- ปัญหายาเสพติดวาระแห่งชาติPosted 23 hours ago
- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 2 days ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 3 days ago
- อย่าไปอินPosted 6 days ago
- ปีดับคนดังPosted 7 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 week ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 1 week ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 1 week ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 2 weeks ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 2 weeks ago
รู้จัก “เฮสเพอริดิน” ในผลส้ม ช่วยลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
“ส้ม” เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย เนื่องด้วยรสชาติที่อร่อย อมเปรี้ยวและหวานตามธรรมชาติ ส้มเป็นผลไม้ในตระกูลซิตรัส (Citrus Fruit) ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 โฟเลต โพแทสเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ฯลฯ รวมทั้งมีใยอาหารที่ช่วยส่งเสริมระบบขับถ่ายอีกด้วย1 นอกจากนี้ผลส้มยังมีสารพฤกษเคมีที่น่าสนใจก็คือ เฮสเพอริดีน (Hesperidin) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิตและลดการเกิดโรคอ้วน จึงช่วยลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้2
สาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หลักๆ เกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม ที่มากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ทั้งการสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย การนอนดึก มีความเครียดสูง เป็นต้น ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า การเสียชีวิตและการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของประชากรโลก และปัจจัยที่มีผลมากที่สุดก็คือ เรื่องของการบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณภาพนั่นเอง เช่น การบริโภคโซเดียม ไขมันรวม และน้ำตาลในปริมาณสูง การบริโภคผักและผลไม้ที่น้อยเกินไป จึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินได้3 ซึ่งโรคอ้วนเป็นภาวะที่ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไป ทำให้มีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป โดยเฉพาะในช่องท้อง ซึ่งนำไปสู่ภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) และทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ที่เหนี่ยวนำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง ได้
การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สามารถเริ่มจากตัวเราด้วยการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ หลากหลายและเพียงพอ เน้นการรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะผลไม้เป็นแหล่งของสารเฮสเพอริดิน ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดการอักเสบ จึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังช่วยชะลอการปลดปล่อยกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ รวมถึงสามารถช่วยกระตุ้นการหลั่งของคอเลสซิสโตไคนิน (CCK) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกอิ่ม ทำให้ร่างกายอยากอาหารน้อยลง1 จึงจัดว่าส้มเป็นผลไม้ที่ช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัย พบว่า เฮสเพอริดีนช่วยลดการแพร่กระจายของไวรัส (โปรตีน SARS-COV-2) โดยมีศักยภาพในการปิดกั้นการจับกับโปรตีนในเซลล์ของกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง และยับยั้งการจำลองแบบของไวรัส (Mpro) ในไวรัสโคโรนา (COVID-19)1 รวมถึงช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย4 เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดี เชื้อโรคและไวรัสต่างๆ ก็มีโอกาสจู่โจมร่างกายเราได้น้อยลง
ดังนั้นส้มจึงเป็นผลไม้ยอดฮิตของคนรักสุขภาพ อย่างไรก็ตามการรับประทานส้ม ควรรับประทานในปริมาณที่พอดี โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน สามารถรับประทานได้ แต่ต้องควบคุมปริมาณ เพราะหากรับประทานมากเกินไป ร่างกายอาจได้รับน้ำตาลมากเกินไปด้วย ส่วนใหญ่นิยมรับประทานส้มแบบสดๆ หรือนำมาทำเป็นเครื่องดื่มให้ความสดชื่นกับร่างกาย ซึ่งปัจจุบันน้ำส้มพร้อมดื่มก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับกลุ่มคนรักและใส่ใจสุขภาพที่ต้องการความสะดวก รวดเร็วในการบริโภค เพื่อช่วยเติมเต็มความต้องการวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่ร่างกายต้องการ รวมทั้งได้รับสารเฮสเพอริดีน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ และส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี
บทความโดย ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ประธานชมรมโภชนวิทยามหิดล อาจารย์ประจำวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ
Reference
- Richa, R., Kohli, D., Vishwakarma, D., Mishra, A., Kabdal, B., Kothakota, A., Richa, S., Sirohi, R., Kumar, R. and Nai, B. (2023) Citrus fruit: Classification, value addition, nutritional and medicinal values and relation with pandemic and hidden hunger. Journal of Agriculture and Food Research. 14, 1-13.
- Xiong, H., Wang, J., Ran, Q., Lou, G., Peng, C., Gan, Q., Hu, J., Sun, J., Yao, R. and Huang, Q. (2019). Hesperidin: A Therapeutic Agent for Obesity. Drug Design Development and Therapy. 13, 3855-3866.
- Tadros, F.J. and Andrade, J.M. (2022). Impact of hesperidin in 100% orange juice on chronic disease biomarkers: A narrative systematic review and gap analysis. CRITICAL REVIEWS IN FOOD SCIENCE AND NUTRITION. 30, 8335–8354.
- 4. Pyrzynska, K. (2022). Hesperidin: A Review on Extraction Methods, Stability and Biological Activities. Nutrients. 14, 1-11.
You must be logged in to post a comment Login