วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

รำลึกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทย ย้อนอดีตคนเดือนตุลาถึงคนเสื้อแดง

On November 19, 2023

รำลึกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทย ย้อนอดีตคนเดือนตุลาถึงคนเสื้อแดงประชาธิปไตย เปราะบาง อำนาจนิยมไม่เข้มแข็ง

บทความพิเศษโดย  ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

กล่าวนำ

การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่ประชาธิปไตยไทยภายใต้ “ระบอบรัฐธรรมนูญนิยม” (Constitutionalism) อันเป็นความหวังว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอนาคตใหม่ของการเมืองไทย ด้วยการพาประเทศออกจากการปกครองเก่าของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อีกทั้ง กระแสการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้สอดรับกับการเรียกร้องประชาธิปไตยในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในจีน หรือในตุรกี 

แต่แน่นอนว่า บนเส้นทางสู่ประชาธิปไตยเช่นนี้ ถนนการเมืองไทย “ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ” หากแต่ประสบกับปัญหาและอุปสรรคจากฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย และความพยายามของระบอบเก่าในการดึงอำนาจกลับมาสู่พวกเขาให้ได้ กล่าวคือ กระบวนการสร้างประชาธิปไตย (Democratization) ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในสยามเผชิญปัญหา โดยเฉพาะ “แรงเสียดทาน” ทางการเมืองจากระบอบอำนาจเดิม ไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ซึ่งจีนเองก็เป็นตัวอย่างที่ไม่แตกต่างจากสยามในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องประนีประนอมกับอำนาจรัฐเก่า เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็น “การปฎิวัติทางการเมือง” (political revolution) ไม่ใช่ “การปฎิวัติทางสังคม” (social revolution) ที่มีนัยถึงการ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” ที่นำไปสู่การทำลายโครงสร้างของสังคมการเมืองทั้งหมด หากแต่อำนาจในโครงสร้างเดิมของระบบการเมืองเก่ายังดำรงอยู่ แม้จะถูกลิดรอนไปบางส่วนก็ตาม แต่พวกเขาไม่ได้ถูกทำลายไปทั้งหมดจนไม่มีอำนาจต่อรองแต่อย่างใด อำนาจของพวกเขายังสอดแทรกอยู่ใน “ระบอบหลังการเปลี่ยนผ่าน” (post-transition regime) ในหลายส่วน โดยเฉพาะในกองทัพ และกลุ่มอำนาจสายอนุรักษนิยม

ดังนั้น การเมืองไทยนับจากช่วงเวลาดังกล่าว หากเปรียบเทียบเป็นรถยนต์แล้ว เครื่องยนต์ของการเมืองไทยมีอาการ “เดินสะดุด” เป็นระยะๆ จนเสมือนหนึ่ง “รัฐยานยนต์” คันนี้ มักมีอาการเคลื่อนที่ได้บ้าง …ไม่ได้บ้าง  บางทีเครื่องดับหลายหน หรือเป็นอาการที่อาจจะต้องกล่าวว่า “รัฐยานยนต์ไทย” เครื่องดับ จอดตายอยู่กลางถนนหลายต่อหลายครั้ง อันเป็นผลจากการแย่งกัน และคนขับเก่าที่เป็น “พลเรือน” ถูกผลักออกไป และมี “คนในเครื่องแบบ” ขึ้นมาขับแทน

ฉะนั้นโดยเปรียบเทียบแล้ว รัฐยานยนต์ของเพื่อนบ้านหลายคัน ที่อาจออกสตาร์ทหลังเรา แต่กลับวิ่งไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และดูจะวิ่งได้ดีกว่า “รัฐยานยนต์ไทย” … รัฐไทยเปลี่ยนคนขับรถ และเอาคนในเครื่องแบบมาครั้งใด รถก็มักจะมีปัญหาครั้งนั้น เพราะเหมือนกับเอา “ยามหมู่บ้าน” ที่ไม่ประสีประสากับรถเลย แต่กลับมีคนบางกลุ่มเอาเขามาเป็น “คนขับ” แทนคนที่ขับรถเป็น และทั้งที่ขับรถไม่เป็น แต่ก็ยังยืนยันที่จะขับรถต่อไป … พอคนในรถบ่นว่า เขาขับรถไม่เป็นแล้ว กลับหันหน้ามาด่าพวกเราที่เป็นผู้โดยสาร แทนที่จะยอมรับว่า ขับรถไม่เป็น แต่จะดันทุรังขับ ซึ่งการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุคหลังรัฐประหาร 2557 เป็นเช่นนี้แหละ และยังพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนถึง “ความอ่อนด้อย” และ “ความไร้ประสิทธิภาพ” ของผู้นำทหารที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองด้วยการยึดอำนาจ

