วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ทศวรรษหน้ามิติใหม่การดูแลสุขภาพจะเปลี่ยนไป แนะรัฐบาลทั่วโลกพัฒนาแผนงานสุขภาพ

On November 10, 2023

ปิดฉากไปอย่างสวยงามสำหรับงานประชุมเครือข่ายกองทุนสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2566 (The 20th Annual Meeting of the International Network of Health Promotion Foundation2023 ) ภายใต้ธีม “ก้าวต่อไปของเครือข่าย สสส.โลก: ขับเคลื่อนนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม” โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เป็นเจ้าภาพ พร้อมกันนี้ สสส.และเครือข่าย สสส.นานาชาติร่วมประกาศปฏิญญากรุงเทพ(INHPF Bangkok Declaration) เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนส่งเสริมสุขภาพ และยกระดับสร้างเสริมสุขภาพสู่สุขภาพโลก

TongaHealth  ประเทศที่มีประชากรน้อย-ขาดแคลนเจ้าหน้าที่

ประเทศตองกามีประชาชนจำนวน 100,000 คน คนส่วนใหญ่มีภาวะน้ำหนักเกิน จะพบได้ว่า 8 ใน 10 ของผู้ใหญ่จะมีน้ำหนักเกิน นางสาวโอฟีนา ฟิลิโมเอฮาลา ผู้จัดการกองทุนสร้างเสริมสุขภาพTonga กล่าวถึงภาพรวมของสุขภาพของประชาชนในTonga ในการทำงานของ TongaHealth ประชาชนมี 100,000 คน แต่มีเจ้าหน้าที่เพียง 20 คน มีเจ้าหน้าที่สื่อสารเพียง 1 คนเท่านั้น ด้วยภูมิประเทศของTonga เต็มไปด้วยเกาะต่างๆ ทำให้การเดินทางเต็มด้วยความยากลำบาก ปัญหาของการทำงานด้านสุขภาพของตองกาจึงมีข้อจำกัดด้านเจ้าหน้าที่คือ มีการเข้า-ออกบ่อย อีกทั้งยังมีปัญหาด้านการเดินทางและสื่อสารที่เป็นปัญหาของการทำงาน ส่วนงบประมาณอยู่ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลออสเตรเลียและTonga

ในการประชุมครั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนสร้างเสริมสุขภาพTonga กล่าวว่า  TongaHealth เป็นองค์กรเล็กๆ จากประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก จะได้มีโอกาสเรียนรู้แนวทางใหม่ๆและวิธีการจัดการป้องกันโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ NCDs ที่นับเป็นปัญหาใหญ่ของTonga  โดย TongaHealth มอง สสส.เหมือนเป็นองค์กรรุ่นพี่ ที่คอยสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์อยู่เสมอ ที่ผ่านมาได้รับความช่วยเหลือจากสสส.ไทยด้านการดำเนินงานลดปัจจัยเสี่ยง NCDs และด้านนวัตกรรมการเงินการคลัง นำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทศวรรษหน้ามิติการดูแลสุขภาพจะเปลี่ยนไป

TongaHealth คือ อีกหนึ่งตัวอย่างของประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาเรื่องโรคไม่ติดต่อ NCDs และคนทำงานด้วยข้อจำกัดต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้น

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า เมื่อมองในอนาคตอีก10-20 ปีข้างหน้ามิติของสุขภาพจะเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในมิติของสังคม เทคโนโลยีต่างๆ สิ่งที่เป็นปัญหาในปัจจุบันจะถูกคูณเข้าไป จะมีหน้าตาใหม่ อย่างโควิด-19 ที่เราเพิ่งเคยเห็นหรือจากภาวะโลกร้อนทั่วโลก และงานทางด้านเทคโนโลยีก็ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นปัญหาเดิม อย่างสิ่งแวดล้อม อาหาร จะต้องเผชิญกับข่าวปลอม ดังนั้นนักสร้างสุขภาพ (health promoter) ไม่อาจจะอยู่ที่เดิมได้ จะต้องปรับตัวให้เข้าถึงทุกการเปลี่ยนแปลง และทุกการคุกคามใหม่ๆ ซึ่งยังไม่นับถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป ส่วนในสภาพสังคมเองจะมีการแบ่งข้าง แยกขั้วกันอย่างเห็นได้ชัดขึ้น  ทุกคนจะมีกลุ่มเพื่อน สื่อ หรือกลุ่มอะไรก็ตามเป็นของตนเอง ช่องว่างของอายุของผู้คนจะมากขึ้นนั้น คือทั้งหมดของงานสุขภาพที่ต้องปรับตัวทั้งนั้น  และเรายังต้องทำให้คนมีสุขภาพที่ดีได้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เรื่องดังกล่าวถูกนำมาพูดกันเยอะ และมีหลายเรื่องที่เราได้ประโยชน์จากการเรียนรู้และมีหลายเรื่องของเราเป็นประโยชน์กับคนอื่น ไม่ใช่แค่เรื่องที่เราพูดในวันนี้ แต่เรามีกิจกรรมของเครือข่าย เช่น การไปดูงานเรื่อง  digital health promotiom ของประเทศสิงคโปร์แล้วเรามาทำเป็นก้าวท้าใจ เป็นต้น เพราะเรื่องแบบนี้จะมีการแลกเปลี่ยนกันไปมา ขณะเดียวกันหลายเรื่องของไทยก็เป็นที่สนใจจากหลายประเทศ เช่น เรื่องการตลาด รวมทั้งงานด้านชุมชน และงานด้านนโยบาย เช่น ภาษีน้ำตาล ที่สิงคโปร์กำลังจับตามองดูที่จะพยายามผลักดันและทั้งเรื่องภาษีเกลือ(ความเค็ม)

