วันพฤหัสที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“หมอสมอง” แนะรัฐ คิดให้ดีก่อน ไฟเขียวเปิดผับตี 4

On October 26, 2023

นักวิชาการ เผยผลวิจัยต่างประเทศยืนยันชัด เพิ่มเวลาขายเหล้า ส่งผลให้ เคสทำร้ายร่างกาย – อุบัติเหตุพุ่งสูง “หมอสมอง” แนะรัฐ คิดให้ดีก่อน ไฟเขียวเปิดผับตี 4 แลกคนเจ็บ พิการ ต้องดูแลระยะยาว ชี้บทเรียนคลายล็อคโควิด ยอดอุบัติเหตุพุ่ง เกินครึ่งผู้ป่วยเข้าห้องฉุกเฉินเมาหยำเป เจ็บหนักต้องใช้หมอทุกระบบร่วมดูแล “ลูกสาวเหยื่อ” ผิดหวังรัฐบาลไม่แก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจริงจัง กลับซ้ำเติมเดินหน้าขยายเวลาเมา

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ที่โรงแรมแมนดาริน เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพประชาชน   มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ร่วมกันจัดเวทีระดมความเห็นนักวิชาการและภาคประชาสังคม ต่อนโยบายขยายเวลาเปิดผับบาร์ ตี 4 พร้อมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์  ไว้อาลัยกับความสูญเสียจากความไม่ปลอดภัยของนักท่องเที่ยว  

รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มีรายงานการศึกษาจาก Western Australia โดยใช้ข้อมูลระหว่างค.ศ.1991 -1997 ซึ่งกฎหมายที่ออกมาใหม่ในขณะนั้นอนุญาตให้โรงแรมขอใบอนุญาตเพื่อขยายระยะเวลาจำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ พบว่า มีจำนวนเคสของการทำร้ายร่างกาย และจำนวนอุบัติเหตุทางถนนที่สัมพันธ์กับการดื่มในโรงแรมที่ขอขยายเวลา สูงกว่าโรงแรมที่ไม่ได้ขออนุญาตอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่การศึกษาของนอร์เวย์ โดยใช้ข้อมูลการกำหนดเวลาเปิดปิดผับบาร์จาก 18 เมืองทั่วประเทศ ระหว่าง ค.ศ. 2000–2010 พบว่า โดยเฉลี่ยการขยายเวลาเปิดผับบาร์ขึ้น 1 ชั่วโมง ส่งผลให้เกิดการทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้น 16 % แต่เมื่อลดเวลาจำหน่ายลง 1 ชั่วโมงก็ส่งผลให้ลดจำนวนการทำร้ายร่างกายลงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจาก Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่อนุญาตให้ผับบาร์ใน 2 โซนนิ่ง คือ Leidseplein และ Rembrandtplein ขยายเวลาจำหน่ายขึ้น 1-2 ชั่วโมง ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 2019 พบว่า จำนวนอุบัติเหตุที่สัมพันธ์กับการดื่มแอลกอฮอล์ขึ้น 34% เมื่อเปรียบเทียบกับโซนที่ไม่มีการขยายเวลาจำหน่าย  

นายแพทย์ประชา กัญญาประสิทธิ์ ศัลยแพทย์ระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง รพ.เชียงใหม่ราม กล่าวว่า การขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 นั้น น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจ อาจจะมีคนเที่ยวเยอะขึ้น จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ผลที่จะตามมาคืออุบัติเหตุเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งจะต้องมีการเก็บสถิติทั้งก่อน และหลังเพื่อเปรียบเทียบกัน  ที่ผ่านมา      ช่วงโควิดอุบัติเหตุลดลง เพราะไม่อนุญาตให้เปิดผับดึก แต่พอคลายล็อคแล้วพบว่า อุบัติเหตุมากขึ้นชัดเจน เกินครึ่งของผู้ป่วยที่เข้าห้องฉุกเฉินมาจากการดื่มแล้วขับ ทำให้เราได้ผู้พิการ บาดเจ็บมากขึ้น ต้องใช้งบประมาณในการรักษาผู้ป่วยในส่วนนี้เยอะขึ้น กระทรวงสาธารณสุขรับภาระหนักขึ้น ต้องใช้แพทย์หลายระบบมารักษาร่วมกัน อาทิ แพทย์ผ่าตัดสมอง แพทย์ผ่าตัดกระดูก ผ่าช่องท้อง และระบบอื่นๆ รวมถึงศัลกรรมตกแต่ง เพราะการดื่มเหล้าจะทำให้ระบบประสาทช้าลง ทำให้การควบคุมรถ การตัดสินใจช้าลง ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น และรุนแรงกว่าเดิม เพราะไม่สามารถประคอง หรือปกป้องตัวเองได้ จึงอยากให้รัฐศึกษาผลดี ผลเสียก่อน ที่สำคัญคือดื่มต้องไม่ขับ