ภาพทหารไทยกับการเมือง

ปี 2566 นี้เป็นระยะเวลาที่ความพยายามในการสร้างระบอบประชาธิปไตยของยุค 2475 เดินทางมาเป็นระยะถึง 91 ปี … เป็น 91 ปีที่ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลานไปกับความผันผวนที่ไม่เคยสิ้นสุดในการเมืองไทย โดยเฉพาะความผันผวนที่เกิดจากการรัฐประหารของผู้นำทหารฝ่ายขวา ที่ดำเนินการยึดอำนาจต่อเนื่องมาอย่างยาวนานในการเมืองไทย จนมีคำล้อกันเล่นๆ ว่า รัฐประหารคือ “ซิกเนเจอร์” ของการเมืองไทย เพราะจำนวนของรัฐประหารไทยจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ในเวทีโลก และการเมืองที่ “วนเวียนไปมา” อยู่กับการยึดอำนาจของผู้นำทหาร

ฉะนั้น การเมืองไทยเป็นหนึ่งในตัวแบบทางรัฐศาสตร์ที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาสำหรับการศึกษาในเรื่องของ “รัฐบาลทหารฝ่ายขวา” (right-wing military government) เพราะการเมืองไทยในหลายช่วงที่ผ่านมา เป็นการเมืองของรัฐบาลทหารฝ่ายขวา และสะท้อนชัดเจนว่า การเมืองชุดนี้เป็นการเมืองที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มทหาร เช่นเดียวกับการเมืองของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ หรือที่ในทางรัฐศาสตร์เรียกว่าเป็นการเมืองของ “ประเทศใหม่” (The new nations) ที่มีนัยถึง “ประเทศเกิดขึ้นใหม่” ที่มีสถานะของความเป็นรัฐที่สมบูรณ์หลังจากการได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว

การเมืองในสภาวะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของกระบวนการสร้างประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็บ่งบอกให้เห็นถึงความอ่อนแอของสถาบันการเมืองของฝ่ายพลเรือน ในทำนองเดียวกัน กลุ่มพลังที่พัฒนาตนเองขึ้นเป็น “แกนกลางอำนาจ” ที่สำคัญคือ กองทัพ ในเงื่อนไขเช่นนี้ กองทัพในประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราช (หรือรวมถึงเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นสยาม ซึ่งคล้ายกับการเป็นประเทศใหม่) มีบทบาทแตกต่างจากกองทัพในประเทศแม่ที่เป็นเจ้าอาณานิคมอย่างมาก กล่าวคือ กองทัพในประเทศเหล่านั้นไม่มีบทบาทของ “การแทรกแซง” ทางการเมือง แต่กองทัพที่รับมรดกจากเจ้าอาณานิคมกลับมีบทบาททางการเมืองโดยตรง โดยเฉพาะการแสดงตนเป็น “ผู้พิทักษ์แห่งชาติ” (the national guardian) และเป็นผู้ที่กำหนดความเป็นไปทางการเมือง เท่าๆกับตัดสินในการเลือกทางเดินของประเทศสู่อนาคต