สำหรับเรื่องงบประมาณที่หลายประเทศพูดถึงว่าเป็นปัญหาในการขับเคลื่อนในการทำงาน ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสภาพของแหล่งทุน สำหรับประเทศที่ใช้งบประมาณรายปีเจอปัญหาบ้าง แล้วแต่นโยบายของประเทศในปีนั้นๆ ซึ่งของประเทศไทยนั้นเราได้รับงบจากภาษีเหล้าและบุหรี่โดยตรงคือ จำนวน 2% ของการนำเข้าและผลิตของเหล้าและบุหรี่

ในการประชุมครั้งนี้ของเครือข่าย สสส.นานาชาติ โดยเริ่มตั้งแต่การแลกเปลี่ยนประวัติความเป็นมาของพวกเรา 23 ปีที่ผ่านมาทั้งบทเรียนในอดีต และสถานภาพในปัจจุบันพร้อมพูดถึงสถานการณ์สุขภาพในอนาคตที่มีความท้าทายมากมาย แล้วเราก็ช่วยกันระดมความเห็นมีทั้งมุมวิชาการ บุคคลที่ให้คำแนะนำต่อเครือข่ายว่าก้าวต่อไปของเราจะเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งหมดใน 2 วันที่ผ่านมาเรา ได้ระดมทั้งความรู้ความเห็น ขณะเดียวกันได้แลกเปลี่ยนความเห็นที่ได้ทำมาเมื่อปีก่อนซึ่งกันและกัน

การประกาศปฏิญาบางกอก เป็นความคิดของพวกเราที่จะได้ทำงานระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก สิ่งที่พวกเราน่าจะ ประกาศต่อโลกในงาน health promotion ก็เหมือนเป็นการส่งสารไป แต่หัวใจของเราคือการทบทวนวิวัฒนาการของการสร้างเสริมสุขภาพของโลกในช่วงที่ผ่านมา และชี้ให้เห็นถึงกลไกที่สำคัญ โดยเฉพาะกลไกเรื่องของการเงินการคลัง เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมสุขภาพที่สำคัญ จากประสบการณ์ของพวกเราทำให้ทราบว่าเป็นกลไกที่สำคัญนการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ และตรงนี้ได้กลายเป็นข้อเสนอของพวกเราที่จะช่วยประเทศอื่น ช่วยสนับสนุนให้การขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพของโลกไปข้างหน้าพร้อมกันนั้นเราจะเรียกร้องให้ประเทศต่างๆสนใจกลไกแบบนี้ เรียกร้องให้องค์กรต่างๆของโลกสนับสนุนกลไกแบบนี้ให้เป็นตัวช่วยในการสร้างเสริมสุขภาพของโลกให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป

ดร.สุปรีดา กล่าวสรุปว่า ปฏิญญาฯ เสนอข้อเรียกร้องต่อองค์กรภายใต้สหประชาชาติให้ร่วมสนับสนุนความพยายามในการระดมทรัพยากรและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ สร้างความเข้มแข็งของธรรมาภิบาลด้านสุขภาวะที่เอื้อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  นอกจากนี้ยังเชิญชวนให้รัฐบาลประเทศต่างๆ พัฒนาแผนงานด้านสุขภาวะแบบบูรณาการ ผลักดันกฎหมาย สนับสนุนทรัพยากรและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ สร้างและขยายระบบสวัสดิการสังคม เร่งสร้างความก้าวหน้าไปสู่การบรรลุเป้าหมายโลกด้านสุขภาพ  ท้ายที่สุด ปฏิญญาฯ ยังกระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ส่งเสริมและขยายเครือข่ายพหุภาคี ประสานการดำเนินการข้ามภาคส่วน และส่งเสริมกลไกการเงินการคลังที่ยั่งยืนเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะในทุกระดับที่เป็นธรรมอีกด้วย


You must be logged in to post a comment Login