วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

นิราศบาโก (หงสาวดี) เมียนมา

On November 14, 2023

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่  14 พ.ย. 66)

กรุงหงสาวดีที่บุเรงนองเคยครองอยู่ ท่านเคยไปหรือยัง ผมไปมาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้พิเศษหน่อย จึงขอเล่าให้ฟัง

ในระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2566 ผมในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินในนามของประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้เดินทางไปประเมินค่าทรัพย์สินขนาดใหญ่ที่เมืองบาโกหรือกรุงหงสาวดีในอดีต ของประเทศเมียนมา มีเรื่องเล่าที่น่ารู้อยู่พอสมควร

ในช่วงที่ไปมีการสู้รบกันระหว่างทหารเมียนมากับชนกลุ่มน้อยที่รัฐฉานและลามไปเมืองอื่นๆ อยู่พอสมควร แต่ผมก็เชื่อว่าที่เมืองพะโคคงไม่มีสถานการณ์รุนแรง ผมจึงเดินทางไปร่วมกับผู้ประเมินค่าหนุ่มคนหนึ่งของศูนย์ สมทบกับอุปนายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์เมียนมาท่านหนึ่งที่มาพร้อมลูกชาย ขับรถมารับผมจากสนามบินย่างกุ้งแล้วตรงไปเมืองบาโก โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 90 นาทีก็ถึงที่หมาย

ที่สนามบินย่างกุ้ง ผมถูกหลอก คือมีชายคนหนึ่งมาหลอกขายซิมการ์ด พอผมสนใจก็พากันไปที่เคาน์เตอร์แลกเงิน ซึ่งมีแห่งเดียว (สงสัยได้สิทธิพิเศษ) แล้วเขาก็แกะซิมเปลี่ยนใหม่ แต่คงเป็นซิมที่ใช้งานได้เฉพาะพื้นที่ย่างกุ้ง พอไปถึงเมืองพะโคก็เลยใช้ไมได้ ต้องอาศัยต่ออินเตอร์เน็ตกับลูกชายของอุปนายกสมาคมนายหน้าเมียนมา ใช้ไปตลอด (ยกเว้นเวลาเข้าโรงแรมก็ค่อยมีเน็ตโรงแรม)

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ ตรงทางออกที่เขาเรียกผมซื้อซิมนั้นมีอยู่แค่ร้านเดียว ซึ่งเป็นสิ่งผิดสังเกต ผมน่าจะเอะใจว่าพอออกมาอีกหน่อย ก็จะมีร้านขายซิม หรือมือถือหลายต่อหลายร้าน อันนี้แสดงว่าเราไม่ควรรีบร้อนซื้อซิมหรือมือถือ แต่ที่ผมต้องซื้อเพราะที่เมียนมา เขาไม่ยอมให้ซื้อเน็ตจากกรุงเทพมหานครเลย ต่างจากประเทศอื่น อาจเป็นเพราะประเทศนี้อยู่ในภาวะถูกยึดอำนาจ ทหารเลยกลัวเป็นพิเศษ ยิ่งกว่านั้นในการซื้อซิมครั้งนี้ผมถูกหลอกเป็นเงิน 40,000 จ๊าด หรือราว 500 บาท ทั้งที่ราคาทั่วไปคงไม่สูงขนาดนี้  จะสังเกตได้อย่างหนึ่งว่าพวกมิจฉาชีพกับเจ้าหน้าที่มักอยู่ใกล้ๆ กัน พอออกมาจากตรวจคนเข้าเมือง ก็จะเจอพวกนี้ก่อน นี่อาจแสดงว่าพวกเขาหากินด้วยกันหรืออย่างไร