การมีบทบาทเป็นผู้พิทักษ์เช่นนี้ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้กองทัพมี “สถานะพิเศษ” ในทางการเมือง และเอื้อโดยตรงให้กองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองในตัวเอง กองทัพไทยเองก็อยู่ในสถานะทางการเมืองเช่นนี้ และปูทางไปสู่การมีอำนาจทางการเมือง ซึ่งในภาวะปกติคือ การมีฐานะเป็น “กลุ่มกดดัน” (pressure group) และทั้งยังเป็น “กลุ่มผลประโยชน์” (interest group) ที่สำคัญในระบบการเมือง แต่ในภาวะที่ไม่ปกติ ด้วยเงื่อนไขของการยึดอำนาจแล้ว กองทัพคือ “ศูนย์กลางอำนาจรัฐ” ที่เป็นผู้ควบคุมอำนาจรัฐในทุกด้าน

หากมองกองทัพไทยกับการเมืองในบริบทเช่นนี้แล้ว คำยืนยันที่ชัดเจนถึงบทบาททางการเมืองของทหาร และสะท้อนชัดจากการรัฐประหารที่เกิดขึ้น ดังที่กล่าวในข้างต้นแล้วว่า รัฐประหารเกิดในการเมืองไทยจนกลายเป็น “ซิกเนเจอร์” ไปแล้ว แม้ครั้งหนึ่งในยุคหลังการลุกขึ้นสู้ (uprising) ในเหตุการณ์ “พฤษภาประชาธิปไตย- 2535” เราเคยฝันกันว่า รัฐประหารจะสิ้นสุดลงในการเมืองไทย อันเป็นผลจากความเสียหายที่เกิดแก่กองทัพ แต่ในที่สุดแล้ว รัฐประหารก็หวนคืนอีกในปี 2549 และซ้ำอีกครั้งในปี 2557 อย่างไม่น่าเชื่อ … เป็นไปได้อย่างไรที่ประเทศไทยจะมีรัฐประหารซ้ำซ้อนกัน 2 ครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ภาพที่เกิดขึ้นเช่นนี้ย่อมไม่ใช่ปัจจัยเชิงบวกสำหรับอนาคตการเมืองไทยอย่างแน่นอน

ภาพจำหลักของการเมืองไทย

ฉะนั้น สมมติถ้าเราสร้าง “วิหารการเมืองไทย” แล้ว รัฐประหารจะเป็นดัง “ภาพจำหลัก” ที่จะปรากฏเป็นส่วนสำคัญของวิหารแห่งนี้ แต่กระนั้นถ้าเราไม่มองด้านเดียวจะพบว่าฝ่ายประชาธิปไตยได้สร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแม้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวของเหตุการณ์ในอดีต แต่ก็ปฏิเสธถึงนัยของเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้สร้างให้กับสังคมไทยในยุคต่อมาไม่ได้

ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากการสถาปนาอำนาจของฝ่ายประชาธิปไตยในปี 2475 แล้ว ชัยชนะสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตยเกิดขึ้นอีกครั้งจากการลุกขึ้นสู้ด้วยการเรียกร้องประชาธิปไตยในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 แต่ดังที่ทราบกันดีว่า ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในปี 2516 นั้น ดำรงอยู่บนสถานการณ์ของความเปราะบางอย่างยิ่ง … อีก 3 ปีต่อมา การปราบปรามทางการเมืองครั้งใหญ่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อันนำไปสู่การสร้าง “ระบอบเผด็จการฝ่ายขวาจัด” แต่กลับถูกโค่นล้มลงในปีถัดมา และนำไปสู่การกำเนิดของ “ระบอบพันทาง” (hybrid regime) เพื่อเป็นหนทางของการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ภายใต้การนำของผู้นำทหารยุคใหม่ ที่ไม่ได้เติบโตมากับระบอบอำนาจนิยมเดิม พร้อมกับการสร้าง “ภาพลักษณ์ใหม่” ของผู้นำทหาร และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้าง “ระบอบพันทาง” ที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน และมีเสถียรภาพ

ระบอบพันทางของผู้นำทหารในยุคหลังปี 2519 ก่อตัวขึ้นหลังรัฐประหาร 2520 และเห็นชัดเจนจากรัฐบาลในปี 2523 การดำรงอยู่ด้วยความเป็น “พันทาง” ทางการเมือง (hybrid politics) ได้กลายเป็นต้นแบบที่สำคัญ ทำให้ผู้นำทหารและปีกอนุรักษนิยมได้เรียนรู้ถึงการผสมผสานระหว่างส่วนที่เป็นประชาธิปไตยกับส่วนของอำนาจนิยมที่ตกค้างมาจากระบอบเดิมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในระบอบใหม่