“ตอนนี้ในพื้นที่ยังไม่ได้มีการคุยกันว่าจะทำอย่างไร เพราะนโยบายยังไม่เกิดจริง ถ้าเกิดขึ้นต้องมาคุยกันว่าจะรับมืออย่างไร แต่ในแง่ของคนที่ไม่เห็นด้วยนั้นมีแน่นอน เพียงแต่ไม่มีเวทีให้ออกมาพูด ส่วนตัวมองว่าควรมีการศึกษาก่อนว่า ข้อดี ข้อเสีย กระตุ้นเศรษฐกิจดีขึ้นจริงไหม ถามว่าใครได้รับประโยชน์บ้างในการเปิดผับดึกกว่าเดิม ก็มีแต่ผู้ลงทุนและอาจจะมีกิจการข้างเคียงบ้าง ซึ่งเป็นคนกลุ่มหนึ่ง แล้วรัฐบาลได้ประโยชน์หรือไม่ กับผลเสียที่เกิดขึ้นระยะยาว อุบัติเหตุมากขึ้น ผู้พิการมากขึ้น รัฐบาลต้องเสียงบฯ ในการรักษาคนไข้กลุ่มนี้มากขึ้น ดังนั้นต้องศึกษาก่อนว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม”นายแพทย์ประชา กล่าว

รศ.ดร.นวลน้อย  ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่ระบุว่าเปิดผับถึงตี 4 เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการให้คนจ่ายเงินมากขึ้น แต่คิดว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาต่างมีโปรแกรมอยู่แล้วว่าจะเที่ยวที่ไหนบ้าง ซึ่งจากการสำรวจสิ่งที่รายงานสนใจเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย อันดับ 1 เลยคืออาหารส่วนสถานบันเทิงเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวสนใจเป็นอันดับท้ายๆ อย่างไรก็ตาม คงมีบ้างที่มาเที่ยวผับซึ่งควรจะเรียกแค่ว่า “นักเที่ยว” มากกว่า และคิดว่าน่าจะเป็นนักเที่ยวคนไทยด้วย เงินรายได้ก็คงเป็นเงินในวงจรนี้เท่านั้น แล้วไปลดการใช้จ่ายด้านอื่นๆ แทน นี่คือปัญหาอย่างหนึ่งที่สำคัญ แต่ถ้าจะพูดแบบนี้รัฐบาลคงโดนคนบ่นเยอะจึงอ้างชื่อนักท่องเที่ยวขึ้นมา และสิ่งที่ไม่เคยมีใครพูดคือ ความสูญเสียที่เกิดจากการเมาแล้วขับซึ่งมีทั้งคนเจ็บคนตายคนพิการ ซึ่ง เป็นความสูญเสียมหาศาลแต่ได้รับการชดเชยน้อยมาก ขณะที่จะเห็นว่าคนที่เมาแล้วขับไม่มีปัญญาชดใช้ในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นตอบได้ตรงนี้เลยว่าผลดีที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่คุ้มเสีย จึงขอให้รัฐบาลมีการทบทวน แต่หากอยากทำจริงๆ โดยอ้างเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และคิดว่าตัวเอง มีแนวทางสามารถแก้ปัญหา ตรงส่วนนี้ได้ก็ขอให้ ชี้ให้ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร และถ้าจะทำก็ควรทำในพื้นที่ทดลอง ในพื้นที่ผับ บาร์ที่แยกจากพื้นที่ชุมชนอย่างแท้จริง และเลือกทำเป็นบางวันเท่านั้น แต่ส่วนตัวเห็นว่ามีอย่างอื่นที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพได้มากกว่า

“บางคนโต้เถียงว่าเป็นความชอบส่วนตัว แต่ปัญหาคือความชอบส่วนตัวของคนบางคนไม่สามารถชดใช้ให้กับคนที่ได้รับผลกระทบ เพราะอุบัติเหตุหนึ่งครั้งทั้งบาดเจ็บ เสียชีวิต พิการไม่มีใครไปตามเลยว่ามูลค่าเท่าไหร่ แต่ที่เห็นคือคนที่เมาแล้วขับส่วนใหญ่ไม่มีปัญญาชดใช้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นนี่คือคำตอบอยู่แล้วว่าถ้าคุณไม่มีวิธีป้องกันหรือแสดงให้เห็นถึงแนวทางที่จะป้องกัน รัฐบาลต้องคิดให้เยอะเพราะหน้าที่ของรัฐบาลจริงๆ คือ การทำให้สังคมนี้มีความสุข มีความกินอยู่ที่ดีขึ้นมีความปลอดภัย ถ้ารัฐบาลคิดว่าถ้ามีปัญหาขึ้นมาและรัฐบาลแก้ได้ก็ต้องแสดงให้เห็น แต่ตอนนี้ไม่มีใครเชื่อถือเท่าไหร่” รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว

นายธัชวุฒิ จาดบันดิสถ์  นักวิจัย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า การขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจ อาจได้ไม่คุ้มเสียเมื่อเทียบกับผลกระทบ โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งข้อมูลของกรมควบคุมโรคปี 2566 ถึงเดือนสิงหาคม มีคนดื่มแอลกอฮอลขับรถเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ เสียชีวิต 50,164 ราย เฉพาะเมษายน สูงถึง 9,617 ราย เทียบกับเมษายน 2565 อยู่ที่ 4,850 ราย เพิ่มเกือบเท่าตัว ส่วนเทศกาลปีใหม่ 2566 เสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับ 15.1% ที่น่าห่วงคือเยาวชนต่ำกว่า 20 ปี ดื่มแล้วขับบาดเจ็บเข้าโรงพยาบาล 624 ราย แต่ดำเนินคดีไม่ถึง 10 % ส่วนช่วงเวลาเกิดอุบัติเหตุในปี 2565 มากสุดคือ 18.00- 21.00 น. และหลังปิดสถานบันเทิง ตั้งแต่ เวลา 00.01 – 03.00 น. ลากไปถึง  06.00 น. เกิดอุบัติเหตุ 209 ครั้ง มากกว่าช่วงกลางวันถึง 59% สร้างผลกระทบกับผู้ที่ใช้ชีวิตประจำวันทั้งคนออกกำลังกาย คนทำงาน คนเดินทางไปเรียน ล่าสุดจากผลสำรวจของนิด้าโพลเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมาพบว่าประชาชนกว่า 41.67% เห็นว่า การอนุญาตเปิดผับถึงตี 2 เป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว ไม่กระทบกับผู้อื่นด้วย ดังนั้น รัฐต้องทบทวนนโยบายขยายเวลาเปิดผับตี 4 ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้าง

ด้านนางสาวภัทรวดี ซุ่นสั้น ลูกสาวของด.ต.อนันต์ ซุ่นสั้น หรือจ่าฉิ้ม ผบ.หมู่งาน สส.สภ.คลองเต็ง อ.เมือง  จ.ตรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุคนเมาแล้วขับ ที่จังหวัดตรังเมื่อหกปีก่อน กล่าวว่า ตอนนั้นมีรถกระบะเมาแล้วขับพุ่งชนคุณพ่อของตนและอาสากู้ชีพ บนถนนสายคลองเต็ง-เมืองตรัง ทำให้อาสากู้ชีพเสียชีวิตทันที 4 ราย ส่วนคุณพ่อเสียชีวิตเป็นรายที่ 5 ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาล  ต่อมาศาลพิพากษาจำคุกผู้ต้องหา 4 ปี ปรับ 3,400 บาท โดยที่เราไม่มีโอกาสอุทรณ์ และทราบว่าเขาติดคุกจริงแค่ปีกว่าๆ ก็ออกมาใช้ชีวิตเป็นปกติ นี่คือความยุติธรรมที่ตนและครอบครัวอาสากู้ชีพได้รับ มันเจ็บปวดและฝังลึกอยู่ในใจของทุกคน มันไม่ง่ายเลยกับครอบครัวที่ขาดเสาหลัก แต่แม่ของตนเข้มแข็งมากที่ก้าวผ่านจุดวิกฤติของชีวิตมาได้ ส่วนตนและพี่น้องก็พยายามทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับคุณพ่อ

“ในฐานะของครอบครัวคนที่เป็นเหยื่อจากคนเมาแล้วขับ ซึ่งยังปวดใจทุกครั้งที่เห็นข่าวอุบัติเหตุจากคนเมาแล้วขับ มิหนำซ้ำยังมีความพยายามขยายเวลาเปิดผับบาร์ เพิ่มเวลาเมากันอีก หนูขอบอกเลยว่า หนูไม่เข้าใจและเสียใจกับสิ่งที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้กำลังทำกัน แทนที่จะแก้ปัญหาลดอุบัติเหตุกันให้จริงจัง  ยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนน  แต่กลับทำในด้านที่ตรงกันข้าม หวังว่าเสียงของเราในวันนี้จะช่วยกระตุ้นสำนึกของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ขอให้หยุดนโยบายที่ส่งผลกระทบกับชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยว” นางสาวภัทรวดี กล่าว


You must be logged in to post a comment Login