พอเดินทางไปถึงเมืองบาโก ผมก็ทำงานกันตามปกติ สำรวจอาคารโรงงาน สำรวจที่ดิน สำรวจการซื้อขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยไปติดต่อกับสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมที่นั่น แต่ข้อมูลก็ยังเชื่อถืออะไรไม่ได้ (แม้เป็นของทางราชการก็ตาม) ยิ่งกว่านั้นผมยังต้องไปติดต่อกับกลุ่มนายหน้า กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน เพื่อที่จะดูว่ามีแปลงที่ซื้อขายแล้วหรือกำลังเรียกขายกันอยู่เท่าไหร่บ้าง เพื่อจะได้นำมาเป็นแปลงเปรียบเทียบ ซึ่งนับว่าใช้เวลาสืบค้นข้อมูลมากพอสมควร ถ้ามีเวลาน้อย ก็คงไม่สามารถทำได้ ผมจึงใช้เวลาอยู่ที่เมืองพะโก 3 วัน

ผมยังพบข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ถ้าค้นหาใน google map หาคำว่า real estate broker หรือ construction contractor จะมีขึ้นมาหลายแห่ง แต่พอไปดูถึงสถานที่จริง ตำแหน่งเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง อันนี้นับเป็นความยากลำบากในการหาข้อมูลในประเทศกำลังพัฒนาจริงๆ แต่ก็พอหาได้เพราะผมพกอุปนายกสมาคมนายหน้าเมียนมาไปด้วย เขาเลยช่วยติดต่อนายหน้า ผู้รับเหมาให้ จนสามารถคุยกันถึงข้อมูลอย่างเจาะลึกได้

ในคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ผมมีโอกาสไปเดินที่ถนนคนเดินในใจกลางเมือง ก็ไม่ค่อยคึกคักนัก แต่เขายังอนุญาตให้ขี่รถจักรยานยนต์กันอย่างขวักไขว่ (อันที่จริงควรให้เดินมากกว่า) อาหารการกินก็คุณภาพแย่กว่า Street Food ของบ้านเรามาก  พวกเรากลับกันในเวลาประมาณ 2 ทุ่มเศษ พอเช้าวันรุ่งขึ้นได้ข่าวว่าเมื่อคืนตอน 4 ทุ่ม ทหารและตำรวจพม่ามาสั่งให้หยุดขายได้แล้ว และมาลาดตระเวนตามในเมือง เพราะมีข่าวการลุกลามของการสู้รบต่อต้านรัฐบาลทหารของพม่าในขณะนี้

สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ ไฟฟ้าที่เมืองพะโคดับบ่อยมาก วันหนึ่งๆ จะได้ใช้ไฟฟ้าราว 12 ชั่วโมง โดยอาจเปิดครั้งละ 3-4 ชั่วโมงสลับกันไป เอาแน่นอนไม่ได้ แสดงว่าไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ยิ่งตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา บริษัทผลิตไฟฟ้าของตุรกีก็เลิกไปเพราะไม่พอใจกับรัฐประหาร โรงงานต่างๆ ก็หยุดกิจการไม่ไปต่อ หรือเลิกสร้างต่อ บางโรงงานตั้งใจจะผลิตประมาณ 80% ของกำลังผลิตในช่วงเริ่มต้น ปรากฏว่าวันนี้ผลิตได้เพียง 5% เท่านั้น

อาจกล่าวได้ว่ารัฐประหารในเมียนมา ทำลายเศรษฐกิจเมียนมาลงอย่างย่อยยับ จากประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 8% ต่อปี เหลือเป็นติดลบหรือแทบไม่มีการเติบโตเลยในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  การประท้วงของประชาชนก็สูญเปล่า คนหนุ่มสาวถูกยิงตายราวใบไม้ร่วง ที่สำคัญขณะนี้มีผู้ลี้ภัยเมียนมากระจายไปหลายหมื่นคน ดูท่าทางเศรษฐกิจเมียนมาก็คงยังไม่ฟื้นคืนในเร็ววัน เพราะทหารคงไม่ยอมคืนอำนาจโดยดี

ไปเมียนมางวดนี้ แม้ได้ไปเที่ยวไหว้พระบ้าง แต่ก็น่าสลดใจกับวิบากกรรมททางเศรษฐกิจและการเมืองแทนชาวมียนมาจริงๆ


You must be logged in to post a comment Login