แต่มิได้หมายความว่า ระบอบพันทางจะนำไปสู่การ “เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย” และทำให้ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานในสังคมไทยได้จริง เพราะสุดท้ายแล้ว รัฐประหารหวนคืนอีกครั้งในปี 2534 แต่ระบอบทหารชุดนี้มีอายุสั้น และพ่ายแพ้จากการลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้งในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2535 แม้ระบอบทหารจะพ่ายแพ้อีกครั้ง ซึ่งไม่แตกต่างจากปี 2516 แต่ก็มิได้เป็นหลักประกันว่า กองทัพถอยออกไปจากการเมืองไทย และรัฐประหารถึงจุดจบแล้ว … ชัยชนะของนักศึกษาประชาชนในปี 2516 และในปี 2535 ไม่ใช่หลักประกันว่า การเมืองไทยจะเดินทางสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้อย่าง “สะดวกสบาย” หรือปัญหาของระบอบเก่าที่ตกค้างอยู่จะสิ้นสุดลงตามไป

ความฝันที่สำคัญส่วนหนึ่งเป็นผลจากความ “คงทน” ของระบอบพันทางที่เผชิญกับการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ทั้งในปี 2524 และ 2528 แต่ระบอบนี้กลับไม่ได้ถูกโค่นลงด้วยการยึดอำนาจของกลุ่มนายทหารระดับกลาง การอยู่รอดเช่นนี้ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในเรื่องของเสถียรภาพทางการเมือง หรือเกิดทัศนะว่า ระบอบพันทางเป็นทางแก้ปัญหาความไร้เสถียรภาพ เพราะไม่จำเป็นต้องดำรงอยู่ด้วยความเป็นอำนาจนิยมเต็มรูป แต่ขณะเดียวกันก็ผลักดันปัจจัยความเป็นประชาธิปไตยบางส่วนด้วย

ดังนั้น แม้รัฐประหารจะกลับคืนมาอีกในต้นปี 2534 แต่การดำรงระบอบทหารไม่ใช่เรื่องง่าย จนในที่สุดได้เกิดการชุมนุมต่อต้านครั้งใหญ่ และนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ของทหารบนถนนอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2535 หรืออาจเรียกตามกระแสการเรียกร้องที่เกิดว่า “พฤษภาประชาธิปไตย”

ชัยชนะจากการลุกขึ้นสู้ทำให้บทบาททางการเมืองของกองทัพในยุคหลังปี 2535 ลดต่ำลง จนเกิดเป็นความหวังว่า กองทัพน่าจะถอยออกจากการเมืองไปแล้ว ความเชื่อดังกล่าวทำให้สังคมละเลยความสำคัญที่จะออกแบบการจัด “ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร” เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และเมื่อความขัดแย้งเริ่มก่อตัวอีกครั้งจากปี 2548 สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนคือ การเมืองไทยถอยกลับสู่การรัฐประหารอีกในปี 2549 และเกิดซ้ำอีกในปี 2557 … การยึดอำนาจทั้ง 2 ครั้งนี้เป็นสัญญาณว่า กระบวนการสร้างประชาธิปไตยไม่ได้แข็งแรงอย่างที่คิด และเป็นสัญญาณอีกด้วยว่า รัฐประหารนี้เป็นปัจจัยผลักดันการก่อตัวของ “สงครามการเมือง” อีกชุดในสังคมไทย

