องดื่ม อย่างเมนูแซนด์วิช เพื่อสุขภาพ, สลัดโรล, สมูทที สอนแต่งรูปเพื่อการขายของออนไลน์ และแอปพลิเคชันตกแต่งรูปภาพ ที่เหมาะแก่ผู้สูงวัย

ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการ มส.ผส. กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2565 ไทยมีประชากร 66 ล้านคน ในจำนวนนี้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 13 ล้านคน คิดเป็น 19% ถือว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Completed Aged Society) ในปี 2576 ไทยจะมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 28% อายุ 65 ปีขึ้นไป 20% ไทยจึงอยู่ในสภาวการณ์มีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งกระทบต่อการยกระดับความสามารถศักยภาพการแข่งขัน และการพัฒนาประเทศ ระดับมหภาค ระดับจุลภาค ได้แก่ ผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายได้ต่อหัวประชากร การออม การลงทุน งบประมาณของรัฐบาล การคลัง ผลิตภาพแรงงาน การจ้างงาน ผลต่อตลาดผลิตภัณฑ์บริการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการเงินและสุขภาพ

“ผลการศึกษาวิจัย และงานวิชาการที่ผ่านมาของ มส.ผส. และ สสส. พบว่า องค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรม อาทิ กลไกการทำงาน ผลงานเชิงนวัตกรรม รูปแบบ เครื่องมือ และวิธีการทำงาน ที่ทำงานได้จริงในระดับพื้นที่ เกิดการขับเคลื่อนระดับนโยบายได้ในเชิงประจักษ์ หากมีการรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ให้เป็นบทเรียนที่ดี จะสามารถเป็นตัวอย่างการนำไปใช้ได้อย่างเป็นประโยชน์ เป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายสู่องค์กรหลักที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน โดยการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจสำหรับผู้สูงอายุ พัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติ และการสนับสนุนให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญถ้วนหน้า มีอัตราการจ่ายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การมีบำนาญถ้วนหน้าจะช่วยยกระดับให้เกิดหลักประกันทางรายได้นอกจากนี้การออมยามเกษียณ การสร้างโอกาสทำงาน พัฒนาทักษะ (Up skill, Re-Skill) สร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุในชุมชน ทำให้เกิดความมั่นคงทางรายได้ของผู้สูงอายุ” ดร.นพ.ภูษิต กล่าว”

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคม รองรับสังคมสูงวัยที่มีสุขอย่างยั่งยืน สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย พัฒนาระบบรองรับ เตรียมความพร้อมก่อนวัยสูงอายุ รวมถึงขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ 4 มิติ คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม โดยใช้ข้อมูลความรู้จากงานวิชาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาขับเคลื่อนในมิติต่างๆ เช่น มิติสุขภาพ การสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ และชุดความรู้ สนับสนุนการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม เสริมความเข้มแข็งของร่างกายเพื่อป้องกันการผลัดตกหกล้ม มิติเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางรายได้ สร้างโอกาส เพิ่มทักษะ สร้างรายได้ มิติสังคม ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของชมรมผู้สูงอายุ เพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรม เสริมทักษะด้านเทคโนโลยี ระบบเรียนรู้ออนไลน์ และใช้ในกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ การจัดตั้งธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย มิติสภาพแวดล้อม เกิดการปรับสภาพแวดล้อม และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในที่พักอาศัย และสถานที่สาธารณะ ซึ่ง สสส. และภาคีเครือข่าย คาดหวังให้ระบบรองรับสังคมสูงวัย ที่ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาสอดรับกับนโยบายภาครัฐ เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี


You must be logged in to post a comment Login