การต่อสู้ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในด้านหนึ่งถึงการ “รวมพลัง” ของปีกขวา ที่สนธิกำลัง 3 ประสาน” ด้วยการรวมอำนาจฝ่าย “จารีตนิยม + อนุรักษนิยม + เสนานิยม” เพื่อใช้ในการต่อสู้กับพลัง “เสรีนิยม” อันเป็นผลจากการขยายตัวของ “กระแสประชาธิปไตยสมัยใหม่” ในสังคมไทยตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความผันผวนของสงครามการเมืองชุดนี้ การต่อสู้ของ “คนเสื้อแดง” ในเดือนพฤษภาคม 2553 ที่แม้ไปผูกโยงกับนักการเมืองบางคนหรือบางกลุ่ม แต่อย่างน้อย “ขบวนคนเสื้อแดง” เป็นภาพสะท้อนถึง “การเมืองของชนชั้นล่างจากเมืองและชนบท” ที่มาพร้อมกับข้อเรียกร้องในการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับชาติ พร้อมกับชูธงประชาธิปไตยอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และเราอาจถือว่า “ขบวนคนเสื้อแดง” เป็นภาพสะท้อนอีกส่วนของกระแสประชาธิปไตยของช่วงยุคปัจจุบัน

พวกเขาถูกทำลายจาก “การล้อมปราบในเมือง” ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับการล้อมปราบขบวนนิสิตนักศึกษาในปี 2519 เพราะประสบกับการสูญเสียอย่างหนัก การใช้กำลังทหารในการปราบปรามการเรียกร้องทางการเมืองในปี 2519 และ 2553 กลายเป็น “รอยด่าง” ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็น “ภาพจำหลักด้านลบ” ของกองทัพ ที่ผู้คนซึ่งผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวจะยังคงความทรงจำดังกล่าวไว้อย่างไม่รู้เลือน 

ประชาธิปไตย vs รัฐประหาร

ฉะนั้น หากเปรียบเทียบว่า “การเปลี่ยนแปลง 2475” เป็นการขับเคลื่อนของปัญญาชนและชนชั้นกลางที่ตื่นตัว … เหตุการณ์ 14 ตุลา – 6 ตุลา” และ “พฤษภา 35” เป็นการต่อสู้ของขบวนประชาธิปไตยที่เป็นนิสิต นักศึกษา และชนชั้นกลาง … เหตุการณ์ “พฤษภา 53” คือ การต่อสู้ของขบวนประชาธิปไตยที่มีชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทเป็นองค์ประกอบสำคัญ และเป็นการต่อสู้ที่ประสบความสูญเสียอย่างหนัก

ทั้งหมดนี้คือ 5 เหตุการณ์ใหญ่ที่เป็น “เส้นเวลาประชาธิปไตย” ที่มีในแต่ละปี และเป็น 5 เหตุการณ์ที่มีนัยทางการเมืองทั้งต่อตัวบุคคล และต่อชีวิตสังคมไทย หรือในอีกด้านคือ เวลาเหล่านี้เป็นหมุดหมายของการจัดงานรำลึกทางการเมืองในแต่ละปี ซึ่งก็คือ 5 เหตุการณ์สำคัญของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ที่สามารถแปลงเป็น “นิทรรศการประชาธิปไตย” ได้เป็นอย่างดี

ในทางตรงข้าม ถ้าสมมติฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัดสายนิยมรัฐประหารอยากจะจัดงานเฉลิมฉลองการยึดอำนาจในไทยแล้ว พวกเขาอาจจะต้องทำงานอย่างหนัก เนื่องจาก “นิทรรศการการรัฐประหาร” ในสังคมการเมืองไทยจะต้องจัดอย่างต่อเนื่อง เพราะการยึดอำนาจเกิดขึ้นหลายครั้ง จนไม่สามารถจะจำได้หมด และถ้าพิจารณาเฉพาะในส่วนของ “การเมืองเอเชีย” แล้ว รัฐประหารไทยในเชิงปริมาณน่าจะต้องจัดอยู่ในลำดับนำ … กองทัพไทยกลายเป็น “หัวแถว” ของนักรัฐประหารทั้งในเอเชียและในโลก จนนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการยึดอำนาจนำประเด็นนี้ไปเปรียบเทียบกับการยึดอำนาจของกองทัพแอฟริกา

หากเราลองนับจำนวนรวมของการรัฐประหารไทยแล้ว เราอาจจะตกใจที่พบว่า สังคมการเมืองไทยมี “รัฐประหารที่สำเร็จ” เป็นจำนวนมากถึง 13 ครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ อีกทั้งยังมีรัฐประหารที่ล้มเหลว ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “กบฏ” อีกราว 10 ครั้ง ดังที่กล่าวแล้วว่า ภาวะเช่นนี้ทำให้รัฐประหารกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองไทยไปแล้ว คือ เป็น “ซิกเนเจอร์” ในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สิ่งเหล่านี้เป็นคำเตือนว่า 91 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว สังคมการเมืองไทยยังเสมือนเราเดินวนเวียนอยู่ใน “เขาวงกตแห่งการรัฐประหาร” และยังหาทางออกไม่ได้ ซึ่งหากนับรวมรัฐประหารสำเร็จและล้มเหลวทั้งหมดแล้ว ไทยจะมีรัฐประหาร 23 ครั้งในช่วง 91 ปี หรือเกิดรัฐประหาร 1 ครั้งทุก 3.9 ปี … ส่วนรัฐประหารที่สำเร็จ 13 ครั้งในรอบ 91 ปี หรือมีรัฐประหารสำเร็จ 1 ครั้งในทุก 7 ปี

ในอีกด้านของช่วงเวลา 91 ปี กองทัพก็พ่ายแพ้การลุกขึ้นสู้ของประชาชนถึง 2 ครั้ง ซึ่งเราอาจจะเรียกด้วยภาษาทางรัฐศาสตร์ว่าเกิด “กรุงเทพสปริง” (Bangkok Spring) ในปี 2516 และ 2535 แม้จะต้องยอมรับว่า ฤดูใบไม้ผลิทางการเมืองที่กรุงเทพไม่ยั่งยืน หรือชัยชนะจากการลุกขึ้นของประชาชนคิดเป็นอัตราเฉลี่ย 1 ครั้งทุก 45 ปี … แม้จะเป็นอัตราเฉลี่ยที่ชวนหดหู่ใจ แต่ก็มีวันเวลาที่ประชาชนชนะ ไม่ใช่มีแต่ทหารเท่านั้นที่ชนะด้วยรัฐประหาร

ฤดูใบไม้ผลิทางการเมือง (Political Spring) ครั้งแรกในปี 2516 มีอายุเพียง 3 ปี และตามมาด้วยการปราบปรามทางการเมืองครั้งใหญ่ในปี 2519 แต่ก็ตามมาด้วยการขยายตัวของสงครามคอมมิวนิสต์ในไทย จนสุดท้าย สงครามกลายเป็น “ ปัจจัยบังคับด้านกลับ” ให้ชนชั้นนำ ผู้นำทหารสายเหยี่ยว และกลุ่มการเมืองปีกขวาจัดต้องยอมรับการเมืองแบบประชาธิปไตย และไม่ตั้งตนเป็น “ศัตรูประชาธิปไตย” อย่างโจ่งแจ้ง

ความสูญเสียในปี 2519 จึงไม่ใช่  “ความสูญเปล่าทางการเมือง” แต่อย่างใด เพราะสุดท้ายแล้ว ผลที่เกิดขึ้นกลับนำไปสู่การปรับตัวทางการเมืองชุดใหญ่ คือ เกิดความพยายามที่จะปรับยุทธศาสตร์การเมือง-การทหาร เพื่อยุติสงครามคอมมิวนิสต์ภายใน และยอมรับอย่างมีนัยสำคัญว่า ประชาธิปไตยไม่ได้เป็น “ภัยคุกคาม” ต่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำ และฝ่ายอนุรักษนิยมเช่นในอดีต และที่สำคัญพวกเขายอมรับว่า รัฐประหารมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการอยู่กับระบอบประชาธิปไตย

ฤดูใบไม้ผลิครั้งที่ 2 ทำท่าจะยืนยาว เพราะได้กระแสโลกาภิวัตน์จากภายนอกเข้ามาเป็นปัจจัยสนับสนุน หรือเป็นช่วงเวลาที่กระแส “ประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สาม” (Third Wave Democracy) พัดไปทุกมุมโลก รวมทั้งพัดเข้าสู่สังคมไทยด้วย ความฝันใหญ่หลังการมาของฤดูใบไม้ผลิในปี 2535 คือ รัฐประหาร 2534 น่าจะเป็น “รัฐประหารไทยครั้งสุดท้าย”

แต่แล้วกระแสลมประชาธิปไตยพัดอยู่เพียง 14 ปี ลมรัฐประหารก็พัดหวนกลับมาสู่การเมืองไทยอีกครั้งในปี 2549 และยังมาซ้ำอีกครั้งในปี 2557 … ไม่น่าเชื่อว่า เรามีรัฐประหารถึง 2 ครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี และในช่วงเวลาของสองรัฐประหารนี้ มีการปราบปรามใหญ่ทางการเมืองเกิดขึ้นอีกครั้งที่กรุงเทพในปี 2553 ซึ่งเป็นความรุนแรงชุดใหญ่ที่มีผลสืบเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน และทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยมีคนเป็นสัญลักษณ์ 2 ชุด คือ “คนเดือนตุลา” และ “คนเสื้อแดง”

วันนี้-วันหน้า

 นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามแล้ว ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ใหญ่ของการเมืองไทยคือ ชัยชนะของการลุกขึ้นสู้ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 … ปีนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเดินทางมาเป็นระยะเวลา 50 ปีแล้ว ฉะนั้น ถ้า 14 ตุลาฯ จะเป็นเครื่องเตือนใจอะไรได้บ้างแล้ว เราคงต้องตระหนักเสมอว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทยนั้น ยังมีความเปราะบางดำรงอยู่อย่างมาก แม้การเมืองชุดปัจจุบันจะไม่ได้ถูกแวดล้อมด้วยสถานการณ์สงครามและความล่อแหลมทางการเมือง (เช่นที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2516-2529) แต่ปัญหาภายในระบบการเมืองปัจจุบันก็พร้อมจะเป็น “ระเบิดเวลา” ได้หลายเรื่อง กระนั้น เรายังคงคาดหวังเสมอว่า แม้จะมีปัญหาดำรงอยู่ภายในโครงสร้างทางการเมืองที่พร้อมจะเป็น “ตัวชนวน” จุดระเบิดทางการเมืองได้ทุกเวลานั้น แต่ภาวะเช่นนี้จะต้องไม่ถูกทำให้จบลงด้วยการยึดอำนาจเช่นในอดีตที่ผ่านมา

อย่างน้อยการเมืองไทยที่ผ่านการเลือกตั้งล่าสุดถึง 2 ครั้งในปี 2562 และ 2566 อาจจะเป็นความหวังเล็กๆ ถ้าการเมืองไทยเดินหน้าไปได้ โดยไม่ถูกสะดุดด้วยการยึดอำนาจแล้ว ก็จะเป็นโอกาสที่ทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยมีเสถียรภาพมากขึ้น และทำให้ระบอบพันทางที่เกิดขึ้นและพัฒนาหลังการเลือกตั้ง 2562 และถูกลดความเข้มแข็งลงหลังจากการเลือกตั้ง 2566 นั้น จะคลายความเป็นพันทางลง และขยับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวคือ จะเป็นโอกาสสำคัญของการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และแม้จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่ปัญหานี้จะไม่ถูกตัดสินด้วย “รถถัง” แต่จะถูกชี้ขาดด้วย “รถหาเสียง” โดยอาศัยกระบวนการการเลือกตั้งที่ “เสรีและเป็นธรรม” (free and fair election) เป็นเครื่องมือในการตัดสินการได้มาของอำนาจรัฐ

บทส่งท้าย

อย่างไรก็ตาม ในวันเวลาที่เรื่องราวของ 14 ตุลา เดินทางมาเป็นระยะเวลา 50 ปี ทำให้ต้องคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยด้วยความพินิจพิเคราะห์มากขึ้น เพราะไม่เคยมีสูตรสำเร็จที่จะเป็น “กุญแจ” ที่จะใช้ไขประตูไปสู่ความเป็นสังคมการเมืองประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้อย่างง่ายๆ … แน่นอนว่า กระบวนการสร้างประชาธิปไตยไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฉีกออกจากซอง ใส่น้ำร้อนแล้ว รับประทานได้เลย หรืออาจกล่าวเล่นๆ ได้ว่า กระบวนการสร้างประชาธิปไตยไม่ใช่ instant product” ที่ได้มาอย่างง่ายๆ อุปมาเสมือนเป็น instant noodle” ฉันใด ฉันนั้น

ดังนั้น 50 ปี 14 ตุลาฯ ปีนี้ เราจึงไม่เพียงแต่รำลึกถึงการต่อสู้และผู้เสียชีวิตในครั้งนั้น หากยังจะต้องช่วยผลักดันให้ “กงล้อประชาธิปไตย” หมุนไปข้างหน้า ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่ง ไทยจะประสบความสำเร็จของการสร้างประชาธิปไตยเช่นที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ และเป็น “ระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง” … แม้ “กระแสรัฐประหาร” จะถูกขับเคลื่อนมากขึ้นในทวีปแอฟริกาในปัจจุบันก็ตาม แต่เราก็หวังว่า การเมืองไทยจะไม่เดินย้อนรอยกลับไปบนเส้นทางนั้นอีกในอนาคต!

ฉะนั้น ในวาระครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาฯ ถ้าอยากจะขออะไรบ้าง ก็คงขอ “เวลาและโอกาส” … ขอ “โอกาส” ให้ประชาธิปไตยได้พัฒนา และขอ “เวลา” ให้ประชาธิปไตยได้ฟูมฟักบ้าง …

แม้ระบอบประชาธิปไตยจะไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของทุกฝ่าย และในทุกเรื่องได้นั้น แต่อย่างน้อยระบอบนี้ให้หลักประกันว่า เราจะได้เลือกคนที่จะมาเป็นรัฐบาลเองในทุกวงรอบของการเลือกตั้ง และในทุกการเลือกตั้ง เราจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์พวกเขาได้ในทุกเรื่อง และในทุกมิติ เพราะในระบอบอำนาจนิยมที่แปลงกายมาจากยุคสังคมนิยมนั้น เพียงแค่คิดก็ถูกจับแล้ว!

ประชาธิปไตยจงเจริญ!

เจตนารมณ์ 14 ตุลาฯ จงเจริญ!

“พลังทางความคิดของมนุษย์ได้สร้างความก้าวหน้าให้แก่มนุษยชาติในทุกยุคสมัย ดังนั้นคนที่มีความคิดจะต้องต่อต้านระบอบอำนาจนิยมทุกรูปแบบ เพราะว่าระบอบนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความกลัวที่มีต่อความคิดที่ไม่เหมาะสมกับผู้มีอำนาจในเวลานั้นๆ

นักเขียนที่แท้จริง จะต้องต่อต้านระบอบอำนาจนิยม เพราะระบอบนี้เชื่อเรื่องการเซ็นเซอร์

นักประวัติศาสตร์ที่แท้จริง จะต้องต่อต้านระบอบอำนาจนิยม เพราะเขาสามารถเห็นได้ว่าระบอบนี้นำไปสู่การกระทำที่โง่เขลาอย่างซ้ำซาก …”

B. H. Liddell Hart
นักยุทธศาสตร์ทหารชาวอังกฤษ

ผู้เขียน : ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อดีตอาจารย์ประจำภาควิชา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แม้จะเกษียณราชการแล้ว แต่ยังคงเป็นอาจารย์พิเศษ และวิทยากรรับเชิญ นอกจากเป็นนักวิชาการแล้ว ยังเป็นคอลัมนิสต์ประจำ หนังสือพิมพ์ชื่อดัง และยังเขียนให้โลกวันนี้อีกด้วย เป็นหนึ่งในคนเดือนตุลา สมัยเป็นผู้นำนิสิตจุฬาฯ เคยถูกจองจำ ที่เรือนจำกลางบางขวาง จากการต่อสู้ จากความคิดทางการเมือง ในกรณี 6 ตุลาคม 2519 และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญ ด้านวิชาการยุทธศาสตร์ ทางการทหารและกองทัพ ผู้คลุกคลีอยู่กับข้อเสนอ ในการสร้าง “ทหารอาชีพ” มายาวนานหลายทศวรรษ แต่ถึงวันนี้.. ทหารก็ยังไม่เคย เป็นทหารอาชีพ ได้จริงสักที!!?


You must be logged in to post a comment Login